วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รายงานการศึกษา เรื่อง สิทธิมนุษยชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีศึกษาการเกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำยมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา

รายงานการศึกษา เรื่อง สิทธิมนุษยชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีศึกษาการเกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำยมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา จัดทำโดย คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา บทสรุปผู้บริหาร รายงานนี้เป็นสรุปผลการศึกษาสิทธิชุมชนกับผู้ประสบภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำเจ้าพระยา แต่ในสถานการณ์อุทกภัยในปี ๒๕๕๔ นี้ ในที่สุดอุทกภัยได้ส่งผลกระทบลงมาถึง ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจนถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีทั้งเขตอุตสาหกรรม เขตเศรษฐกิจ และชุมชนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ประสบภัยเป็นจำนวนมาก ข่าวน้ำท่วมกรุงเทพมหานครเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เพราะเป็นศูนย์กลางของอำนาจและเศรษฐกิจ และน้ำท่วมคราวนี้ก็เป็นน้ำที่ท่วมขังเป็นแรมเดือน บางแห่งระดับน้ำก็ยังไม่ลดลง ซึ่งมีสาเหตุจากการบริหารจัดการน้ำที่ไม่สมบูรณ์ของหน่วยงานภาครัฐและยังต้องพัฒนา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นภัยจากน้ำมือมนุษย์ ดังนั้น ข้อมูลของผู้ประสบภัยในลุ่มน้ำยมจึงเป็นข้อมูลเปรียบเทียบที่เป็นประโยชน์ต่อคนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ประสบภัยพิบัติกันอย่างทั่วหน้าในคราวนี้ เนื่องจากทำให้ผู้ประสบภัยในกรุงเทพมหานครเข้าใจถึงความทุกข์ยากของประชาชนในต่างจังหวัดที่ประสบกับภัยน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี และขณะนี้ในพื้นที่ภาคใต้ก็เจอกับอุทกภัยอีก แต่จังหวัดต่างๆ ในภูมิภาคที่น้ำท่วมแต่ละครั้งความเสียหายรุนแรงมาก เพราะปราศจากการดูแล ไม่มีคลองระบายน้ำเหมือนกรุงเทพมหานคร ไม่มีการขุดคลองและ ไม่มีสิ่งก่อสร้างคันกั้นน้ำ เรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาก็ไม่ได้รับอย่างทั่วถึงหากพื้นที่ใดไม่เป็นข่าวก็จะถูกละเลยในการช่วยเหลือ สิทธิพื้นฐานของผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ที่รัฐต้องให้การคุ้มครองและช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ สิทธิมนุษยชนจึงเป็นฐานในการทำงานด้านมนุษยธรรมในสถานการณ์ภัยพิบัติ จึงไม่อาจละเลยต่อสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศฉบับต่างๆ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องปฏิบัติ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนที่รัฐพึงต้องไม่เลือกปฏิบัติให้แก่ปัจเจกชน ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินการตั้งแต่ในด้านให้ความรู้แก่ประชาชน การลดผลกระทบจากภัยพิบัติ การตระเตรียมการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือเยียวยาเมื่อเกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้ ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เช่นใดประชาชนก็ไม่ได้อยู่ภายใต้สถานการณ์สูญญากาศทางกฎหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการภัยพิบัติ ต้องดูแลให้สิทธิเหล่านี้กับประชาชน รัฐจะต้องดูแลและให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและเท่าเทียมกันตามพันธกรณี กฎหมายของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่กำหนดแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่ในด้านการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนยังขาดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน มิได้มีการกำหนดถึงสิทธิของประชาชนที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ เป็นเพียงหน้าที่ของรัฐที่จะหยิบยื่นให้ตามแต่นโยบายของรัฐที่กำหนดในแต่ละคราวที่เกิดภัยพิบัติ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจึงไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง ต้องรอคอยการพิจารณาจากภาครัฐ ซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้าขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน จึงต้องมีการปรับปรุงโดยการออกเป็นกฎกระทรวง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือหรือการขอรับความช่วยเหลือเมื่อประสบภัยพิบัติธรรมชาติ โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้เป็นไปตามสิทธิพื้นฐานตามสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และเป็นธรรม ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าใจถึงช่องทางที่จะขอรับความช่วยเหลือ หลักเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนสิทธิต่างๆ ตามหลักขั้นพื้นฐานสิทธิมนุษยชนที่รัฐพึงปฏิบัติต่อผู้ประสบภัยพิบัติ กฎหมายป้องกันบรรเทาสาธารณภัยมุ่งเน้นในการบริหารจัดการในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติ และการให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น หากแต่ขาดในด้านของการส่งเสริมองค์ความรู้แก่ประชาชน การฝึกอบรมประชาชนในพื้นเสี่ยงภัย การบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ย่อมเป็นการลดความสูญเสียเมื่อเกิดภัยพิบัติ และลดค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือและเยียวยาให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติ การเพิ่มมาตรการในด้านลดผลกระทบ การสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและตระหนักถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นต้น รายชื่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ๑.นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการ ๒.พลอากาศเอกวีรวิท คงศักดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง ๓.นายมณเฑียร บุญตัน รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง และโฆษกคณะกรรมาธิการ ๔.นายตวง อันทะไชย รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สาม ๕.นายธานี อ่อนละเอียด โฆษกคณะกรรมาธิการ ๖.ศาสตราจารย์วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ด้านสิทธิมนุษยชน ๗.นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ๘.นายสัก กอแสงเรือง ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ด้านสิทธิและเสรีภาพ ๙.พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม กรรมาธิการ ๑๐.รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ กรรมาธิการ ๑๑.นายวันชัย สอนศิริ เลขานุการคณะกรรมาธิการ รายชื่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษา ติดตาม ตรวจสอบและส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ๑.ศาสตราจารย์วิรัติ พาณิชย์พงษ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ ๒.รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการ ๓.นายนิวัติ แก้วล้วน อนุกรรมาธิการ ๔.นายอนุศักดิ์ คงมาลัย อนุกรรมาธิการ ๕.นายเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ อนุกรรมาธิการ ๖.นายชลิต แก้วจินดา อนุกรรมาธิการ ๗.พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง อนุกรรมาธิการ ๘.นายเสงี่ยม บุญจันทร์ อนุกรรมาธิการ ๙.นายแพทย์บุญมี วิบูลย์จักร อนุกรรมาธิการ ๑๐.นายอภิรัฐ ทัศนา เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ ๑๑.นายตวง อันทะไชย ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ ๑๒.นายสัก กอแสงเรือง ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ ๑๓.นายมหรณพ เดชวิทักษ์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ ๑๔.นายวรินทร์ เทียมจรัส ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ ๑๕.นายวิชิต พัฒนโกศัย ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ ๑๖.นายยุทธ ลิมป์ศิระ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ รายงานการศึกษา “สิทธิมนุษยชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ : กรณีศึกษาการเกิดอุทกภัยในลุ่มน้ำยมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา” คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา บทนำ ในสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติธรรมชาติ รัฐพึงต้องให้การเคารพ การคุ้มครองและการเติมเต็มสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และวิถีการดำรงชีวิตที่สร้างความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชนและประเทศ ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นำไปสู่การให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบได้รับการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและทันท่วงที รัฐจึงต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นมาตรฐานสากลขั้นต่ำทางกฎหมายในการทำงานด้านช่วยเหลือในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิของประชาชนที่รับรองไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในสภาวะฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติ แม้ว่ารัฐจะสามารถจำกัดสิทธิมนุษยชนบางประการได้ ภายใต้บทบัญญัติที่เป็นข้อยกเว้นเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หากแต่ไม่อาจพรากสิทธิมนุษยชนพื้นฐานสำคัญที่พึงต้องได้รับการคุ้มครอง ดังนั้น รัฐจึงต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่จะได้รับความช่วยเหลือให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว พื้นที่ประสบภัยได้รับการบูรณะฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพเดิมอย่างรวดเร็ว เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของผู้ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และมิให้มุ่งเน้นไปกับกระบวนการวางแผนจนละเลยต่อสิทธิของผู้ประสบภัย เพราะไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นใดประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอันเป็นหน้าที่หลักประการหนึ่งของรัฐ ดังนั้น สิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนในการเรียกร้องแก่รัฐในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ ตามตราสารกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีที่เกี่ยวข้องอันเป็นมาตรฐานสากลที่ได้กำหนดถึงสิทธิของปัจเจกชนเอาไว้ บทที่ ๑ สิทธิพื้นฐานของผู้ประสบภัยพิบัติ* สิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติยังต้องเผชิญความท้าทายที่หลากหลายรวมไปถึงความไม่เท่าเทียมในการรับความช่วยเหลือ การเลือกปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือ การถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน การละเมิดสิทธิทางเพศ การสูญหายของเอกสาร ความไม่ปลอดภัยหรือไม่สมัครใจ ในการกลับสู่ถิ่นฐานเดิมหรือการตั้งถิ่นฐานใหม่ ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ประชาชนที่ประสบภัยมักจะถูกบังคับให้ย้ายจากบ้านเรือนของตน หรือออกจากพื้นที่เนื่องมาจากที่อยู่อาศัยได้ถูกทำลายหมด สิทธิมนุษยชนจึงเป็นฐานทางกฎหมายให้กับการทำงานทางด้านมนุษยธรรมกับสิ่งแวดล้อม ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ การให้ความช่วยเหลือทางผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ หากไม่ได้อยู่ภายใต้สิทธิมนุษยชน อาจส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมนั้นไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของผู้ประสบภัย และอาจหลงไปกับกระบวนการวางแผนที่อาจละเลยต่อสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติย่อมเป็นการขาดความรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิต่างๆ ภายใต้กฎหมายภายใน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ค.ศ.๑๙๖๖ (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights ๑๙๖๖)ได้ระบุให้รัฐภาคีจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้มากที่สุด (the Maximum of Its available Resources) มีความหมายรวมถึงทรัพยากรจากสังคมระหว่างประเทศผ่านทางการให้ความร่วมมือและช่วยเหลือระหว่างประเทศด้วย ส่งผลให้การประกันสิทธิ์ของปัจเจกชน โดยรัฐภาคีในการดูแลรักษาสุขภาพที่อยู่อาศัยก็ย่อมจะต้องยึดถือตามมาตรฐานขั้นต่ำ ซึ่งการที่ละเมิดสิทธิของปัจเจกชนตามสิทธิที่พวกเขาพึงได้รับเท่ากับรัฐได้ละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศเช่นกัน เว้นเสียแต่ว่า รัฐนั้นได้แสดงให้เห็นแล้วว่าตนเองได้พยายามกระทำทุกวิถีทางแล้ว รวมไปถึงการรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศในการปฏิบัติตามพันธกรณี สำหรับแนวความคิดทางด้านกฎหมายในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนั้น ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิและหน้าที่ตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ กำหนดโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของภาครัฐในการดำเนินการเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งสะท้อนถึงมิติของหน้าที่ของภาครัฐในการดำเนินการ แต่ส่วนสำคัญที่ขาดหายไปได้แก่ แนวความคิดและบทบัญญัติในการรับรองและประกันสิทธิของประชาชนที่อาจได้รับหรือได้รับความเสียหายจากสาธารณภัย ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่ง เพราะวัตถุประสงค์หลักของการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยคือความมั่นคงและปลอดภัยของประชาชน กฎหมายในเรื่องนี้จึงต้องสะท้อนให้เห็นถึงบริบทต่างๆ ของสิทธิของประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดโครงสร้างและมาตรการในเรื่องอำนาจหน้าที่ของภาครัฐให้นำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิ ดังนั้น สิทธิพื้นฐานของปัจเจกชนที่ได้รับการคุ้มครองและสามารถเรียกร้องจากรัฐในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ มีดังนี้ ๑)สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ Right to Life)ความต้องการของบุคคลที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปลอดภัย ถือได้ว่าเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานในสังคมปัจจุบัน เป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตที่ต้องการความอยู่รอด สิ่งมีชีวิตทั้งหลายจึงเพียรพยายามดิ้นรนต่อสู้ให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดได้ ถือได้ว่าสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่เป็นสิทธิพื้นฐานขั้นต่ำที่สุดที่ประชาชนพึงจะต้องได้รับจากรัฐเมื่อคำนึงถึงความอยู่รอดของมนุษยชาติ ฐานของสิทธิ์นี้เป็นหลักกฎหมายจารีตประเพณีผูกพันรัฐที่ต้องให้ประชาชนในรัฐดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุข (Well-Being) รัฐจึงมีพันธกรณีในการที่จะต้องดำเนินการทุกวิธีทางภายในของอำนาจของตนที่จะปกป้องชีวิตของประชาชนจากภัยอันตรายทั้งปวง รวมทั้งการดำรงรักษาความปลอดภัยและความเป็นอยู่อย่างปกติสุขของประชาชนภายในดินแดน ๒) สิทธิด้านอาหาร (Right to Food) ถ้าปัจเจกชนนั้นไม่มีความสามารถในการหาอาหารให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต รัฐจึงต้องคุ้มครองสิทธิดังกล่าวของปัจเจกชนด้วยการสนับสนุนช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประชาชน ถ้าปราศจากอาหารแล้วคงไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ รัฐมีพันธกรณีหลักในการใช้มาตรการที่จำเป็นในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ขาดอาหาร แม้แต่กระทั่งในยามภัยพิบัติธรรมชาติ รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ทุกคนที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจรัฐสามารถเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ การที่รัฐนั้นไม่สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของตนได้ จะต้องมีภาระในการพิสูจน์ว่ารัฐเอง ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ การที่นำอาหารผิดประเภทไปให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ จึงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แล้วยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจ ถึงประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย และอาจส่งผลให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเกิดความรู้สึกว่าเป็นการไม่เคารพต่อวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างออกไปอีกด้วย ๓) สิทธิด้านน้ำ (Right to Water) เป็นสิทธิที่มาควบคู่กับสิทธิด้านอาหาร และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ประชาชนที่ประสบภัยควรจะเข้าถึงน้ำ ๒ ประเภท คือ น้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค และน้ำเพื่อใช้ในการบริโภค ปัจเจกชนจึงต้องสามารถจะเข้าถึงน้ำได้ทั้งทางด้านกายภาพ ทางการเงิน รวมทั้งความปลอดภัยส่วนบุคคลโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงน้ำเหล่านั้น ๔) สิทธิการกลับสู่ถิ่นฐานเดิม (Right to Return) เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องตระหนักว่า ผู้ที่พลัดถิ่นโดยสาเหตุจากภัยพิบัติธรรมชาติเหล่านี้ ผู้พลัดถิ่นภายในดินแดน (Internally Displaced Persons: IDPs) หากแต่ผู้พลัดถิ่นภายนอกดินแดน (Externally Displaced Persons) ด้วยสาเหตุจากภัยพิบัติธรรมชาติ กลับไม่มีสถานภาพตามกฎหมายระหว่างประเทศ การคุ้มครองผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติให้กลับคืนสู่ถิ่นฐานเดิมของตน จึงต้องป้องกันมิให้ภัยพิบัติธรรมชาติพรากประชาชนออกจากถิ่นที่อยู่ของตน ๕) สิทธิการมีที่อยู่อาศัย (Right to Housing)ทุกคนต้องมีสิทธิการมีที่อยู่อาศัย เพื่อเข้าครอบครองกรรมสิทธิ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายและอาศัยเป็นฐานในการเรียกร้องสิทธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ซึ่งสิทธิของทุกคนในการเข้าถึงและมีบ้านกับชุมชนที่ปลอดภัยและมั่นคงในการอยู่อาศัยอย่างสงบและสันติ การมีที่อยู่อาศัยหลังจากเกิดเหตุภัยพิบัติธรรมชาติ จึงแบ่งออกได้เป็น ๓ รูปแบบ คือ ที่พักฉุกเฉิน ที่พักชั่วคราวและถาวร ยังมีในส่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ปราศจากกรรมสิทธิ์ในที่ดินและไม่มีที่อยู่อื่น เพราะเดิมก่อนเกิดภัยพิบัติก็เป็นแต่เพียงผู้เช่าหรือผู้อยู่อาศัยเท่านั้น อีกทั้งยังมีกลุ่มของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่พื้นที่เดิมของตนถูกทำลายไป หรือกลายเป็นพื้นที่อันตราย จึงทำให้หนทางสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ต้องให้รัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือจัดหาที่อยู่ใหม่ที่เหมาะสมให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ หรือแม้แต่การรับความช่วยเหลือจากองค์การพัฒนาภาคเอกชนในการจัดสร้างบ้านพักอาศัยที่ถาวรให้ ๖) สิทธิด้านเครื่องนุ่มห่ม (Right to Clothing) การมีเครื่องนุ่งห่มถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐานประการสำคัญที่มักจะถูกลืม ทั้งที่เป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอย่างปกติในสังคม ประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจึงควรที่จะได้รับเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่เป็น การเลือกเครื่องนุ่งห่มตามอำเภอใจ แต่ผู้บริจาคต้องให้ความเคารพในสิทธิส่วนบุคคลของผู้รับบริจาคด้วยเช่นกัน การที่ผู้ประสบภัยจะได้รับการคุ้มครองและปกป้องในสิทธิ์นี้ ผู้ให้ความช่วยเหลือจึงควรที่จะทำความเข้าใจกับทั้งการดำรงชีวิตของผู้รับความช่วยเหลือและสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จึงจะทำให้เครื่องนุ่งห่มนั้นตรงกับความต้องการ มีการแสดงข้อคิดเห็นของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในการตีความมาตรา ๑๑ ถึงสิทธิของผู้พิการว่าจะต้องมีเสื้อผ้าที่ให้ผู้พิการสวมใส่แล้วสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพในสังคม และตามมาตรา ๒๘ ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้บกพร่องในความสามารถ ค.ศ. ๒๐๐๖ (Convention on the Rights of Person with Disabilities ๒๐๐๖)อีกทั้งเสื้อผ้าที่รัฐจัดให้จะต้องเคารพต่อวัฒนธรรมของผู้นั้นด้วย เพราะผู้ประสบภัยอาจจะเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมก็ได้ ๗) สิทธิด้านสุขภาพ (Right to Health) เนื่องมาจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติมีทั้งกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ บาดเจ็บทางกายซึ่งเป็นผลมาจากภัยพิบัตินั้น และได้รับผลกระทบทางอ้อม คือบาดเจ็บทางด้านจิตใจซึ่งเป็นผลมาจากความสูญเสียบุคคลใกล้ชิดจนถึงทรัพย์สิน จึงทำให้ฐานของสิทธิทางกฎหมายของปัจเจกชนเกี่ยวกับสิทธิด้านสุขภาพประกอบไปด้วยสุขภาพทางกายและทางใจ (Physical and Mental Health) ปรากฏตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งกำหนดให้รัฐภาคี ต้องป้องกัน ปฏิบัติ และควบคุมต่อโรคระบาดในสถานการณ์ภัยพิบัติ และสร้างให้มีการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในยามเจ็บป่วย รัฐต้องตอบสนองถึงสิทธินี้ เพื่อมิให้เป็นการละเว้น จนทำให้ภัยพิบัติธรรมชาติที่เผชิญกลับกลายเป็นภัยพิบัติโดยน้ำมือมนุษย์ อีกทั้ง ฐานของสิทธินี้ยังเทียบเคียงได้กับสิทธิในการมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่เหมาะสมอีกด้วย ๘) สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร (Right to Access Information) ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากลว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญประการหนึ่งของพลเมือง สิทธิในข้อมูลข่าวสารนี้ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา ๕๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ด้วยเช่นกัน ในบริบทที่เกี่ยวกับภัยสาธารณะ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลมีทุกระดับและครอบคลุมถึงสิทธิของพลเมืองต่อภัยพิบัติ และความเสี่ยงที่อาจได้รับหรือจะได้รับจากภัยพิบัตินั้น ดังนั้น เป็นสิทธิของพลเมืองทุกคนที่จะได้รับรู้ถึงความเสี่ยงภัยในทุกลักษณะ ตลอดจนสามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานที่เกี่ยวกับวิธีการที่จะช่วยเหลือตนเองจากภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีปัจจัยของความเสี่ยงแน่ชัดอยู่แล้ว ไม่ว่าความเสี่ยงนั้นจะมีมากหรือน้อยก็ตาม เช่น บริเวณพื้นที่ใกล้เขื่อน โรงไฟฟ้า พื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัย ดินโคลนถล่ม เป็นต้น ๙) สิทธิในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม (Right to Humanitarian Assistance) โดยการช่วยเหลือแบ่งเป็น ๓ ประเภทหลัก คือ ๑. การให้ความช่วยเหลือตามความต้องการของการบรรเทาทุกข์ ซึ่งขึ้นอยู่กับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ๒. การให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ ๓. การให้ความช่วยเหลือด้านบุคลากร ทั้งในภาคสนามและการประสานงาน ๑๐) การให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเสี่ยง (Vulnerability) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษตามสถานภาพ ได้แก่ เด็ก สตรี คนพิการ ชนกลุ่มน้อย และผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่ ความช่วยเหลือมักจะถูกละเลยหรือมองข้ามไปท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ด้วยข้อจำกัดทางด้านความสามารถก็เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวันจึงต้องการรับความคุ้มครองจากรัฐเป็นพิเศษ ๑.๑ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในสภาวะฉุกเฉิน รัฐจะสามารถจำกัดสิทธิมนุษยชนบางประการได้ หรือออกคำสั่งที่กระทบสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ หากแต่รัฐไม่อาจละเลยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐพึงต้องให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชน ดังนั้น รัฐจึงต้องดำเนินการโดยคำนึงถึงสิทธิของประชาชนที่จะได้รับความช่วยเหลือให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตตามปกติได้โดยเร็ว และพื้นที่ประสบภัยได้รับการบูรณะฟื้นฟูกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว โดยที่มาตรการป้องกันและลดผลกระทบ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ มีความสำคัญมากกว่ามาตรการช่วยเหลือและเยียวยาหลังเกิดภัยพิบัติ รัฐจึงต้องส่งเสริมให้ความรู้และฝึกอบรมประชาชนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย ซึ่งมีความสำคัญต่อการบริหารจัดการภัยพิบัติ ทำให้ลดความสูญเสียเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น อีกทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือและเยียวยาให้แก่ผู้ประสบภัยพิบัติ มาตรการสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารและตระหนักถึงภัยพิบัติธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารตามหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖ และตามมาตรา ๕๖ และมาตรา ๖๖ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ นอกจากนี้ ในการดำเนินการตามนโยบายการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ ได้แก่ ระบบการป้องกันสาธารณภัยและลดผลกระทบจากภัยพิบัติ ระบบการเตรียมความพร้อม การบริหารจัดการสาธารณภัยในภาวะฉุกเฉิน ระบบการฟื้นฟูบูรณะผู้ประสบภัยและการเชื่อมโยงหน่วยงานเครือข่ายระหว่างหน่วยงานของรัฐและภาคส่วนอื่นๆ สิ่งสำคัญต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้ประชาชนมีความตื่นตัว เตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติ และได้รับความช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยได้อย่างรวดเร็วทั่วถึงเป็นธรรมตรงตามความต้องการของผู้ประสบภัย รวมทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นหน้าที่ของชนชาวไทยในการช่วยเหลือป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะตามมาตรา ๗๓ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ๑.๒ กฎหมายบริหารจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นกฎหมายที่ใช้ในการจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ โดยมีแผนงานในระดับประเทศจนถึงระดับท้องถิ่น ภายใต้หลักเกณฑ์ ดังนี้ ๑) การป้องกัน (Prevention) เพื่อป้องกันและลดผลกระทบ ลดความเสี่ยงของประชาชนจากภัยพิบัติ ๒) การเตรียมการ (Preparation) เพื่อสร้างความพร้อมในการจัดการภัยพิบัติได้อย่างทันเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพ ๓) การแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤต (Crisis) เพื่อบริหารจัดการในภาวะสถานการณ์ที่เกิดภัยให้มีประสิทธิภาพ และลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด ๔) การประเมินความเสียหาย (Assessment) หลังเกิดวิกฤต (Post-Crisis) เพื่อให้หน่วยงาน มีศักยภาพและสามารถปฏิบัติงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเยียวยาตรงตามความต้องการและเป็นธรรม ประชาชนสามารถกลับไปดำรงชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว และพื้นที่ประสบภัยได้รับการฟื้นฟูบูรณะกลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว แนวคิดการจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนและครอบครัวผู้ประสบภัย เพื่อให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้รับทราบถึงพื้นที่ปลอดภัยสำหรับอพยพ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติและจุดศูนย์รวมความช่วยเหลือที่ประชาชนสามารถติดต่อได้ รวมทั้งการรับรู้ถึงสิทธิในการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ การจัดทำคู่มือช่วยเหลือผู้ประสบภัยจึงเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ขั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน และตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน อีกทั้งผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติสามารถรับรู้ถึงสิทธิ หลักเกณฑ์และช่องทางการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐได้อย่างรวดเร็ว ในประเทศสหรัฐอเมริกา สำนักงานบริหารเหตุฉุกเฉินกลาง (The Federal Emergency Management Agency : FEMA) อาศัยอำนาจตามมาตรา ๔๐๘ ของพระราชบัญญัติการบรรเทาสาธารณภัยและการให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน (Robert T. Stafford Disaster Relief and Emergency Assistance Act: Stafford Act) ได้จัดทำ “คู่มือสำหรับผู้สมัครรายบุคคลและครอบครัว ในการช่วยเหลือหลังประสบภัยพิบัติ” โดยมีข้อมูลประเภทของความช่วยเหลือ สิทธิการรับความช่วยเหลือ ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือ ประเภทของความสูญเสียที่สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ การก่อสร้างใหม่ การซ่อมแซม มาตรการบรรเทาความเสียหาย รวมทั้งการขอรับเงินสงเคราะห์ ดังนั้น จึงเป็นกรณีศึกษาที่ประเทศไทยสมควรจัดทำคู่มือสำหรับผู้ประสบภัยพิบัติเช่นกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงสิทธิและหน้าที่ของตนในการขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐตามสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนที่ได้รับรองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช๒๕๕๐ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่สำคัญ ดังนี้ • ข้อมูลโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยรายบุคคลและครอบครัว • ประเภทของความช่วยเหลือ • สิทธิมนุษยชนและการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย • ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัย • หลักเกณฑ์การตัดสินให้ความช่วยเหลือ • ประเภทความสูญเสียที่ขอรับความช่วยเหลือได้ • หลักเกณฑ์การสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ซ่อมแซม มาตรการบรรเทาความเสียหาย • หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน • สิทธิต่างๆ ของประชาชนที่พึงได้รับจากภาครัฐ ในการคุ้มครองสิทธิของชุมชนที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาตินั้น สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้ชุมชนและประชาชนสามารถรับประโยชน์จากลุ่มน้ำและลดผลกระทบจากอุทกภัยและภัยแล้ง ประชาชนและชุมชนสามารถดำรงวิถีชีวิตได้อย่างปกติสุข มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิตของประชาชน ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่รัฐพึงต้องจัดและดำเนินการให้แก่ประชาชนอย่างเหมาะสมตามสภาพพื้นที่ชุมชน และประชาชนได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามสิทธิพลเมืองที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนตามตราสารระหว่างประเทศ ในกระบวนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต้องอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์และสิทธิของประชาชนและของชุมชนเป็นหลัก อีกทั้งการดำเนินการต่างๆ ต้องเคารพสิทธิมนุษยชนรวมถึงสิทธิของชุมชน หากมีการละเมิดโดยเกิดจากความจงใจ หรือการวางแผนเพื่อให้การปฏิบัติการกระทบถึงสิทธิมนุษยชน หรือเกิดจากการกำหนดนโยบายที่ไม่เหมาะสม หรือความไม่ใส่ใจในการดำเนินการ ทำให้การให้ความช่วยเหลือไม่ตรงต่อความต้องการอย่างแท้จริงหรือไม่เหมาะสมกับสภาพชุมชนที่มีลักษณะพิเศษ ดังนั้น การเคารพในสิทธิเสรีภาพและการแสดงเจตจำนงของบุคคลและสิทธิชุมชน จึงเป็นหลักประกันที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องยึดถือเป็นพื้นฐานในการวางแผนและการปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติ ๑.๓ แนวทางในการลดผลกระทบจากภัยพิบัติต่อชุมชน ๑) การวางผังการใช้ที่ดินพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ การพัฒนาเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้มีการขยายตัวของเมืองอย่างไร้ระเบียบ มีการใช้ที่ดินและการก่อสร้างอย่างไม่ถูกต้อง รวมทั้งมีการบุกรุกพื้นที่และลำน้ำสาธารณะจนกีดขวางทางไหลของน้ำ ก่อให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่เมือง โดยเฉพาะเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจต่างๆ จนเกิดความเสียหายสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม จึงมีความจำเป็นต้องจัดทำแผนผังการใช้ที่ดินในทุกระดับ ทั้งการวางแผนผังนโยบายลุ่มน้ำ เพื่อกำหนดพื้นรับน้ำ พื้นที่รองรับการขยายตัวของชุมชนที่เหมาะสม และเขตพื้นที่เสี่ยงภัย รวมทั้งการวางปรับปรุงผังเมืองรวม ชุมชนเศรษฐกิจสำคัญ เพื่อออกกฎกระทรวงควบคุมอาคาร กฎกระทรวงควบคุมการใช้ที่ดินไม่ให้กีดขวางทางน้ำ และจัดทำแผนผังระบบป้องกันน้ำท่วมชุมชน การจัดทำแผนผังการใช้ที่ดินทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น จนถึงระดับจังหวัด ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะช่วยบรรเทาอุทกภัยพื้นที่การเกษตร พื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมือง โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.๒๕๑๘ พระราชบัญญัติการควบคุมอาคาร พ.ศ.๒๕๒๒ พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติพัฒนาที่ดิน พ.ศ.๒๕๕๑ นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมดูแล และติดตาม ตรวจสอบการใช้ที่ดินของสิ่งก่อสร้างให้เป็นไปตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวดตามอำนาจของท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนและเสริมให้การใช้ที่ดินด้วยการกำหนดกฎระเบียบหรือออกข้อบัญญัติ เป็นการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินของประชาชน และดูแลรักษาพื้นที่สาธารณะ แม่น้ำ ลำคลอง ๒) การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้และแหล่งต้นน้ำลำธาร ภาครัฐและชุมชนต้องร่วมมือกันและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าไม้และพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธาร เพื่อรักษาสมดุลที่มีอยู่ในธรรมชาติป้องกันการบุกรุกทำลายป่าที่จะส่งผลกระทบต่อความรุนแรงของภัยพิบัติธรรมชาติ โดยการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ พระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ.๒๕๓๕ พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.๒๕๔๕ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี พ.ศ.๒๕๓๒ และพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ เพื่อดูแลป่าต้นน้ำซึ่งเป็นพื้นที่ซับน้ำฝนของประเทศมิให้มีการบุกรุกเข้าทำเกษตรในเขตต้นน้ำ เขตป่าสงวน ป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ต้นน้ำ ลำธารและป่าไม้ ซึ่งหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ต้องมีความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้ลดปัญหาจากการเกิดอุทกภัยและดินโคลนถล่ม ๓) การปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมที่กีดขวางทางไหลของน้ำ โดยการแก้ไขและปรับปรุงเส้นทางคมนาคมทางบกทั้งถนนและรถไฟ ที่ก่อสร้างขึ้นอย่างขาดการวางโครงข่ายที่เหมาะสม บางแห่งมีการก่อสร้างขวางทางไหลของน้ำ ซึ่งส่งผลให้ปัญหาของน้ำท่วมที่มีต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมืองรุนแรง โดยใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ดูแล เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ๔) การเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ การปรับปรุงลำน้ำที่ตื้นเขินและประตูระบายน้ำต่างๆ ให้การไหลระบายของน้ำดีขึ้นและในปริมาณที่เหมาะสม รวมทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำของลำน้ำได้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงต้องร่วมมือกับกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยชุมชนในแต่ละท้องถิ่นต้องให้ความร่วมมือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย กฎระเบียบอย่างเข้มงวดตามอำนาจของท้องถิ่น เพื่อรักษาสภาพของลำน้ำสาธารณะให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๕) การลดปริมาณน้ำไหลหลากสู่พื้นที่ชุมชนเศรษฐกิจสำคัญ โดยการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อลดและชะลอปริมาณน้ำที่กระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ ได้แก่ การก่อสร้างหรือปรับปรุงขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำของแหล่งน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ในพื้นที่ต้นน้ำที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ชุมชนเศรษฐกิจสำคัญ การฟื้นฟูหนองบึงและพื้นที่ชุ่มน้ำ (Wetland) ที่มีอยู่ตามธรรมชาติให้รองรับน้ำท่วมได้มากขึ้น และยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง รวมทั้งการพัฒนาที่ลุ่มต่ำที่เหมาะสมสำหรับเป็น “พื้นที่แก้มลิง” รองรับน้ำท่วมในฤดูฝน ตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๖) การผันน้ำเลี่ยงเมือง โดยการพัฒนาโครงข่ายผันน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำไหลหลากที่มีมากเกินกว่าที่ระบบการป้องกันอุทกภัยของเมืองจะรับได้ ไปยังพื้นที่รองรับน้ำท่วมหรือพื้นที่แก้มลิง ๗) การขุดคลองลัดน้ำ เพื่อให้น้ำไหลจากแม่น้ำออกสู่ทะเลอ่าวไทยได้เร็วขึ้น เนื่องจากสภาพแม่น้ำคดเคี้ยวมากการไหลของน้ำช้าไม่ทันการระบายน้ำออกสู่ทะเล การเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำด้วยการขุดคลองลัดใหม่ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็วแก้ปัญหาน้ำท่วมระยะยาว เช่น การ “ขุดคลองลัดโพธิ์” ตามโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๘) การสร้างทางระบายน้ำหลาก (Floodway) โดยการขุดคลองแนวใหม่มาลงอ่าวไทยเพื่อใช้ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว กำหนดแนวพื้นที่รับน้ำในช่วงน้ำหลากและผันน้ำจากพื้นที่รับน้ำ พื้นที่รับน้ำทำเกษตรกรรม เพื่อระบายน้ำจากเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลงอ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพคลองเดิมให้ระบายน้ำได้มากขึ้นช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตเมือง ๙) ติดตั้งระบบเตือนภัยในพื้นที่ต้นน้ำ ซึ่งส่งผลต่อการเกิดอุทกภัยในพื้นที่การเกษตร และพื้นที่ชุมชนเศรษฐกิจ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และหน่วยงานอื่นๆ โดยการมีการบูรณาการข้อมูลร่วมกันภายใต้ระบบโทรมาตร (Telemetering System) เพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมการและป้องกันได้ทันต่อเหตุการณ์ ๑๐) การประกันภัยชุมชนจากภัยพิบัติธรรมชาติ เพื่อเป็นการคุ้มครองชีวิต ทรัพย์สินและธุรกิจของผู้เสี่ยงอุทกภัย รวมทั้งช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการชดเชยความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ประกอบด้วย การจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยธรรมชาติในพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ และการส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทำประกันภัยแพร่หลายขึ้น เพื่อให้ทรัพย์สินผู้ประสบภัยได้รับความคุ้มครองได้รับค่าชดเชยตามความเสียหายที่เกิดขึ้น ๑๑) การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร เพื่อเป็นการคุ้มครองพืชผลของเกษตรกร ผู้เสี่ยงภัยธรรมชาติเป็นการลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการชดเชยความเสียหายให้แก่ เกษตรกรจากภัยพิบัติธรรมชาติ และทำให้เกษตรกรได้รับการเยียวยาตามความเสียหายอย่างแท้จริง ภาครัฐจึงควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เอกชนเข้ามารับประกันภัยพืชผลการเกษตรให้เป็นรูปธรรมอย่างกว้างขวาง ๑๒) ให้มีกฎหมายควบคุมทางน้ำแห่งชาติ โดยการออกกฎหมายเพื่อให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่การควบคุมดูแลรักษาทางน้ำ ตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำลำธารจนถึงแม่น้ำ ลำคลองสาธารณะ ป้องกันการ บุกรุกเส้นทางน้ำ และวางเส้นทางระบายน้ำออกสู่ทะเล เนื่องจากหน่วยงานที่มีอยู่ดำเนินการไปภายใต้ขอบอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน จึงเกิดปัญหาช่องว่างในการบังคับใช้กฎหมาย ส่งผลกระทบต่อมาตรการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ ตามรายงานการศึกษาและข้อเสนอแนะของนายชลิต แก้วจินดา อดีตวุฒิสมาชิก ดังนั้น แนวทางในการบริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศอย่างเป็นระบบ หน่วยงานของรัฐต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยมีผู้รับผิดชอบตามภาระหน้าที่และอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แม้จะเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิของประชาชนก็ตาม ซึ่งจะทำให้รัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความชอบธรรมในการกระทำเพื่อตอบสนองสถานการณ์ อีกทั้ง การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติที่มีผลกระทบต่อสิทธิชุมชนอื่นๆและสิทธิของประชาชน จึงต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ การใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเดียวไม่อาจที่จะทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติสำเร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็วและเป็นผล หากไม่ได้รับความร่วมมือและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๑.๔ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน แนวทางที่ควรดำเนินการ คือ "การบูรณาการ" ทุกหน่วยงานน้ำที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีกว่า ๒๐หน่วยงานให้สามารถทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน หน่วยงานเตือนภัย หน่วยงานป้องกัน เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำหรับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้นำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม มาช่วยในการจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติและลดผลกระทบ ทั้งหมดต้องร่วมกันวิเคราะห์และศึกษาผ่านข้อมูลที่สามารถวางแผนระยะยาว อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันแนวคิด "กระทรวงทรัพยากรน้ำแห่งชาติ" ซึ่งหากไม่ดำเนินการ ก็ควรเร่งวางแผนการทำงานบูรณาการหน่วยงานน้ำทั้งหมด ให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเช่นปัจจุบันที่สถานการณ์ต่างคนต่างทำ ต้องประสานการจัดการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน โดยเน้นการจัดการที่สามารถบูรณาการภารกิจที่เกี่ยวข้องกันได้อย่างเป็นระบบ ใช้กรอบพื้นที่ของลุ่มน้ำหลักของประเทศเป็นกรอบแนวคิดในการบริหารจัดการเชิงบูรณาการ(Integrated Watershed Management)เพื่อความยั่งยืน กระบวนการและขั้นตอนในการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ ตามหลักการทางวิชาการที่ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ทั้งการป้องกัน (Prevention) การเตรียมการ (Preparation) การแก้ไขปัญหาในช่วงวิกฤต(Crisis)และการประเมินความเสียหาย(Assessment)หลังเกิดวิกฤต(Post-Crisis)หน่วยงานทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นมีศักยภาพและสามารถปฏิบัติงานตามกรอบภารกิจของตน และสอดคล้องตามกระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวได้ดี โดยมีหน่วยงานหลัก ดังนี้ ๑) กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นหน่วยงานแรกที่ทำหน้าที่รายงานภัยธรรมชาติ สามารถพยากรณ์ คำนวณปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาเป็นปริมาณน้ำฝนที่สามารถคาดการณ์ว่าตกลงในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ได้ก่อนล่วงหน้าในช่วงเวลาเป็นรายชั่วโมง รายวัน ถึงรายอาทิตย์ จาก Meteorological model ที่ทางกรมอุตุนิยมวิทยามีอยู่แล้วซึ่งมีศักยภาพในการทำงานที่สูงมากที่สามารถใช้จากข้อมูลจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาที่มีเครือข่ายระดับสากลและระดับภูมิภาค รวมทั้งการมีข้อมูลของสถานีตรวจอากาศภาคพื้นดินอยู่อีกมากมายทั่วประเทศ มาดำเนินการประมวลผลร่วมกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information Systems : GIS) ที่มีความสำคัญมากต่อขั้นตอนของการเตรียมการ (Preparation) การรายงานสภาพอากาศในระหว่างเกิดอุทกภัยส่วนใหญ่เป็นการรายงานข่าวครอบคลุมพื้นที่กว้างๆ แทบจะทั้งภูมิภาคหรือทั้งจังหวัดไม่สามารถนำไปสู่การวางแผนในพื้นที่และชุมชนนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การจัดการในเชิงพื้นที่เฉพาะในแต่ละลุ่มน้ำที่มีความสำคัญอย่างมาก ข้อมูลการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาเครื่องตรวจวัดส่วนใหญ่จะติดตั้งอยู่ตามชุมชนหรือในเมืองเท่านั้น จึงต้องนำข้อมูลจากเครื่องตรวจวัดปริมาณน้ำฝนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยติดตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดภัยพิบัติเพื่อแจ้งเตือนภัยแก่ประชาชน ส่วนกรมชลประทานติดตั้งอยู่ในเขตชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำติดตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์น้ำ แสดงให้เห็นว่าการติดตั้งจะแตกต่างกันไปตามวัตถุประสงค์ในการใช้ และยังไม่มีการนำข้อมูลการตรวจวัดปริมาณน้ำฝนมาบูรณาการร่วมกัน เนื่องจากมีจุดประสงค์และรูปแบบ ในการตรวจวัดมีความแตกต่างกัน ทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรของรัฐอย่างไม่คุ้มค่าในการรวบรวมข้อมูลประเภทเดียวกัน ๒) กรมชลประทาน ที่มีการรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในระหว่างเกิดอุทกภัยส่วนใหญ่ ก็เป็นการรายงานในพื้นที่เขตชลประทาน โดยมีเฉพาะความเร็วของน้ำในแม่น้ำหรือน้ำที่ปล่อยออกมาจากเขื่อนเป็นหลักเท่านั้น ขาดความร่วมมือจากท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรน้ำไม่สามารถนำไปสู่การวางแผนในทางปฏิบัติการเชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพในแต่ละลุ่มน้ำได้ การแจ้งถึงประมาณหรือพื้นที่ ที่ชัดเจนตามการคาดการณ์ที่เป็นระบบด้วยแบบจำลองทางอุทกศาสตร์และอุทกกลศาสตร์นั้น ยังไม่ได้มีการนำเสนอเพื่อการจัดการและรายงานต่อสาธารณชน ข้อมูลที่สถานตรวจวัดน้ำฝนและน้ำท่าในลุ่มน้ำต่างๆ ของกรมชลประทานที่มีอยู่มากมายนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิผลอย่างยิ่ง ในช่วงขั้นตอนของการเตรียมการ (Preparation) และการปฏิบัติการในช่วงวิกฤต (Crisis) ของการจัดการน้ำท่วมได้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างมากเมื่อมาประยุกต์ประมวลผลแบบจำลองเชื่อมโยงร่วมกันกับกรมอุตุนิยมวิทยา และประมวลผลร่วมกับความสามารถของเทคโนโลยี GIS และภาพถ่ายจากดาวเทียม รวมทั้งนำข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำใช้ในการวางแผนป้องกันพื้นที่อุทกภัยได้อย่างมีประมีสิทธิภาพภายใต้ระบบโทรมาตรเตือนภัย ๓) กรมทรัพยากรน้ำ บริหารทรัพยากรน้ำตามแผนบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติในเขตพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งน้ำขนาดเล็ก นอกเขตชลประทาน ซึ่งมีแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระยะกลางและระยะยาว โดยมีแผนป้องกันอุทกภัยและภัยแล้ง แต่ขอบอำนาจและพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจนกับเขตชลประทาน มีภารกิจที่สับสนและไม่มีระบบในการบริหารทรัพยากรน้ำเป็นหนึ่งเดียว ขาดการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งที่มีแผนงานร่วมกันจัดการทรัพยากรน้ำในรูปแบบลุ่มน้ำในเชิงพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ ๔) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำหน้าที่หลักในการบริหารจัดการภัยพิบัติธรรมชาติ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นการดำเนินการในลักษณะการตั้งรับที่ปฏิบัติการหลังจากการเกิดน้ำท่วมและความเสียหายแล้วเป็นหลัก การเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆที่ปฏิบัติงาน การช่วยเหลือในสภาวะฉุกเฉินเป็นการเฉพาะหน้าตามอำนาจสั่งการของฝ่ายบริหารและปกครอง การบริหารจัดการจึงจำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในการสั่งการและตัดสินใจอย่างมีลำดับต่อเนื่องกันเชื่อมโยงกันตามกระบวนการและขั้นตอนในการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในกฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีแผนการป้องกันปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มากกว่าการสั่งการและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดภัยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องส่งเสริมบทบาทของชุมชนและประชาชนในท้องถิ่นซึ่งอยู่ในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมและศักยภาพในการบริหารจัดการกับภัยพิบัติธรรมชาติที่ฉุกเฉินได้ด้วยตนเองในระดับหนึ่ง พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติประเทศ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนด นโยบายจัดทำแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติ โดยมีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานกลางของรัฐ ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งรูปแบบการบริหารจัดการดังกล่าวนี้จะต้องประสานการจัดการร่วมกันระหว่างหน่วยงานโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ใช้แผนการจัดการที่สามารถบูรณาการภารกิจที่เกี่ยวข้องกันได้อย่างเป็นระบบตามกรอบพื้นที่ลุ่มน้ำหลักของประเทศ เป็นแนวทางในการจัดการที่มีการบูรณาการแผนให้เข้ากับสภาพของพื้นที่ลุ่มน้ำที่เกิดภัยทั้งในด้านการบริหารจัดการ และการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัย หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องจึงต้องยอมรับบทบาทตามกฎหมายที่กำหนดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและช่วยเหลือเยียวยาในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ ๕) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน)ซึ่งได้จัดทำศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจติดตามสภาพน้ำท่วม โดยใช้ภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ได้รายงานผลพื้นที่น้ำท่วมและนำมาประยุกต์ประมวลผลเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี GIS เพื่อใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์และพื้นที่ เกิดภัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ จึงเป็นข้อมูลที่สามารถใช้ในการเตรียมการและป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในเชิงพื้นที่ รวมทั้งกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างเป็นรูปธรรม การจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรและการอยู่อาศัย การตรวจสอบพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์ต่อ การวิเคราะห์และประมวลผลใช้ในการวางแผนและปฏิบัติงาน ในความเป็นจริงแล้ว ความสามารถของหน่วยงานเหล่านี้ยังสามารถปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้นอีกอย่างแน่นอน ถ้ามีการบริหารจัดการร่วมกันอย่างมีระบบเป็นลำดับอย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกัน มีการวางแผนการดำเนินงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีกรอบกระบวนการที่แน่นอนในแต่ละช่วงเวลาที่สามารถตอบสนองในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม ได้แก่ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีภาพจากดาวเทียมมาเป็นเครื่องช่วยในการจัดการ จัดเก็บ วิเคราะห์และประมวลผลแบบจำลองจากข้อมูลเชิงพื้นที่ทั้งหลายที่ต้องใช้ในการจัดการร่วมกันอย่างถาวร และใช้ประสบการณ์มาใช้ในการบริหารและตัดสินใจ ความสำเร็จในการวางแผนจัดการและบริหารพิบัติภัยทางธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัย ๓ ประการ คือ (๑) องค์ความรู้เกี่ยวกับภัยพิบัติ เช่น ลักษณะและรูปแบบในการเกิด ลักษณะการเกิดผลกระทบ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการการจัดการพิบัติภัยในลำดับต่อไป (๒) การสร้างระบบเฝ้าระวังและการเตือนภัยที่เหมาะสมกับลักษณะของพิบัติภัยในแต่ละพื้นที่ให้ครอบคลุมร่วมกับหน่วยงานอื่น (๓) การกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการลดผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติ ทั้งด้านการป้องกัน การคาดการณ์ การเตรียมการ การจัดการในช่วงวิกฤต และการประเมินผลกระทบหลังเหตุการณ์ กลยุทธ์และข้อมูลเชิงพื้นที่ซึ่งจำเป็นต่อการประกอบการตัดสินใจการจัดการเพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติที่เกี่ยวข้อง ๑.๕ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชน รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมให้ประชาชนและท้องถิ่นเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ป่าไม้ ต้นน้ำ ลำธาร สร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเห็นคุณค่าในการอนุรักษ์ป่าไม้ แหล่งน้ำ อันเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน โดยการกำหนด แนวเขตพื้นที่ป่าไม้และชุมชนให้ชัดเจนเพื่อเป็นการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ และต้นน้ำลำธาร ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๖๖ ให้สิทธิชุมชน และมาตรา ๒๙๐ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ และสิ่งสำคัญการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การฝึกอบรมอาสาสมัครป้องกันภัย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ดังนั้น ชุมชนและชุมชนท้องถิ่นจึงต้องมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษา ป้องกันภัยพิบัติตามสิทธิชุมชนผ่านกลไกของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ๑.๖ การให้การศึกษาแก่ประชาชน รัฐมีหน้าที่ต้องดำเนินการส่งเสริมและให้ความรู้แก่ประชาชน รวมทั้งในโรงเรียนทุกระดับตั้งแต่ระดับประถมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา เพื่อให้ความรู้และช่วยเหลือในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ ทั้งทางสื่อมวลชน โทรทัศน์ และวิทยุ เป็นระยะ โดยเฉพาะในขณะเกิดภัย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๗๓ กำหนดให้ประชาชนชาวไทยทุกคนต้องมีหน้าที่เสียสละเพื่อส่วนรวมในการรับราชการทหาร ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เสียภาษีอากร ช่วยเหลือราชการ ตลอดจนมีหน้าที่อื่นๆและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หน่วยงานของรัฐ เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงมีหน้าที่ต้องร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนจัดเตรียมความพร้อม จัดทำแผนฝึกอบรมอาสาสมัครเตือนภัย ให้ความรู้และช่วยเหลือให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ตระหนักถึงภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น การฝึกซ้อมในการป้องกันเพื่อเตรียมพร้อมรับภัย ตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของประชาชนในการช่วยเหลือป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติสาธารณะ ๑.๗ ความรับผิดชอบของรัฐและการช่วยเหลือเยียวยา รัฐมีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าในการตอบสนองต่อภัยพิบัติธรรมชาติเพื่อปกป้องชีวิตของประชาชน รวมถึงการแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนของตนและรัฐอื่นที่อาจได้รับผลกระทบ ในกรณีที่รัฐบาลไทยไม่ได้เตรียมความพร้อมการตอบสนองต่อภัยพิบัติธรรมชาติอย่างเพียงพอ จนทำให้ประชาชนได้รับความช่วยเหลือไม่เพียงพอประเทศไทยจึงมีความรับผิดชอบ จึงควรจะต้องมีกฎหมายหรือกฎระเบียบควบคุมการแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ และควบคุมองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและรวดเร็วทันท่วงที พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓๐ กำหนดให้ผู้อำนวยการในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบสำรวจความเสียหายจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นและทำบัญชีรายชื่อผู้ประสบภัยและทรัพย์สินที่เสียหายไว้เป็นหลักฐาน พร้อมทั้งออกหนังสือรับรองให้ผู้ประสบภัยไว้เป็นหลักฐานในการรับการสงเคราะห์และฟื้นฟู และหนังสือรับรองต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับการสงเคราะห์และการฟื้นฟูที่ผู้ประสบภัยมีสิทธิได้รับจากทางราชการ พร้อมทั้งระบุหน่วยงานที่เป็นผู้ให้การสงเคราะห์หรือฟื้นฟูและสถานที่ติดต่อของหน่วยงานนั้นไว้ด้วยก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติผู้ประสบภัยเหล่านั้น บางครั้งเอกสารทางราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน หรือบัตรประจำตัวประชาชนสูญหาย จึงยากต่อการแสดงตนต่อหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาครัฐจึงควรริเริ่มบทบาทในเชิงรุกด้วยการเข้าถึงผู้ประสบภัย มากกว่ารอคอยให้ผู้ประสบภัยมาแจ้งข้อมูล ๑.๘ ตัวอย่างคดีสิทธิมนุษยชน ที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อผู้ประสบภัยพิบัติในต่างประเทศ ๑) คดีระหว่าง บูดาเยวา กับพวก และประเทศรัสเซีย (Budayeva and others v. Russia)ของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่าในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.๒๐๐๐ เกิดโคลนถล่มทับเมืองทาสนาส (Tyrnauz) มีผู้เสียชีวิตและอาคารเสียหาย โดยเป็นผลมาจากดินโคลน ของแม่น้ำเจอโฮซานซู (Gerhozhansu) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ตามปกติแล้วเมืองนี้ได้รับการป้องกันโดยเขื่อนกันโคลน หากแต่เมื่อปีก่อนหน้านั้นโคลนถล่มทำลายเขื่อนกันโคลนทั้งหลายเหล่านั้นจนเสียหายและยังคงไม่ได้รับการซ่อมแซม สถาบันอุทกศาสตร์ของรัฐได้แจ้งให้รัฐมนตรีท้องถิ่นเกี่ยวกับอันตรายของภัยพิบัติและร้องขอให้ตั้งจุดสังเกตการณ์เหนือลำน้ำเพื่อให้สามารถแจ้งเตือนภัยได้ ถ้าจำเป็น แต่มาตรการเหล่านี้ถูกเพิกเฉย และในวันก่อนหน้าโคลนถล่มได้มีโคลนและเศษขยะได้ไหลเข้ามายังเมืองและมีน้ำท่วมในบางส่วนของพื้นที่แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้สั่งให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในส่วนที่ได้รับผลกระทบอพยพออกไปก็ตาม แต่ทางการก็มิได้ห้ามกลุ่มคนดังกล่าวกลับเข้ามายังบ้านเรือนของตนในวันต่อมาเมื่อระดับโคลนลดลง ซึ่งเป็นวันที่มีการเกิดโคลนถล่มจริงจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยแปดคน คดีนี้บรรดาญาติของผู้เสียชีวิตพยายามที่จะเรียกร้องค่าชดเชยจากหน่วยงานภายในประเทศ แต่ข้อเรียกร้องถูกปฏิเสธโดยศาล ด้วยเหตุผลที่ว่าสาเหตุการเสียชีวิตนั้นเป็นไปตามธรรมชาติไม่สามารถคาดหมายหรือป้องกันได้ รัฐจึงไม่ต้องมีความรับผิดชอบ จึงทำให้มีการอุทธรณ์คดีต่อไปยังศาลสิทธิมนุษยชนแห่งสหภาพยุโรป ศาลจึงพบว่ารัสเซียละเมิดหน้าที่ในการคุ้มครองชีวิต ล้มเหลวที่จะไม่ใช้มาตรการป้องกันและสั่งให้จ่ายค่าเสียหายแก่บรรดาญาติของผู้เสียชีวิต เหตุผลของศาลในคดีนี้ชี้ให้เห็นหน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิการมีชีวิตอยู่ และพันธกรณีของรัฐในการใช้ขั้นตอนที่เหมาะสมในการปกป้องชีวิตของผู้ที่อยู่อาศัยในเขตอำนาจอธิปไตยของตน รวมถึงพันธกรณีหน้าที่หลักของรัฐในการตรากฎหมายและกรอบนโยบายในการลดทอนต่อการคุกคามสิทธิการมีชีวิตอยู่ รัฐจึงต้องมีความรับผิดต่อการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น เพราะการประมาทเลินเล่อ ของหน่วยงานรัฐในหน้าที่การใช้มาตรการป้องกัน เมื่ออันตรายจากธรรมชาติที่สามารถรับทราบได้ และมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่ใช้ในการอพยพ จึงแสดงให้เห็นถึงการรับผิดชอบของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศ ๒) คดีศาลแขวงตะวันออกมลรัฐหลุยเซียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States District Court for the Eastern District of Louisiana) ได้ตัดสินคดีให้เป็นความผิดของหน่วยวิศวกรรมของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา (Army Corp of Engineers) กระทำการประมาทเลินเล่อในการป้องกันน้ำท่วมซึ่งเป็นผลมาจากพายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา จึงไม่ใช่เป็นเหตุสุดวิสัย (Act of God) ที่ไม่สามารถทำอะไรหรือป้องกันได้ แต่สามารถบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอันตรายทางธรรมชาติได้ และพิจารณาให้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้ประสบภัยด้วย ๓) คดีภายในของประเทศอินเดีย สหภาพประชาชนสำหรับเสรีภาพพลเรือน (People’s Union for Civil Liberties) ซึ่งเป็นองค์การพัฒนาภาคเอกชนได้ฟ้องต่อศาลฎีกาว่าในปี ค.ศ.๒๐๐๑ เกิดความแห้งแล้งและครอบคลุมรัฐต่างๆ อาทิ ออริสซ่า(Orissa) ราจาสทาน(Rajasthan) และแม็ดย่า ปราเดส (Madhya Pradesh) เป็นระยะเวลายาวนานหลายเดือน จนเกิดความยากจนและขาดแคลนอาหารอย่างกว้างขวาง ประชาชนอดอยากในหมู่บ้าน ในทางกลับกันรัฐบาลกลางกลับไม่ยินยอมนำอาหารที่ล้นอยู่ในโกดังมาแจกจ่ายช่วยเหลือประชาชน แต่กลับปล่อยให้เน่าเสีย และปฏิเสธถึงข้อเท็จจริงดังที่ว่า ประชาชนในรัฐออริสซ่าเริ่มเสียชีวิตจากการอดตายอีกด้วย คดีจึงมีประเด็นกล่าวถึงความรับผิดชอบของรัฐในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร ทำให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ด้วยการยอมรับในหลักการที่ว่าการป้องกันความอดอยากเป็นหนึ่งในหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของรัฐบาล และการล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามเท่ากับเป็นการละเมิดต่อสิทธิที่จะมีชีวิตกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมไปถึงหน้าที่ของรัฐในการรักษาระดับสุขภาพอนามัยและมาตรฐานการดำรงชีพของประชาชนให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ* และให้รัฐบาลท้องถิ่นและส่วนกลางปฏิบัติ อาทิ การบังคับใช้ประมวลความอดอยาก ค.ศ. ๑๙๖๒ (The Famine Code of 1962)ในการปรับปรุงสถานการณ์ จากแนวคำพิพากษาของต่างประเทศก็สอดคล้องไปในทางเดียวกันที่การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมเป็นสิ่งที่สมควรต้องกระทำรัฐไม่สามารถปฏิเสธพันธกรณีในการดูแลประชาชนในดินแดนของตนได้ โดยที่พันธกรณีนี้ยังส่งผลให้รัฐนั้นต้องรับผิด จากการที่ละเว้นจากการตระเตรียมการหรือกระทำการเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติอย่างเต็มความสามารถและศักยภาพของตน บทที่ ๒ กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยม* การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีส่วนสำคัญในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่สภาพพื้นที่ลุ่มน้ำของประเทศไทยมีจำนวน ๒๕ ลุ่มน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ การพัฒนาก่อสร้างระบบเก็บกักน้ำ การรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ และสภาพของป่าไม้ต้นน้ำลำธารให้มีความสมดุลเป็นส่วนสำคัญที่จะลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ และลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติของภาครัฐ อีกทั้งเป็นสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนที่รัฐต้องให้ความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความสำคัญในการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับภัยพิบัติจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการช่วยเหลือ ระบบการเตือนภัยล่วงหน้านับเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเสี่ยงทางภัยพิบัติ รวมทั้งการสร้างระบบป้องกันในรูปของสิ่งก่อสร้าง เช่น เขื่อนกั้นน้ำ อ่างเก็บกักน้ำ การผันน้ำ การสร้างทางระบายน้ำ การทำแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ อันเป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติต่อชุมชนและประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิทธิมนุษยชนกับผู้ประสบภัยพิบัติกรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยม เป็นการหยิบยกปัญหาอุทกภัยและปัญหาภัยแล้งที่มีผลกระทบต่อสิทธิของชุมชนและสิทธิของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมที่สร้างความเสียหายและเดือดร้อนต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมหลายล้านคน ปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติที่มีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีมีความเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ แม้ภาครัฐจะได้ดำเนินการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำและแก้ไขปัญหาภัยจากน้ำในลุ่มน้ำยมโดยหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันก็ตาม แต่ก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอในการลดผลกระทบภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แนวทางการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เพื่อให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการ น้ำสามารถบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ในลุ่มน้ำยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ลดความเดือดร้อนและความเสียหายของประชาชนในพื้นตอนล่างของลุ่มน้ำยม แต่กลับถูกคัดค้านและต่อต้านตลอดมา ทำให้ประชาชนและชุมชนหลายจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำยมจำนวนนับล้านคนต้องทนทุกข์และได้รับความเสียหายเดือดร้อนเป็นประจำทุกปี ทั้งที่ภาครัฐรู้ถึงสภาพปัญหาและแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่ก็มิได้ตัดสินใจดำเนินการแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากให้แก่ประชาชน จึงกระทบต่อสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนที่พึงได้รับความคุ้มครองจากรัฐ _________________________ *สรุปการเสวนา เรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ: กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยม” เมื่อวันอังคารที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๔.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ๑ – ๒ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒ ๒.๑ สภาพภูมิประเทศของพื้นที่ลุ่มน้ำยม พื้นที่ลุ่มน้ำยมซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ แม่น้ำสายหลักที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีต้นกำเนิดจากดอยขุนยวม ทิวเขาผีปันน้ำ จังหวัดพะเยา ไหลจากทิศเหนือลงไปทางทิศใต้ ผ่านพื้นที่ ๑๐ จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดน่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ มาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่บ้านเกยชัย อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ มีความยาว ๗๓๕ กิโลเมตร มีลำน้ำสาขา ๑๑ ลำน้ำ ปริมาณน้ำค่าเฉลี่ย ๔,๗๒๐.๗ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี มีพื้นที่รับน้ำฝนรวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๓,๖๑๖ ตารางกิโลเมตร สภาพลุ่มน้ำยมช่วงต้นน้ำตั้งแต่จังหวัดแพร่ลงมาถึงจังหวัดสุโขทัยมีความลาดชันมาก และลาดชันน้อยลงจนเป็นพื้นที่ราบตั้งแต่จังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เมื่อเกิดภาวะฝนตกหนัก จึงเกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้เกิดอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนในฤดูแล้ง ลุ่มน้ำยมจึงมีความจำเป็นจะต้องพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นมูลค่ามหาศาล แต่ลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำสาขาเดียว ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งจะเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับลุ่มน้ำอื่นๆในภาคเหนือที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำแล้ว ไม่ว่าจะเป็นลุ่มน้ำปิง ที่มีเขื่อนภูมิพล ลุ่มน้ำน่านที่มีเขื่อนสิริกิตติ์ และลุ่มน้ำวังที่มีเขื่อนกิ้วลม และกิ้วคอหมา ซึ่งในพื้นที่ชลประทาน ในลุ่มน้ำเหล่านี้มีการบริหารจัดการน้ำจนแทบจะไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง และในฤดูฝนก็ยังสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัย ทำให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย ๒.๒ สภาพปัญหาที่ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำ การที่ลุ่มน้ำยมไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านอุทกภัย ตั้งแต่จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก จนถึงนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรและพื้นที่เศรษฐกิจในลุ่มน้ำ ทุกๆ ปี ที่มีฝนตกชุกในฤดูฝนจะมีปัญหาเมื่อปริมาณน้ำจากแม่น้ำยมมาก ทำให้น้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยได้รับความเสียหายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๕ – ๒๕๕๑ พบว่ามีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยจากอุทกภัยไม่น้อยกว่า ๗๕,๗๐๐ ล้านบาท ซึ่งรัฐต้องใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาท และยังไม่รวมถึงภาคเอกชนที่ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในแต่ละปี ตลอดจนความเสียหายด้านผลผลิตทางการเกษตร ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจของชุมชนอีกจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและวิถีชีวิตของชุมชน ต้องอพยพละทิ้งถิ่นประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปี ประชาชนในพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำยมทุกสาขาอาชีพ ประชาชนไม่ว่าเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ได้รับความทุกข์ยากจากการเกิดน้ำท่วม โดยไม่มีหนทางที่จะหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งได้สร้างความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาจากกระแสน้ำที่พัดพาทำให้ตลิ่งของลุ่มน้ำพังเสียหาย เกิดตะกอนดินไหลลงสู่แม่น้ำสะสมจนก่อให้เกิดสภาพตื้นเขินส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนในฤดูแล้งก็เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำในแม่น้ำยมช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนเมษายน ตั้งแต่ใต้ฝายแม่ยมลงไปไม่มีน้ำไหล แต่จะมีน้ำขังอยู่ในลำน้ำเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่น้ำยมในเขตอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย และอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก แม่น้ำยมจะแห้งก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร รวมทั้งปัญหาคุณภาพน้ำในฤดูแล้ง เนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการหล่อเลี้ยงรักษาความสมดุลของระบบนิเวศวิทยาในลุ่มน้ำได้ การขาดเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ส่งผลก่อให้เกิดปัญหาความยากจนกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เนื่องจากไม่มีการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้ไม่มีปริมาณน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร การอุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวในฤดูแล้งได้เพียงพอ และเกิดอุทกภัยในฤดูฝน ทำให้รายได้เฉลี่ยของประชากรในลุ่มน้ำยมต่ำกว่ารายได้ในลุ่มน้ำที่มีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำน่าน และลุ่มน้ำเจ้าพระยาสายหลัก เป็นต้น นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่มาจากลุ่มน้ำยมยังส่งผลกระทบถึงระดับน้ำในลุ่มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา และมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกด้วย ๒.๓ พัฒนาโครงการชลประทานทั้งหมดในลุ่มน้ำก็ยังไม่เพียงพอ จากข้อมูลของกรมชลประทาน หากดำเนินการพัฒนาโครงการชลประทานขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้งหมดในลุ่มน้ำยมโดยรวมๆแล้ว จะมีปริมาณกักเก็บน้ำรวมได้เพียง ๔๐๕.๙๔ ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรชลประทาน ๑.๗๑ ล้านไร่ เท่านั้น ในขณะที่ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมที่ใช้น้ำรวมสูงสุดปีละ ๒,๒๑๕ ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งได้อย่างเต็มอัตรา และไม่สามารถแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในฤดูฝนอย่างยั่งยืน การที่รัฐบาลไม่ได้ตัดสินใจในการที่จะสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยม หรือไม่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสต่อประชาชนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำยม ที่ต้องประสบกับปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมซ้ำซากทุกปีในฤดูฝนและปัญหาภัยแล้งซ้ำซากในฤดูแล้ง สร้างความเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยและในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ เขตเมือง บ้านเรือนของประชาชนและถนนหนทาง พืชสวนไร่นาของเกษตรกรได้รับความเสียหาย รวมทั้งชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนและสัตว์เลี้ยงได้รับความเดือดร้อน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นเงินหลายพันล้านบาทในแต่ละปี ๒.๔ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำยม ๓๑ ปีแห่งการรอคอย จากสภาพปัญหาของลุ่มน้ำยม รัฐบาลที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ เป็นต้นมา ได้มีการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำยม โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อกักเก็บน้ำไว้ในฤดูฝน ป้องกันปัญหาอุทกภัยและชะลอการไหลอย่างรุนแรงของกระแสน้ำ มีพื้นที่เก็บกักน้ำสามารถนำน้ำมาใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเพียงพอ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร แต่ก็ไม่สามารถริเริ่มโครงการหรือดำเนินการเนื่องจากเกิดการคัดค้านและการต่อต้านการก่อสร้างเขื่อน ระยะเวลาการศึกษาและข้อเสนอเพื่อก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการรวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐในแต่ละยุคแต่ละสมัย ได้มีการนำเสนอต่อรัฐบาลในสมัยต่างๆ ต่อเนื่องกันมาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้ง แต่รัฐก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติที่จะทำการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่ ทั้งนี้ เนื่องจากเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นและ ฝ่ายที่คัดค้านการก่อสร้างเขื่อนตลอดมา ระยะเวลาการศึกษาตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาถึง ๓๑ ปี รัฐบาลต้องสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการศึกษาเป็นเงินจำนวนนับพันล้านบาท มากกว่างบประมาณที่ใช้สำหรับการสร้างเขื่อนและเงินค่าชดเชยต่างๆซึ่งเป็นความสูญเปล่าและเสียเวลา ทั้งที่ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตั้งแต่จังหวัดแพร่เรื่อยลงมาหลายจังหวัดจนถึงจังหวัดนครสวรรค์ที่แม่น้ำยมไหลผ่านนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นกว่าทุกปี ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมหลายล้านคนอันเป็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนที่ประชาชนพึงได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ดังนั้น มาตรการการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ โดยใช้สิ่งก่อสร้างเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ จึงมีประสิทธิภาพในการป้องกันอุทกภัยได้ระดับหนึ่ง ลดภาระค่าใช้จ่ายและงบประมาณของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาจากการเกิดภัยพิบัติ และสามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนและความเสียหายของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ๒.๕ แนวนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล ในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ ในนโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ข้อ ๑.๔ ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการและเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน โดยเร่งให้มีการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพให้สามารถป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้ รวมทั้งสนับสนุนภาคการเกษตรด้วยการก่อสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ฟื้นฟูการขุดลอกคูคลอง และแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่เดิม ขยายเขตการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า จัดสร้างคลองส่งน้ำขนาดเล็กเข้าสู่ไร่นา และขยายเขตการจัดรูปที่ดิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและการผลิตส่งเสริมการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเหมาะสมกับชนิดพืช และจัดหาแหล่งน้ำในระดับไร่นาและชุมชนอย่างทั่วถึง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีแนวทางในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติอย่างเหมาะสม เพื่อให้บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องให้ความคุ้มครองตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในปีแรก โครงการพัฒนาลุ่มน้ำยมจึงเป็นวาระที่รัฐบาลต้องนำมาพิจารณาอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรมแก้ไขปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน ในการศึกษาระบบการพัฒนาและจัดการน้ำในลุ่มน้ำให้เกิดความยั่งยืนภาครัฐต้องให้ท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ลุ่มน้ำมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยใช้กระบวนการแบบบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานต่างๆของภาครัฐ เพื่อให้โครงการสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมให้เกิดประโยชน์ตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยไม่นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมและชุมชนในอนาคต รวมทั้งต้องครอบคลุมทุกมิติของผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบของการพัฒนาอย่างบูรณาการ การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำ เช่น ลุ่มน้ำยมจึงต้องประสานการจัดการร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเน้นการจัดการที่สามารถบูรณาการภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ ใช้กรอบพื้นที่ของลุ่มน้ำหลักเป็นแนวคิดในการจัดการเชิงบูรณาการ (Integrated Watershed Management) จึงต้องมีการพิจารณาถึงผลทั้งด้านบวกและลบจากการดำเนินโครงการต่างๆ ที่จะมีต่อมิติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสังคมในพื้นที่ ทั้งนี้ครอบคลุมไปถึงพื้นที่ลุ่มน้ำใกล้เคียงที่มีความเชื่อมโยงกันด้วย โดยต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่เริ่มต้นคิดโครงการก่อสร้างและบริหารโครงการเมื่อแล้วเสร็จ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เริ่มตั้งแต่สิทธิของประชาชนในการรับรู้ข่าวสาร มาตรา ๕๗ กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในระดับบุคคล ท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม มาตรา ๖๖, ๖๗, ๘๗, ๒๘๗ และมาตรา ๒๙๐ รวมทั้งหน้าที่ของบุคคลและแนวนโยบายของภาครัฐด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตรา ๗๓ และ ๘๕ ๒.๖ การศึกษาของกรมชลประทานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ – ๒๕๕๔ มติคณะรัฐมนตรีครั้งล่าสุด เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๒ อนุมัติให้กรมชลประทานจัดทำโครงการเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำยมทั้งระบบ โดย รศ.ดร.อรพินธุ์ เอี่ยมศิริ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการโครงการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยม โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการ (Strategic Environmental Assessment : SEA) ประยุกต์ใช้กระบวนการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ ใช้เวลาศึกษาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ เพื่อการวางแผนการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างมีส่วนร่วม และเป็นที่ยอมรับของสังคมทุกภาคส่วน ประเมินผลกระทบจากประชาชนในพื้นที่ต้นน้ำ และพื้นที่ใต้น้ำที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภาครัฐ ประชาชน และกลุ่มต่างๆ โดยใช้องค์ประกอบการศึกษาด้านการตอบสนองต่อการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืนใน ๔ มิติ คือ ๑.มิติโครงสร้างและรูปแบบการจัดการที่เอื้อให้เกิดการจัดการลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ๒.มิติความยั่งยืนในเชิงนิเวศวิทยา ๓.มิติความยั่งยืนในเชิงสังคม และ ๔.มิติความยั่งยืนในเชิงเศรษฐกิจในการจัดการลุ่มน้ำยม เพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ สามารถกำหนดเป้าหมายในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำ และมีข้อกฎหมายที่เอื้อต่อการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อความยั่งยืน ได้กำหนดแนวทางการศึกษาการพัฒนาโครงการไว้ ๔ ทางเลือก คือ ทางเลือกที่ ๑ พัฒนาโครงการที่ไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง ปรับปรุงประสิทธิภาพโครงการเดิมที่มีอยู่ ทางเลือกที่ ๒ พัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางที่มีศักยภาพจำนวน ๕๑ โครงการตามลุ่มน้ำสาขา ทางเลือกที่ ๓ พัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ คือ เขื่อนแม่น้ำยมและเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน ทางเลือกที่ ๔ พัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น สรุปผลการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำยม โดยประมวลความคิดเห็นจากการประชุม ๑๑๙ เวที ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ได้ผลสรุปออกมาทั้ง ๔ แนวทาง ซึ่งประชาชนร้อยละ ๙๑.๔๕ เห็นด้วยกับกระบวนการศึกษาในครั้งนี้ โดยร้อยละ ๗๒ให้ความสำคัญต่อทางเลือกที่ ๔ สูงสุด คือ การพัฒนามาตรการใช้สิ่งก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถเก็บกักน้ำได้ ๑,๑๗๕ ล้านลูกบาศก์เมตร ทางเลือกที่ ๓ การพัฒนาโครงการเขื่อนแม่น้ำยมและเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน มีความเหมาะสมด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม แต่เก็บกักน้ำได้ปริมาณประมาณ ๕๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ค่าใช้จ่ายการก่อสร้าง ๒ เขื่อนสูงกว่า แต่ทางเลือกที่ ๔ การพัฒนาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น มีความเหมาะสมด้านวิศวกรรมและด้านเศรษฐกิจมากกว่า เก็บกักน้ำได้ปริมาณประมาณ ๑,๑๗๕ ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถตอบสนองแก้ไขปัญหาอุทกภัยได้มากกว่าทางเลือกที่ ๓ แต่มีผลกระทบทางสังคมต้องอพยพประชาชนประมาณ ๑,๐๐๐ ครัวเรือน รัฐบาลต้องตัดสินใจการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยม จากผลการศึกษาโครงการพัฒนาลุ่มน้ำยมตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้กรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการศึกษา เมื่อได้ข้อสรุปแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาในรูปแบบของโครงการก่อสร้างเขื่อน จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตามทางเลือกที่ ๔ หรือทางเลือกที่ ๓ โครงการพัฒนาเขื่อนแม่น้ำยม และเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน เพื่อบริหารจัดการน้ำแก้ไขปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ลุ่มน้ำยม เป็นประจำซ้ำซาก ซึ่งเกิดจากการที่แม่น้ำยม ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำที่สามารถรับปริมาณน้ำจำนวนมากไว้ได้ ทำให้เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในจังหวัดสุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก และจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประจำทุกปี ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในลุ่มน้ำหลายล้านคนจนถึงประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนและประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำเป็นประจำทุกปีตลอดมา อันเป็นสิทธิของชุมชนที่รัฐต้องปกป้องจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบ ใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลตามนโยบายเร่งด่วนที่กำหนดให้มีการบริหารจัดการน้ำในระดับประเทศอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ รวมทั้งสนับสนุนภาคการเกษตร อันเป็นสิทธิของชุมชนและประชาชนพึงได้รับการความคุ้มครองและปกป้องจากภาครัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ข้อโต้แย้งคัดค้านการสร้างเขื่อนในเรื่องของพื้นที่ป่าไม้ในบริเวณก่อสร้างเขื่อนต้องสูญเสียไป ยังเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ถึงสภาพความสมบูรณ์ของป่าไม้ในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่มีอยู่ในขณะนี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ นำมาเป็นข้อมูลสนับสนุนสร้างเขื่อนในการพื้นที่ดังกล่าว ตามที่ฝ่ายคัดค้านการสร้างเขื่อนอ้างว่ามีพื้นที่ป่าไม้ที่ต้องสูญเสียไปไม่น้อยกว่า ๖ หมื่นไร่ ทั้งที่สภาพป่าไม้จากภาพถ่ายทางดาวเทียมเปรียบเทียบย้อนหลังกับภาพถ่ายในปีล่าสุดพื้นที่ป่าไม้ลดลงเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การก่อสร้างเขื่อนเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องตัดสินใจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของกรมชลประทานหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอย่างที่ผ่านมา มิฉะนั้นปัญหาก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด จากข้อเท็จจริงที่โครงการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมได้เริ่มพิจารณามาตั้งแต่ ปี ๒๕๒๓ จนถึงปัจจุบันนั้นเป็นเวลากว่า ๓๑ ปี ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะรัฐบาลไม่ตัดสินใจให้แน่นอน ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมและความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจเป็นเงินจำนวนมหาศาล อีกทั้งด้านเวลาที่สูญเสียไป ผลกระทบจากภัยธรรมชาติทั้งอุทกภัยน้ำท่วม ฝนแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี รวมทั้งเกิดความขัดแย้งของผู้คนในสังคมกระทบต่อสิทธิของชุมชน และประชาชนในพื้นที่ น้ำท่วมที่ต้องทนทุกข์รับสภาพความเดือดร้อน สูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน รัฐบาลจะต้องพิสูจน์ข้อมูลที่อ้างว่าการสร้างเขื่อนทำลายป่าสักทอง ตามที่กลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนอ้างว่าการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำลายพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นป่าสักทองแห่งสุดท้าย ๒.๔ หมื่นไร่ และป่าไม้เบญจพรรณ ๓.๖ หมื่นไร่ รวมพื้นที่ป่าไม้ที่ต้องสูญเสีย ๖ หมื่นไร่ สัตว์ป่าหายาก เช่น นกยูง ฯลฯ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจึงต้องพิสูจน์ความเป็นจริงว่ามีความถูกต้องประการใด เพราะข้อเท็จจริงประเทศไทยยังมีป่าสักทองขนาดใหญ่อยู่หลายแห่งโดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และสัตว์ป่าหายาก เช่น นกยูงในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย ข้อเท็จจริงตามรายงานของกรมชลประทานที่ได้ศึกษาพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นพบว่าสภาพป่าไม้จากภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายดาวเทียมในบริเวณพื้นที่แนวสร้างเขื่อน สภาพของป่าไม้ถูกบุกรุกและทำลายไปกว่า ๔ หมื่นไร่ หากไม่มีการก่อสร้างเขื่อนคาดว่า พื้นที่ป่าบุกรุกเหล่านี้อาจนำไปสู่กระบวนการครอบครองและออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดชุมชนของประชาชนในพื้นที่ การพัฒนาพื้นที่พิเศษกรณีรัฐบาลเลือกสร้างเขื่อน แม้ว่าภาครัฐจะมีแผนงานพัฒนาพื้นที่พิเศษในบริเวณสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนแม่น้ำยมและเขื่อนแม่น้ำยมตอนบนให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนก็ตาม แต่ยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัย ดังนี้ ๑) การมีส่วนร่วมของประชาชน และชุมชนในพื้นที่สร้างเขื่อน รวมทั้งประชาชน และชุมชนในพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำยมในการพิจารณาและตัดสินใจดำเนินโครงการก่อสร้างอย่างแท้จริง ๒) การเปิดเผยข้อเท็จจริงทุกๆ ด้านต่อสาธารณชน เช่น ข้อมูลเทคนิค ข้อมูลอุทกศาสตร์ ข้อมูลธรณีวิทยา ข้อมูลทางด้านนิเวศวิทยา รวมทั้งผลดีผลเสียในทุกๆ ด้านและผลประโยชน์ของการบรรเทาปัญหาของการเกิดอุทกภัย หรือปัญหาความแห้งแล้งและทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ตลอดจนสังคมเกิดทัศนคติที่ดีและให้การสนับสนุนในการดำเนินโครงการแก่งเสือเต้น ๓) รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแสดงจุดยืนและหลักการที่ชัดเจน เพื่อภาคประชาชนสามารถติดตาม ตรวจสอบถึงความโปร่งใสในการดำเนินการ ลดความหวาดระแวงของสังคมที่มีต่อรัฐบาลในกรณีมีผลประโยชน์แอบแฝงจากการผลักดันโครงการก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยม ๔) รัฐบาลต้องนำเสนอข้อเท็จจริงและเหตุผลทุกด้านในการก่อสร้างเขื่อน เพื่อขอการสนับสนุนจากประชาชน ชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมในการดำเนินการโครงการ ๕) รัฐบาลต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนและชุมชนที่จะต้องอพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน ๕.๑) สร้างความเข้าใจให้เกิดการยอมรับที่จะอพยพออกจากพื้นที่ด้วยความสมัครใจ ๕.๒) จัดสรรเงินชดเชยความเสียหายให้แก่ประชาชนบนพื้นฐานข้อตกลงร่วมกันอย่างยุติธรรมและเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ซึ่งประชาชนผู้อพยพทุกครัวเรือนต้องได้รับเงินชดเชยอย่างครบถ้วนและมีที่อยู่อาศัยพื้นที่ทำกินจัดสรรตามข้อตกลงอย่างเป็นธรรม ๕.๓) ประชาชนที่จะต้องอพยพ ต้องได้รับพิจารณาอันดับแรกจากผลประโยชน์ที่ได้จากทรัพยากรที่พวกเขาดูแลรักษามา หรือแม้แต่การจ้างแรงงานที่จะมีขึ้นในการสร้างเขื่อน ๕.๔) ประชาชนที่จะถูกอพยพ ควรได้รับกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิเข้าอยู่ในพื้นที่โดยรอบขอบอ่างที่รัฐบาลจัดสรรให้ โดยยึดความเหมาะสมทางวิชาการด้านอนุรักษ์ที่คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล ๕.๕) ประชาชนมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องสูญเสียจากการตัดป่าไม้สักเพื่อใช้พื้นที่ในการก่อสร้างเขื่อน รวมทั้งตัดป่าไม้ในบริเวณพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง โดยรัฐต้องแบ่งเงินรายได้จากการขายทรัพยากรเหล่านี้ให้แก่ประชาชน แบ่งเงินรายได้ในรูปของการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนและชุมชนในพื้นที่อพยพที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน กรณีรัฐบาลตัดสินใจไม่สร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยม รัฐบาลต้องมีนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน และการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในฤดูแล้งให้แก่ประชาชนอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนและชุมชน รวมทั้งพื้นที่การเกษตรที่เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปีในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย แพร่ พิจิตร พิษณุโลก และนครสวรรค์ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เนื่องจากตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ – ๒๕๕๑ มีมูลค่าความเสียหายจากไม่น้อยกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยจากอุทกภัยไม่น้อยกว่า ๗๕,๗๐๐ ล้านบาท รัฐต้องใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาท แต่ยังไม่รวมถึงภาคเอกชนที่ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในแต่ละปี ตลอดจนความเสียหายด้านผลผลิตทางการเกษตร ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจของชุมชนอีกจำนวนมาก กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและวิถีชีวิตของชุมชน ต้องอพยพละทิ้งถิ่นประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ต่อปี รวมทั้งระบบนิเวศวิทยาที่ไม่สามารถจะประเมินค่าได้อีกจำนวนมากจากการเกิดอุทกภัยในทุกๆปี สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของประเทศ รวมทั้งกระทบต่อสิทธิของชุมชนและสิทธิมนุษยชนของประชาชน รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจนำโครงการพัฒนาก่อสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมมาพิจารณาอย่างจริงจังและหาข้อยุติเพื่อแนวทางการพัฒนาโครงการบริหารจัดการน้ำ การกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งให้แก่ประชาชนในลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนและสิทธิของชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำยมที่เป็นต้นน้ำไหลมาสู่แม่น้ำเจ้าพระยา แต่เป็นลุ่มน้ำเดียวที่ยังไม่มีเขื่อนหรือแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำ โครงการก่อสร้างเขื่อนสำคัญ เช่น เขื่อนแก่ง เสือเต้นที่ค้างคามานานจะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง โดยให้ประชาชนในลุ่มน้ำมีส่วนร่วม เพราะเชื่อว่ากระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ (NGOs) น่าจะลดน้อยลงหลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัยอย่างหนักในปีนี้ เพื่อการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและชุมชนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆ ปี รัฐบาลต้องตัดสินใจแก้ไขปัญหาโดยคำนึงถึงความเดือดร้อนและความเสียหายของประชาชนจากอุทกภัยที่นับวันจะเพิ่มมากขึ้น การสร้างเขื่อนแม้จะไม่สามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ แต่เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้เบาบางลงได้ ข้อคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นของประชาชนในพื้นที่อพยพ จำนวน ๓ หมู่บ้าน ซึ่งมีประชาชนไม่เกิน ๑,๐๐๐ ครัวเรือน และข้อคัดค้านขององค์กรเอกชน (NGOs) ที่ป่าไม้ต้องสูญเสียไปจากการสร้างเขื่อน เทียบกับความเดือดร้อนเสียหายจากภัยพิบัติในพื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำยมหลายล้านคนที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกๆปี จึงเป็นปัญหาที่รัฐต้องพิจารณาและตัดสินใจเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมจากภัยพิบัติ อันเป็นสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนที่รัฐมีหน้าที่ต้องให้ความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ บทที่ ๓ จากลุ่มน้ำยมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา : บทวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอแนะ จากลุ่มน้ำยมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยา สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๔ ในพื้นที่ลุ่ม น้ำยมไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตรในภาคเหนือ ตลอดจนชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างแสนสาหัส ประชาชนต้องทนทุกข์ทรมานจากสภาพน้ำท่วมในระดับสูงเป็นแรมเดือน ขาดแคลนอาหาร ไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องอพยพออกจากพื้นที่ การแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เพราะขาดผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ทันต่อเหตุการณ์ และเป็นเอกภาพ ผลต่อเนื่องจากสภาวะอุทกภัยในลุ่มน้ำยมที่ไหลมาสู่พื้นที่ภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำปิง วัง น่าน ที่จังหวัดนครสวรรค์ ได้สร้างความเสียหายให้เกิดอุทกภัยตลอดพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาจนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีผลกระทบถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล สร้างความเสียหายต่อเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมทั้งประชาชนในเขตเมืองได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ส่งผลให้เศรษฐกิจได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งยังไม่รวมถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินและความเดือดร้อนของประชาชนเป็นจำนวนมาก ผู้ประสบภัยต้องรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐในรูปของการรับสิ่งของบรรเทาทุกข์ที่ภาครัฐไม่สามารถแจกจ่ายได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากมีพื้นที่อุทกภัยที่ขยายเป็นวงกว้างครอบคลุมพื้นที่หลายจังหวัด ความเสียหายยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เกิดความเสียหายต่อนิคมอุตสาหกรรม ๖ แห่ง ซึ่งเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของโลก ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานีได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เช่น นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค หยุดประกอบกิจการ ๑๔๓ แห่ง อพยพแรงงาน ๕.๑ หมื่นคนหนีน้ำ และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร หยุดประกอบกิจการ ๔๐๐ แห่ง รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมอื่นอีกหลายแห่ง ต้องปิดโรงงานรวมทั้งสิ้น ๑,๐๑๘ แห่ง กระทบต่อแรงงานไม่น้อยกว่า ๔ แสนคน และยังมีนิคมอุตสาหกรรม ในพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวน ๑,๐๘๔ แห่ง สร้างความเสียหายและกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยในครั้งนี้จำนวน ๕๓๓ ราย สูญหาย ๒ ราย ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๑,๐๕๐,๗๓๑ ครัวเรือน มีพื้นที่ประสบอุทกภัย ๒๔ จังหวัด ๑๓๖ อำเภอ ๑,๐๓๙ ตำบล วิกฤตจากอุทกภัยที่ขึ้นเกิดในพื้นที่หลายจังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล นอกจากปริมาณน้ำที่มีมากกว่าทุกๆปีแล้ว สาเหตุ หนึ่งมาจากฝีมือของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น การตัดไม้ทำลายป่า การก่อสร้างที่อยู่อาศัยในเขตที่ควรเป็นที่รองรับน้ำ การขยายตัวของชุมชนเมืองโดยไม่เป็นไปตามกฎหมายผังเมือง หรือแม้แต่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ย่ำแย่จากภาครัฐ รวมทั้งผลจากการขาดการวางแผนในบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการร่วมกันในทุกพื้นที่ของแต่ละจังหวัด เนื่องจากแต่ละพื้นที่สร้างแนวคันกั้นน้ำในเขตของตนเองเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ผลักน้ำไปยังพื้นที่อื่น ขาดการประสานงานวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกันในภาพรวมของประเทศอย่างเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่อุทกภัยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความขัดแย้งของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ประสบภัยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเท่าเทียมกันจากภาครัฐ ๓.๑ ระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติที่ต้องแก้ไข ทั้งนี้ นับวันสถานการณ์อุทกภัย ในประเทศไทยยิ่งทวีความแรงรุนเพิ่มมากขึ้น ตัวเลขจำนวนบ้านเรือน ราษฎร และพื้นที่ทางการเกษตร ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มสูงขึ้นทุกที ขณะที่ภาพรวมการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลทำได้เพียงแต่การตั้งรับมากกว่าการรุก เนื่องจากเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่ในปัจจุบันค่อนข้างจำกัด เครื่องมือบางชนิดก็ชำรุดทรุดโทรมเพราะใช้งานมานานหลายปี จึงทำให้การแก้ไขปัญหาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้ไม่สามารถผลักดันน้ำให้ไหลไปสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว จนกระทั่งอุทกภัยอยู่ในสถานการณ์วิกฤต น้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ทั้งที่หน่วยงานเกี่ยวกับการจัดการของน้ำก็ไม่ได้ให้ข้อมูลที่แท้จริงแก่ประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมากไม่สามารถป้องกันและดูแลบ้านเรือนและทรัพย์สินให้พ้นจากอุทกภัยได้อย่างทันท่วงที รัฐบาลจึงให้หน่วยงานของกองทัพ เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้า ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงต้องเน้นการบริหารจัดการน้ำภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด มีแผนการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ในภาพรวมของประเทศ แต่เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปีนี้มีจำนวนมาก บวกกับพายุไต้ฝุ่นพัดผ่านเข้ามาประเทศไทยหลายลูกและต่อเนื่อง จึงทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นอยู่ตลอด ขณะที่ช่องทางการระบายน้ำแม้จะมีอยู่ก็ไม่สามารถทำหน้าที่การระบายน้ำได้อย่างเต็มที่ เพราะสภาพของพื้นที่มีปัญหา แม่น้ำลำคลองบางสายปัจจุบันก็มีสิ่งปลูกสร้างเข้าไปกีดขวางทางน้ำทำให้น้ำไหลผ่านไม่สะดวก และต้องยอมรับความจริงกันว่าสภาพของประเทศไทยรวมถึงสภาพของโลกในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมาก เนื่องจากภาวะโลกร้อนสภาพอากาศมีความผันผวน การคำนวณเรื่องน้ำและปริมาณน้ำฝนทำได้ยากมากขึ้นกว่าเดิม จึงต้องใช้เทคโนโลยีและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาช่วยเหลือในการบริหารจัดการภัยพิบัติ รัฐบาลจึงต้องให้ความสนใจอย่างแท้จริงในการบริหารจัดการน้ำ ความแม่นยำของการพยากรณ์อากาศและการเตือนภัยอย่างทันท่วงที ต้องมีแผนระดับชาติที่จะรับมือกับวิกฤตอุทกภัย มีแนวทางที่ชัดเจนในการรับมือน้ำที่มาจากทางเหนือและระบายน้ำออกสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว มีมาตรการแก้ไขทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้เกิดอุทกภัยอย่างที่เกิดขึ้นในปีนี้ที่ขยายตัวเป็นวงกว้างจนเป็นข่าวสนใจไปทั่วโลกที่เกิดอุทกภัยในเขตนิคมอุตสาหกรรมและกรุงเทพมหานคร ทำให้เลขาธิการองค์กรด้านยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Strategy for Disaster Reduction : UNISDR) ตำหนิการทำงานของรัฐบาลไทยในการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย ที่มีหน่วยงานจัดการเรื่องอุทกภัย ๘ หน่วยงาน แต่ระบบการจัดการปัญหาในแต่ละแห่งขาดประสิทธิภาพและไม่มีแผนการจัดการภัยพิบัติต่างๆ ที่ครอบคลุมอย่างเป็นระบบ จึงเป็นการสะท้อนถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภัยพิบัติที่รัฐต้องนำบทเรียนจากอุทกภัยในครั้งนี้ ไปทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศในอนาคต อันเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้มีความปลอดภัยจากภัยพิบัติ ๓.๒ การลดผลกระทบโดยใช้สิ่งก่อสร้าง เป็นมาตรการในการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบริหารจัดการน้ำเพื่อลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและชุมชน ทำให้รัฐลดภาระค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูแก่ผู้ประสบภัยพิบัติได้อีกส่วนหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในวิถีชีวิตและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น แต่โครงการไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากถูกคัดค้านและต่อต้าน เพราะขาดการทำความเข้าใจและความร่วมมือจากประชาชน ๓.๓ การร่วมมือและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติประสบผลสำเร็จ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ปัญหาของจำนวนประชากรในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น การดำเนินการใดๆ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่หน่วยงานราชการพยายามทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำภายใต้เครื่องมือที่มีอยู่จำกัดในขณะนี้ให้มีประสิทธิภาพ จึงเป็นปัญหาและข้อจำกัดในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย ปัญหาอุทกภัยทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียเงินงบประมาณเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ในการฟื้นฟูและเยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาในแต่ละครั้ง ขณะที่แผนการลงทุนก่อสร้างเขื่อนและแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ต่างๆ มีการศึกษาและใช้งบประมาณลงทุนก่อสร้างไปในแต่ละปี เป็นจำนวนเงินหลายแสนล้านบาท ก็มีปัญหาไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานได้ เนื่องจากได้รับการคัดค้านจากประชาชนบางกลุ่ม ทั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตลอดมา จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องตัดสินใจดำเนินการหรือหาทางออกในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาพรวมของประเทศ โดยจัดทำแผนงานการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างจริงจัง ส่วนงานการก่อสร้างเขื่อนและแหล่งเก็บกักน้ำในพื้นที่ต่างๆ ตามแผนการดำเนินงานที่วางไว้เรียบร้อยแล้วนั้น จึงต้องนำมาทบทวนกันใหม่อีกครั้ง การพัฒนาโครงการใหญ่มีปัญหาเกิดจากกระแสต่อต้านโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสังคมไทย เป็นสิ่งบั่นทอนความน่าเชื่อถือของประชาชนว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา แต่มุ่งแสวงหาผลประโยชน์จากการดำเนินงานมากกว่า และการดำเนินงานแก้ไขปัญหาถูกมองว่า ฝ่ายการเมืองให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ฐานเสียงของตนเองมากกว่าพื้นที่อื่น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกย่างก้าวของภาครัฐที่ดำเนินการไปจะถูกประชาชนมองว่าทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเองมากกว่าประเทศชาติ กระแสการต่อต้านในพื้นที่จึงมีความรุนแรงมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โครงการหลายโครงการแม้จะมีความพร้อมในเรื่องงบประมาณอยู่แล้ว ก็ไม่สามารถเริ่มต้นดำเนินการได้แต่เชื่อว่า กระแสต่อต้านการสร้างเขื่อนของประชาชนในพื้นที่น่าจะลดน้อยลงหลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัยอย่างหนักในปีนี้ เขื่อนเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้เบาบางลงได้ การแก้ปัญหาอุทกภัยที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกว่า ทุกๆ ปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงมากกว่าแนวทางการทำงานแบบบูรณาการที่ไม่เพียงพออีกต่อไป ๓.๔ ความร่วมมือในการวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัย จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีนี้ ที่มีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ของประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล กว่า ๖๘ จังหวัด หน่วยงานทุกฝ่ายที่มีหน้าที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง จึงต้องหันหน้าเข้าหากัน และร่วมมือกันวางแผนการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะเชื่อว่าหน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบเรื่องน้ำที่มีอยู่หลายส่วนงานจะต้องบูรณาการในการจัดทำแผนงานในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ และในภาพรวมของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสม การปรับปรุงผังเมือง และการใช้ประโยชน์ที่ดิน การให้ความร่วมมือจากท้องถิ่นและภาคประชาชน เพราะจากอุทกภัยในครั้งนี้คงจะได้เห็นในภาพรวมแล้วว่า ปริมาณน้ำที่ไหลเข้ามาจะไหลผ่านไปพื้นที่ใด และพื้นที่ใดจะได้รับผลกระทบ โครงการก่อสร้างใดบ้างที่จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบโดยการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ใดบ้าง และโครงการใดไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการ ทั้งนี้โดยถือเอาประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อให้ชุมชน และประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ปกติสุข อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนและชุมชนที่พึงได้รับความคุ้มครองและปกป้องจากภาครัฐ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติธรรมชาตินั้น ในหลายกรณีอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น อาจเกิดจากการละเลยหน้าที่ในการแจ้งเตือนภัย เกิดจากการให้ความช่วยเหลือโดยขาดมาตรฐาน หรือเกิดจากผลของ การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของภาครัฐ ดังนั้น ภัยที่ได้รับแม้จะเป็นภัยธรรมชาติแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจจะมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมของมนุษย์และเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ของภาครัฐ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐต้องมีมาตรการและกลไกที่ชัดเจนเพื่อเป็นหลักประกันการใช้สิทธิการเรียกร้องของประชาชนในการชดใช้เยียวยาอย่างเหมาะสม และเป็นธรรมต่อความเสียหายอันเป็นผลจากพฤติกรรมดังกล่าว แม้รัฐได้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังเมื่อเกิดภัยพิบัติธรรมชาติขึ้น และเปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ แต่ปัญหาของผู้ประสบภัยก็ยังคงปรากฏอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความช่วยเหลือและการเยียวยาอย่างไม่เหมาะสมและทันท่วงที รวมทั้งมีข้อขัดข้องในทางปฏิบัติและปัญหากฎหมาย การให้ความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานในการให้ความช่วยเหลือและการประสานงานท่ามกลางวิกฤตเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง ๓.๕ ภัยพิบัติธรรมชาติเกิดขึ้นโดยไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าได้ โดยที่ในบางกรณีภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นไม่อาจคาดหมายล่วงหน้าได้ ทำให้ไม่สามารถมีการเตือนภัยได้ทุกกรณี ชีวิตและทรัพย์สินจึงขึ้นอยู่กับการเตรียมตัวป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction : DRR) ที่เหมาะสม เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับภัย การป้องกันเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการให้ความช่วยเหลือ การระบุถึงความเสี่ยงและระบบเตือนภัยล่วงหน้านับเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเสี่ยงทางภัยพิบัติ การพัฒนาการระบบแจ้งเตือนภัยเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สอดคล้องและตอบสนองกับภัยพิบัติธรรมชาติที่เพิ่มความถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นตลอดเวลา ทั้งที่ปัจจุบันเป็นยุคของโลกที่เชื่อมโยงกันด้วยข้อมูลข่าวสารที่รับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและฉับไว การเกิดขึ้นของภัยพิบัติถูกรายงานโดยทันที บางภัยพิบัติถึงกับมีการถ่ายทอดเหตุการณ์ด้วยการรายงานจากภาคสนาม การให้ความช่วยเหลือผู้ที่รับผลกระทบจึงต้องก้าวข้ามข้อจำกัดด้วยเส้นสมมุติที่เรียกว่าพรมแดน การมีส่วนร่วมให้ความช่วยเหลือของสังคมระหว่างประเทศตามหลักสิทธิมนุษยชน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งตามความเจริญของสังคมระหว่างประเทศที่ไม่สมควรนิ่งเฉยเมื่อรับทราบถึงความทุกข์ยากของผู้ประสบภัย ๓.๖ ภัยพิบัติกระทบต่อปัจเจกชนและสภาพความเป็นอยู่ ภัยที่เกิดขึ้นมีทั้งภัยพิบัติที่เกิดและยุติภายในเขตแดนของรัฐเองหรือข้ามไปยังรัฐอื่น จนนำไปสู่ความต้องการความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมของผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นระบบ เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยพื้นฐานของความสุจริต (bona fides) และใช้เป็นฐาน ในการอ้างอิงการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว จึงต้องอาศัยพัฒนาการของกฎหมายภายในที่เหมาะสมและสอดคล้องกัน เพื่อไม่ให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องเผชิญกับปัญหาทางกฎหมายที่ซ้ำซาก โครงสร้างการให้ความช่วยเหลือของรัฐ จึงควรที่จะตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของปัจเจกชนที่ได้รับผลกระทบที่กำลังมีพัฒนาการที่ชอบธรรมมากเพิ่มขึ้น และผู้ที่มีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ อาทิ ภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาภาคเอกชน และสื่อมวลชนโดยเฉพาะสถานีโทรทัศน์ที่รายงานข่าวสดจากเหตุการณ์ ซึ่งต้องยอมรับว่ามักจะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าภาครัฐ ส่งผลให้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันระหว่างประเทศหรือองค์กรบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศมีมากกว่า รวมทั้งภาคประชาชน หากแต่ก็ต้องยอมรับว่างานส่วนใหญ่ขององค์กรพัฒนาภาคเอกชนมุ่งที่จะตอบสนองต่อความต้องการเร่งด่วนของผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่ามุ่งเน้นการพัฒนาและฟื้นฟู เนื่องมาจากเหตุผลที่ว่ากิจกรรมดังกล่าวสามารถหาแหล่งเงินทุน ในการบริจาคได้ง่ายกว่าเช่นกัน ดังนั้น หน่วยงานช่วยเหลือต่างๆ จึงสมควรที่จะต้องประสานงานกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่กฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ส่วนหน่วยงานอื่นควรที่จะเป็นผู้ประสานงานในลำดับรองเท่านั้น การเรียนรู้ข้อบกพร่องที่เป็นอุปสรรค ที่ทำให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยไม่สามารถเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการภัยพิบัติดังกล่าวได้ เพื่อนำมาปรับปรุงการดำเนินงานในแต่ละท้องถิ่นต่อไป ๓.๗ การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ จำต้องอาศัยและพึ่งพาการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมอย่างรวดเร็วทั้งจากภายในประเทศ และจากระหว่างประเทศในกรณีที่เกินขีดความสามารถของรัฐ แต่ในช่วงการฟื้นฟูต้องยอมรับว่า เป็นบทบาทของรัฐเจ้าของดินแดนเป็นสำคัญโดยความเชื่อมโยงกันระหว่างช่วงของการให้ความช่วยเหลือกับช่วงการฟื้นฟู จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยนโยบายที่ชัดเจน และการประสานงานกันในภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบ จึงจะส่งผลให้การบริหารจัดการภัยพิบัติเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ๓.๘ รัฐต้องมีหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประสบภัยพิบัติสามารถได้รับความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่แน่นอนและเป็นธรรม กำหนดสิทธิของประชาชนที่พึงได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ มิใช่เป็นเพียงหน้าที่ของรัฐที่จะหยิบยื่นให้ตามแต่นโยบายของรัฐที่กำหนดขึ้นในแต่ละคราวที่เกิดภัยพิบัติ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและเป็นธรรม หากไม่ปรากฏเป็นข่าวก็ถูกละเลย การรอคอยความช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้าขาดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน จึงต้องปรับปรุงวิธีการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและบริการอื่นๆ ที่จำเป็นแก่บุคคลและครอบครัวที่ประสบภัยพิบัติ รวมถึงความช่วยเหลือด้านอื่นๆ อย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่ไม่สามารถหารายได้ หรือช่วยเหลือตนเอง จัดทำหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือหลังประสบภัยในรูปแบบคู่มือสำหรับประชาชน เพื่อให้ผู้ประสบภัยมีช่องทางขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐได้รวดเร็วและเป็นธรรม ๓.๙ กฎหมายและกฎระเบียบต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงจะเกิดความชอบธรรมและมีสภาพใช้บังคับได้อย่างแท้จริง หนทางในอนาคตของรัฐหากยังคงยึดติดกับแนวคิดเดิมโดยมุ่งที่จะใช้อำนาจรัฐตามอำเภอใจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบภัยที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้งไม่คำนึงถึงแนวโน้มของสังคมระหว่างประเทศและการปฏิบัติที่สอดคล้องกับพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการเข้าถึงทางด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Access) อย่างแท้จริง ก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีแนวคิดที่ว่ารัฐสมควรยอมรับสิทธิและอำนาจของประชาชนโดยปราศจากเงื่อนไข โครงการเสวนา เรื่อง “ สิทธิชุมชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ : กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยม” วันอังคารที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๓๐ – ๑๔.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ๑ – ๒ ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา ๒ -------------------------------- หลักการและเหตุผล โดยที่สถานการณ์ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ทวีความรุนแรงและเพิ่มความถี่มากยิ่งขึ้น อันเป็นผลการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในทุกๆ ด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่ภาครัฐมีภาระต้องจัดหางบประมาณเพื่อช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ประสบภัยเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่วนเวียนต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปี สาเหตุของความรุนแรงจากภัยธรรมชาติส่วนหนึ่งมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าและพื้นต้นน้ำ ทำให้เสียสมดุลในระบบนิเวศ ส่งผลให้เกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม กระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ สิทธิด้านอาหาร สิทธิด้านน้ำ สิทธิการกลับสู่ถิ่นฐานเดิม สิทธิการมีที่อยู่อาศัย สิทธิเครื่องนุ่งห่ม สิทธิด้านสุขภาพ ถือเป็นพันธกรณีของรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ความสำคัญในการเตรียมพร้อม เพื่อรับมือกับภัยพิบัติจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการช่วยเหลือ ระบบการเตือนภัยล่วงหน้านับเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเสี่ยงทางภัยพิบัติ รวมทั้งการสร้างระบบป้องกันในรูปของสิ่งก่อสร้าง เช่น เขื่อนกั้นน้ำ อ่างเก็บกักน้ำ แก้มลิงตามแนวพระราชดำริ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีส่วนสำคัญในการลดผลกระทบและป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศไทยมีพื้นที่ลุ่มน้ำจำนวน ๒๕ ลุ่มน้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การพัฒนาก่อสร้างระบบเก็บกักน้ำ การรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ และสภาพของป่าไม้ต้นน้ำลำธารให้มีความสมดุลเป็นส่วนสำคัญที่จะลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ และลดภาระค่าใช้จ่ายในด้านการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติของภาครัฐ ถือเป็นสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนที่รัฐต้องให้ความคุ้มครอง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในกรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยมซึ่งเป็นหนึ่งในสี่แม่น้ำหลักในภาคเหนือที่มารวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา มีพื้นที่ลุ่มน้ำรวมทั้งสิ้น ๒๓,๖๑๖ ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ ๑๐ จังหวัด มีความยาวตลอดลำน้ำ ๗๓๕ กิโลเมตร ในเขตจังหวัดพะเยาช่วงต้นน้ำมีความลาดชันมาก และลาดชันน้อยลง จนเป็นพื้นที่ราบตั้งแต่จังหวัดแพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก โดยไหลมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ แต่เป็นลุ่มน้ำเดียวที่ขาดการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม เมื่อเกิดภาวะฝนตกหนัก จึงเกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็วและรุนแรง ผลกระทบที่ตามมาตลอดระยะเวลา ๒๙ ปีที่ผ่านมา พื้นที่ลุ่มน้ำยมประสบปัญหาทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๕ – ๒๕๕๑ พบว่ามีมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า ๑๕๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยจากอุทกภัยไม่น้อยกว่า ๗๕,๗๐๐ ล้านบาท ซึ่งรัฐต้องใช้เงินช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาท และยังไม่รวมถึงภาคเอกชนที่ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในแต่ละปี ตลอดจนความเสียหายด้านผลผลิตทางการเกษตร ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจของชุมชนอีกจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและวิถีชีวิตของชุมชน ต้องอพยพละทิ้งถิ่นฐานประมาณ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ ต่อปี แต่ยังไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่สามารถป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติอย่างเหมาะสม สร้างผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและสิทธิชุมชน ในพื้นที่ลุ่มน้ำที่ประชาชนต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยนำพื้นที่ลุ่มน้ำยมมาปรับใช้เป็นกรณีศึกษา เพื่อการหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมซ้ำซากที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ที่มีความเชื่อมโยงกับความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่รัฐต้องให้ความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ รวมทั้งแนวนโยบายแห่งรัฐด้านแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้อย่างพอเพียงและเหมาะแก่การเกษตร การจัดการวางผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืน ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมการดำเนินงาน ด้านสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ร่วมกับ คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จึงเห็นควรจัดการเสวนา เรื่อง “สิทธิชุมชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ : กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยม” วัตถุประสงค์ ๑) เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง และสภาพปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมเป็นการกระตุ้นเตือนให้ภาครัฐและชุมชนได้ตระหนักถึงการหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนอย่างยั่งยืน ๒) เพื่อหามาตรการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ลดความขัดแย้งในการพัฒนาลุ่มน้ำยมระหว่างภาครัฐและประชาชนให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ชุมชนท้องถิ่น ในการอนุรักษ์และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ๓) เพื่อผลักดันให้เกิดแรงกระตุ้นด้านสังคม หน่วยงานของรัฐ และประชาชนที่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขภัยพิบัติธรรมชาติ เพื่อสร้างความเป็นธรรม และเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ชุมชน ชุมชนท้องถิ่น ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ๔) เพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ประสบภัยพิบัติธรรมชาติ ตามหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และกฎหมายรัฐธรรมนูญ ๕) เพื่อให้ประชาชน ชุมชนและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืน หน่วยงานและองค์กรที่ร่วมกิจกรรม สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตัวแทนจากองค์กรพัฒนาภาคเอกชน ตัวแทน ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และสื่อมวลชน ผู้รับผิดชอบโครงการ คณะอนุกรรมาธิการพิจารณา ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ผลที่คาดว่าจะได้รับ สมาชิกวุฒิสภา หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กร และภาคประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมซ้ำซาก ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยและการช่วยเหลือเยียวยาที่รวดเร็วและเป็นธรรม และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน โดยกรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยมเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนของประชาชนในพื้นที่ ตามนโยบายแห่งรัฐในด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยประชาชน ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน และนำข้อคิดเห็นและผลสรุปที่ได้รับจากการสัมมนาไปใช้เป็นข้อมูลในการเสนอแนะให้รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีนโยบายและแนวทางดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ อีกทั้งนำผลที่ได้รับจากการสัมมนาใช้เป็นข้อมูลเสนอแนะในการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาได้ กำหนดการเสวนา -------------------------------- เวลา ๐๘.๓๐ นาฬิกา ลงทะเบียนการเสวนา เวลา ๐๙.๐๐ นาฬิกา กล่าวรายงานการเสวนา โดย • รศ.ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม ตรวจสอบและส่งเสริม การดำเนินงาน ด้านสิทธิมนุษยชน เวลา ๐๙.๑๐ นาฬิกา พิธีเปิด โดย • นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เวลา ๐๙.๑๕ นาฬิกา การอภิปราย เรื่อง “สิทธิชุมชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ : กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยม” โดยวิทยากร คือ ๑) ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการกรมชลประทาน ๒) นายมนตรี ชนะชัยวิบูลย์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ๓) รศ.ดร.อรพินท์ เอี่ยมศิริ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ๔) ผศ.ดร. ศารทูล สันติวาสะ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๕) พลเอก สุรินทร์ พิกุลทอง อนุกรรมาธิการพิจารณา ศึกษาติดตาม ตรวจสอบและส่งเสริม การดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ดำเนินรายการโดย: นายชลิต แก้วจินดา อนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตามตรวจสอบและส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการฯ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เวลา ๑๓.๓๐ นาฬิกา สรุปผลการเสวนาและปิดการเสวนา -------------------------------- คำกล่าวรายงานการเสวนา โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ รองประธานอนุกรรมาธิการพิจารณา ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมการดำเนินงาน ด้านสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ---------------------------------------------- กราบนมัสการพระคุณเจ้า เรียนท่านสมชาย แสวงการ ประธาน คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ท่านรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สมาชิกวุฒิสภา ท่านวิทยากร ผู้เข้าร่วมการเสวนา และแขกผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน กระผม รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ รองประธานคณะอนุ กรรมาธิการพิจารณา ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ขอเรียนต่อทุกท่านว่าวันนี้เป็นเวลาดีที่ทางคณะอนุกรรมาธิการพิจารณา ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ได้พิจารณาถึงการที่ว่าเราทำงานในด้านสิทธิมนุษยชนและขณะนี้มีภัยพิบัติเกิดขึ้นในบ้านเรามากมายและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นภัยที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าเราอาจจะหลีกเลี่ยงและมีระบบบริหารจัดการที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และอาจลดปัญหาภัยพิบัติธรรมชาติลงได้บ้างแต่ก็ยังมีปัญหาอยู่อีกมากมายจากการที่เรายังขาดการดูแลและการบริหารจัดการที่ถือว่าเป็นระบบที่ดีเท่าที่ควร แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเราก็มามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหรือภัยพิบัติที่เกิดขึ้นมันมีผลกระทบต่อประชาชน ผลกระทบที่เกิดขึ้นมีทั้งในส่วนของผู้ถูกผลกระทบโดยภัยพิบัติที่เกิดขึ้น และผู้ที่ถูกผลกระทบจากการปฏิบัติ ซึ่งก็ถือว่าความเดือดร้อนในฐานะที่เป็นมนุษยชนก็ควรจะมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง การดูแลหรือการเยียวยาอะไร มากน้อยแค่ไหน เพียงใด จริงอยู่ว่าหน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็ถือว่าเป็นหน่วยที่ได้เข้าไปดูแลและทำหน้าที่ในการช่วยเหลือจัดระบบ มีอำนาจในการที่จะเข้าไปดูแลจัดระบบต่างๆ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ แต่ถามว่าผู้ได้รับผลกระทบนั้นได้รับอะไรตามสิทธิที่ควรได้ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งมากน้องแค่ไหนเพียงใด มากไปกว่านั้นก็คือ เมื่อมีการจัดระบบดูแลแก้ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะมาช่วยพิทักษ์สิทธิของผู้ได้รับผลกระทบก็อาจจะมีผลกระทบเกิดขึ้นอีกด้าน อีกมุมหนึ่งต่อผู้ที่อาจจะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติโดยตรง แต่การเข้าไปดูและจัดการแก้ไขปัญหาได้ไปดำเนินการอะไรบางอย่างที่ทำให้คนได้รับผลกระทบจากการเข้าไปแก้ไขปัญหานั้น ก็เลยทำให้เมื่อมีกรณีภัยพิบัติเกิดขึ้นแล้ว ผู้ที่ถูกกระทบจึงไม่ใช่ผู้ที่ถูกกระทบจากภัยพิบัติอย่างเดียว แต่การเข้าไปแก้ปัญหาก็อาจไปกระทบต่อสิทธิของคนอื่นด้วย เพราะฉะนั้น ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ ทั้งผู้ที่ถูกกระทบจากภัยพิบัติและผู้ที่เข้าไปดูแลแก้ไขจัดการภัยพิบัติ และทั้งผู้ที่อาจไม่ถูกปฏิบัติโดยตรงแต่เมื่อมีการบริหารจัดการแล้วก็อาจถูกกระทบสิทธิได้ เช่น กรณีการเกิดอุทกภัยที่อาจจะต้องมีการย้ายถิ่นฐาน การแก้ไขโดยการเข้าไปสร้างเขื่อนก็จะไปกระทบสิทธิของคนที่ต้องถูกกระทบจากการจัดการนั้นด้วยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่เราอาจจะไม่เคยพูดคุยกัน เราเพียงแต่มองภาพรวมในการดูแลแก้ไขปัญหาแต่ถามว่าผู้ที่ถูกกระทบจากภัยพิบัติสิทธิของเขาเป็นอย่างไร สิทธิที่จะได้รบการดูแล สิทธินี้ได้พูดถึงกันตรงไหนอย่างไร พูดไว้แค่ในกฎหมายบ้านเราหรือในระดับของที่เป็นสากลในระดับสหประชาชาติ มีการพูดเอาไว้มากมายว่าสิทธิของคนเหล่านี้ควรจะเป็นอย่างไร ควรได้รับการชดเชยมากน้อยเพียงใด อีกประการหนึ่ง ที่เริ่มพูดถึงกันมากก็คือ บางครั้งผู้ประสบภัยพิบัติอาจจะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ฉวยโอกาสในบางเรื่องบางลักษณะ ถามว่าอย่างนี้มันไปกระทบสิทธิของผู้ประสบภัยพิบัติด้วยหรือไม่ การถูกนำไปอ้างอิงเพื่อการบริจาค การไปให้ความช่วยเหลือในลักษณะเหมือนกับเป็นการช่วยเหลือเพื่อฉวยโอกาสสร้างกระแสเป็นข่าวอยู่ในสื่อ อย่างนี้ไปกระทบสิทธิของผู้ประสบภัยพิบัติหรือไม่ หลายครั้งหลายโอกาสที่เราเห็นที่รับบริจาคบอกว่าเอาไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติแต่สิ่งที่ได้รับบริจาคนั้นอาจไม่ได้ไปถึงมือผู้ประสบภัยพิบัติจริง อย่างนี้ไปกระทบสิทธิเขาหรือไม่ การเป็นข่าวของผู้ประสบภัยพิบัติและมีผู้ได้รับประโยชน์จากผู้ประสบภัยพิบัติที่เป็นข่าวนั้น โดยที่ผู้ประสบภัยพิบัติเองไม่ได้รับประโยชน์จากการแถลงข่าวเลยอย่างนี้เป็นต้น ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นสิ่งซึ่งคณะอนุกรรมาธิการฯ มองว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะได้หยิบยกเรื่องลุ่มน้ำยมขึ้นมา ลุ่มน้ำยมเป็นพื้นที่ที่มักจะประสบปัญหาเหล่านี้ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องและเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะวันนี้แต่ได้เกิดขึ้นมานานและอย่างต่อเนื่อง และยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขปัญหา ลุ่มน้ำยมได้รับการพูดถึงกันมากซึ่งวันนี้ก็ไม่ได้จะพูดกันเรื่องของการสร้างแก่งเสือเต้น แต่แก่งเสือเต้นและลุ่มน้ำยมต่างก็เป็นเรื่องที่เป็นทั้งวิกฤตและโอกาส ที่สามารถนำประเด็นเข้ามาพูดคุยมากมายรวมทั้งเรื่องของสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยได้หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เพราะฉะนั้นกรณีลุ่มน้ำยมจึงได้ถูกหยิบยกขึ้นมาในห้วงเวลาซึ่งเป็นที่รับทราบและรับรู้กันในเวลานี้ ก็คิดว่าในอนาคตจะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างไรและมุมมองในด้านสิทธิมนุษยชนควรจะต้องเป็นไปอย่างไรบ้าง เรื่องของภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เราต้องเอาใจใส่ดูแล ในช่วงเวลานี้เราได้พูดถึงปัญหาภัยพิบัติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในภาคเหนือและกำลังลงมาที่ภาคกลาง อีกสองเดือนข้างหน้าก็อาจเกิดขึ้นกับภาคใต้ก็คงจะไม่แพ้กัน ปีที่แล้วภาคใต้มาก่อนและมาเร็ว คือช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งไม่เคยเกิด เมษายนซึ่งเป็นหน้าแล้งก็เกิดน้ำท่วมที่จังหวัดสงขลา วันนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องของการเกิดภัยพิบัติที่มันค่อนข้าง จะผิดเวลา ผิดโอกาส ผิดอะไรมากมาย แต่เราก็อยากจะหยิบประเด็นของผู้ถูกกระทบจากภัยพิบัติและสิทธิของผู้ถูกกระทบจากการเข้าไปแก้ไขปัญหา สิทธิของผู้ถูกกระทบจากการที่ถูกฉวยโอกาส บนความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาเป็นโอกาสของการสร้างกระแสที่บางครั้งผู้ถูกกระทบกลายเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว บัดนี้ได้เวลาอันสมควรแล้ว กระผมจึงใคร่ขอขอเรียนเชิญ ท่านสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวเปิดการเสวนาเพื่อเป็นเกียรติแก่การเสวนาในครั้งนี้ ขอเรียนเชิญครับ. ---------------------------------------------- คำกล่าวเปิดการเสวนา โดย นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ---------------------------------------------- กราบนมัสการพระคุณเจ้า ขอบคุณท่านรองศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ชิตพงศ์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษา ติดตาม ตรวจสอบและส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน ท่านสมาชิกวุฒิสภา ท่านสาย กังกเวคิน ท่านเจริญ ภัคดีวานิช ท่านประวัติ ทองสมบูรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ท่านชลิต แก้วจินดา ท่านรองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ท่านวิทยากร และแขกผู้มีเกียรติซึ่งหลายท่านได้เดินทางมาจากหลายจังหวัด กระผม นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ใคร่ขอขอบคุณอนุกรรมาธิการฯ และชื่นชมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ได้ร่วมแรงกันจัดการเสวนาในครั้งนี้ขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้เราเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า ๒๖ จังหวัดทั่วประเทศ มีผู้เสียชีวิตแล้วไม่น้อยกว่า ๑๑๒ ราย มีพื้นที่ทางการเกษตรและประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และภาวะเช่นนี้เป็นภาวะที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี ทั้งทางภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ สลับกันเช่นนี้ทุกปีในที่สุดแนวโน้มก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนและการที่เราได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติไปมากมาย การหยิบยกประเด็นศึกษาลุ่มน้ำยมซึ่งถือว่าเป็นลุ่มน้ำเดียวในขณะนี้ที่อาจจะขาดการบริหารจัดการ และก็มีการยกประเด็นเรื่องแก่งเสือเต้นขึ้นมา รวมถึงเขื่อนอีกสองเขื่อนและอาจยังมีประเด็นอีกมากมาย เช่น ในแง่ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในการจัดการน้ำทางการเกษตรทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมยามน้ำหลาก และปัญหาน้ำแล้งในยามน้ำแล้ง ปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เข้าใจว่าที่ประชุมแห่งนี้จะได้พูดคุยและศึกษาร่วมกัน รวมถึงมีการนำเสนอแนวทางต่างๆ ต่อที่ประชุมและคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งจะได้นำเสนอต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เพื่อเสนอไปยังรัฐบาลผ่านวุฒิสภาต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับการจัดการน้ำมีหลากหลายวิธีและเราก็มีตัวอย่างของความสำเร็จและความล้มเหลว เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันก็มาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนที่ประสบความสำเร็จ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.นครนายก ซึ่งเมื่อสองวันก่อนที่กรมชลประทานได้เข้าเฝ้าพร้อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชื่นชม ๕ โครงการลุ่มน้ำที่ได้สร้างคุณนูประการและแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงพระองค์ท่านเองก็ทรงห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ดังนั้น ประเด็นเหล่านี้จึงเป็นประเด็นที่ต้องขบคิดตามว่าการใดที่เรานำเรื่องการจัดการน้ำของพระองค์ท่านมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้อง ก็เป็นสิ่งที่น่าจะได้รับความชื่นชม และเราอาจจะต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง แต่อาจได้มาซึ่งสิ่งที่อาจจะเป็นประโยชน์ในอนาคต ขณะเดียวกันก็ยังมีประเด็นว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนบางปะกงหรือเขื่อนปากมูลซึ่งก็เป็นปัญหาก็มีหลายพื้นที่ เพราะฉะนั้น ผมก็กราบเรียนว่าคณะกรรมาธิการฯ ได้เป็นห่วงถึงปัญหาเรื่องสิทธิของชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ห่วงทั้งสิทธิของชุมชนที่อยู่อาศัยและการที่เขาเหล่านั้นจะต้องถูกย้ายถิ่นฐานหรือถูกย้ายออกจากพื้นที่ว่าน่าจะมีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดในการดูแลบุคคลเหล่านั้น ที่ผ่านมาก็มักจะปล่อยปละละเลยจนกระทั่งเกิดปัญหาตามหมุนเวียนกันมาหลายรอบ ต้องกราบเรียนว่าปัญหาเหล่านี้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีกและก็วนเวียนมาหลายสิบกว่าปี ประการหนึ่งคือการขาดความกล้าตัดสินใจที่จะลงมือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ประการที่สองคือความไม่แน่นอนของการเมือง หรือประการที่สามนักการเมืองเองก็มาแล้วก็จากไปแต่ปัญหาของบ้านเมืองยังอยู่ เพราะฉะนั้นการใดที่ตัดสินใจแล้วเสี่ยงจะเกิดผลกระทบต่อสถานะทางการเมืองของรัฐบาลก็มักจะไม่กล้าตัดสินใจ ทั้งหมดล้วนเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องคิดร่วมกันและหวังว่าการเสวนาในวันนี้ซึ่งท่านชลิต แก้วจินดา และวิทยากรทุกท่านจะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าร่วมเสวนา อันจะก่อให้เกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์และนำไปสู่การเสนอเป็นหนทางในการแก้ปัญหาของลุ่มน้ำดังกล่าว กระผมจึงถือโอกาสนี้ ขออำนวยพรให้การเสวนาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้ทุกประการ ขอบคุณครับ ---------------------------------------------- สรุปการอภิปรายของวิทยากร “สิทธิมนุษยชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ : กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยม” -------------------------------- นายชลิต แก้วจินดา อนุกรรมาธิการพิจารณา ศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ และส่งเสริมการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชน และผู้ดำเนินรายการ : ขอขอบคุณท่านผู้มีเกียรติทุกท่านที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนาในวันนี้ สำหรับช่วงนี้จะเป็นการอภิปราย เรื่อง“สิทธิมนุษยชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ : กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยม” ซึ่งมีวิทยากรหลักที่ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง โดยแต่ละท่านต่างก็มีแง่มุมเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนเกี่ยวกับสภาพปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในลุ่มน้ำยม ดังนี้ ผศ.ดร.ศารทูล สันติวาสะ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น มักจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินไม่ว่าจะเป็นของชุมชนหรือของคนทั่วไป ประเด็นมีอยู่ว่าทำอย่างไร หรือเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ หรือลดน้อยลง โดยใช้มาตรการหรือเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินการภาครัฐ ประเด็นมีอยู่ว่าในการดำเนินการเพื่อการบรรเทาหรือลดผลกระทบจากภัยพิบัติเป้าหมายจริงๆ คืออะไร นั่นคือเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบุคคลในระดับหนึ่งและกลุ่มของชุมชนด้วย เพราะฉะนั้นในการดำเนินมาตรการดังกล่าว จุดศูนย์กลางของการดำเนินการจะอยู่บนพื้นฐานของการคำนึงถึงการเคารพสิทธิของตัวบุคคล เราถือว่าถ้ามีชุมชนก็ต้องคำนึงถึงสิทธิชุมชนด้วยว่าการดำเนินการต่างๆ ต้องอยู่บนพื้นฐานการเคารพสิทธิของบุคคลและของชุมชน สำหรับเรื่องของสิทธิมนุษยชนไม่ได้หมายความว่าเมื่อรัฐมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือปกป้องและลดผลจากภัยพิบัติก็หมายถึงว่ารัฐได้ทำหน้าที่พอแล้ว ส่วนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ในการช่วยเหลือเยียวยาแม้จะเป็นสิ่งที่ดีแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป และไม่ได้หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นเพียงพอแล้ว ไม่ต้องมีอะไรมาขึ้น ไม่ต้องมีอะไรมาควบคุม เพราะว่าอย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่าการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่ดีแต่ถ้าไม่มีมาตรการที่ใช้ควบคุมหรือประเมินผล ก็อาจมีสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ ในประเด็นแรก ได้แก่ เรื่อง“สิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน”เวลาเราพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ก็คือ บรรดาสิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่ถือกันว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ไม่ใช่สิ่งที่รัฐมอบให้ ถ้าบอกว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิ่งที่รัฐให้โดยอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายที่ออกโดยรัฐสภา หมายความว่าการที่ประชาชนจะได้อะไรก็ต้องรอแต่อำนาจรัฐมอบให้ซึ่งไม่ใช่ ดังนั้น หลักสากลจึงเป็นที่ยอมรับว่าบุคคลย่อมมีสิทธิของความเป็นมนุษย์อยู่แล้ว ในด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เฉพาะบุคคลเท่านั้นที่มีสิทธิ เมื่อบุคคลรวมกลุ่มกันเป็นชุมชน จะเป็นชุมชนตามพื้นที่ก็ตามหรือเป็นชุมชนที่มีลักษณะที่ไม่เป็นพื้นที่ก็ตาม แต่ว่าอาจจะใช้คำว่าชุมชนได้เช่นเดียวกัน คือมีลักษณะจุดร่วมหรือต้องมีผลประโยชน์ร่วม เช่น มีวัฒนธรรมที่เป็นเอกภาพ มีเอกลักษณ์ หรือมีศาสนาร่วมกัน ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องของพื้นที่เสมอไป ลักษณะพิเศษของการรวมกลุ่มเป็นชุมชนของบุคคลเหล่านี้ กฎหมายยอมรับชุมชนนี้มีสิทธิที่จะต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ แต่การอ้างสิทธิชุมชนนี้มีข้อพึงระวังว่าต้องเป็นสิทธิของชุมชนที่แท้จริง คือมีผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน ไม่ใช่ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะยกขึ้นมากล่าวอ้าง เพราะฉะนั้น สิทธิชุมชนจึงจะต้องสะท้อนผลประโยชน์ร่วมอย่างแท้จริงและจะต้องตอบสนองผลประโยชน์ของชุมชนนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การกล่าวอ้างโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้รับรองสิทธิชุมชนไว้ในหลายมาตราด้วยกัน ทั้งเรื่องการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเข้าไปรับฟัง รับรู้หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจการภาครัฐก็ดี หรือการมีบทบาทในการรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชนนั้นๆ จากการดำเนินการของภาครัฐ เพราะฉะนั้น ชุมชนจึงมีบทบาทอย่างยิ่งในเรื่องของการดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องของการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติจนถึงขบวนการต่างๆ ในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เช่น การกำหนดนโยบาย การดำเนินการหรือระดับของการตรวจสอบของการดำเนินงานในภาครัฐ ทั้งนี้ เมื่อชุมชนมีบทบาท ประเด็นก็มีอยู่ว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมของชุมชนนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญได้กล่าวไว้ข้างต้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ ชุมชนหรือผู้แทนของชุมชนจะมีบทบาทอย่างไรบ้าง ในพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับรองบทบาทของชุมชนและของประชาชนไว้ส่วนหนึ่งซึ่งถ้าดูจากโครงสร้างของกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรง จะเห็นได้ว่ามีลำดับการกำหนดนโยบายในเรื่องของการจัดทำแผนและส่วนของการปฏิบัติการช่วยเหลือ เมื่อมองโครงสร้างของกฎหมายว่าประชาชนอยู่ตรงส่วนไหนของกฎหมายฉบับนี้ ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่ามีโครงสร้างคล้ายกับกฎหมายทั่วๆ ไปของประเทศไทย คือ การกระจายแบบแบ่งสรรอำนาจหน้าที่ของภาครัฐเป็นหลักซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่คิดว่ายังขาดในกฎหมายฉบับนี้คือเมื่อผู้รับประโยชน์ที่แท้จริงคือประชาชน ดังนั้น ถามว่าทำไมฐานของการรับรองสิทธิของกฎหมายจึงยังไม่ได้พูดถึงประชาชนเท่าไรนัก ก็อาจมีบ้างในเรื่องของการกำหนดนโยบายถ้าเห็นสมควร คณะกรรมการก็อาจเปิดให้ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นได้หรือในเรื่องของการจัดทำแผนที่มีความจำเป็นก็มีการเรียกประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ ในระดับท้องถิ่น ภาคประชาสังคมก็มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการและการช่วยเหลือเยียวยามีประเด็นสำคัญ คือเมื่อเวลามีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ถามว่าการขนย้ายสิ่งของหรือการอพยพถิ่นฐานชั่วคราวหรือถาวรในบางกรณีก็ดีจะทำไปโดยอำเภอใจได้หรือไม่ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงและยึดเป็นพื้นฐานจะมีปัญหาประการหนึ่งคือด้านกฎหมายลายลักษณ์อักษรของประเทศไทยที่กล่าวถึงการประกันสิทธิไว้ ทั้งในเรื่องของการป้องกันและเยียวยาภัยพิบัติ ไม่ว่าภาครัฐก็ดีหรือภาคเอกชนที่มีบทบาทเกี่ยวข้อง ต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนของบุคคลและของชุมชนอยู่ตลอดเวลา ว่าสิทธิของเค้ามีอะไรบ้างและจะต้องไม่ไปละเมิดสิ่งเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น การแจกจ่ายทรัพย์สิน สิ่งของในการให้ความช่วยเหลือ บางทีมีการแจกจ่ายไป มีการระดมทรัพย์สิน แต่แจกจ่ายไปไม่ตรงกับความต้องการเร่งด่วนของพื้นที่นั้นๆ อันนี้ก็เป็นปัญหาเหมือนกันว่าแจกจริง แต่ประโยชน์ได้เกิดขึ้นกับบุคคลต่างๆ จริงหรือเปล่า หรือว่าไปแจกอาหารแต่ประเภทของชุมชนนั้นมีข้อจำกัดในเรื่องของศาสนาและวัฒนธรรม แล้วถามว่าเค้าจะที่ได้ประโยชน์จริงหรือไม่ หรือว่าการระดมทุนการมีส่วนร่วมของประชาชน องค์กรภาคธุรกิจ องค์กรสื่อ ได้มีการนำเงินไปใช้ในกิจกรรมเพื่อช่วยเหลืออย่างไร มีการไปควบคุมตรงนี้บ้างหรือไม่ หรือการควบคุมการใช้จ่ายเงินว่ามีความโปร่งใสมีกลไกการตรวจสอบ มีการที่จะต้องรายงานผลของการดำเนินการอย่างไร จะมีวิธีใดหรือไม่ที่เป็นการลดผลกระทบอย่างยั่งยืน อันนี้ก็ต้องไปดูเรื่องของการป้องกันล่วงหน้า ได้แก่การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติซึ่งก็มีอยู่หลายวิธี ซึ่งในกฎหมายก็ได้กำหนดให้ภาครัฐมีนโยบายในการเตรียมการล่วงหน้า การให้ความรู้ การเตรียมความพร้อมในการรับมือ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าถ้าการมีส่วนร่วมจะเป็นประโยชน์จะต้องเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ให้สามารถสื่อสารได้ว่าทำอย่างไร แต่การป้องกันในระยะยาวคงต้องอาศัยสิ่งปลูกสร้างบางอย่าง เช่น การก่อสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำ ถามว่าสิ่งเหล่านี้จำเป็นหรือไม่ คงตอบได้ยากว่าวิธีการดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เนื่องจากในตัวของสิ่งปลูกสร้างนั้น จะมีประโยชน์ในตัวของมันเองก็ต่อเมื่อมีการประเมินหรือวิเคราะห์แล้วว่าจะสมประโยชน์กับทุกภาคส่วนและแก้ไขปัญหาได้จริง สำหรับประเด็นการสร้างสิ่งปลูกสร้างกับปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีปัญหา แต่เป็นปัญหาระดับโลกที่เมื่อจะมีการสร้างเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำเมื่อไหร่ ก็จะมีเสียงคัดค้านมาตลอดว่า อาจส่งผลกระทบกับคนกลุ่มหนึ่งเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง หรือส่งผลกระทบในเรื่องต่างๆ ตลอดจนไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว แต่สิ่งที่ไปเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนคือว่าการสร้างสิ่งก่อสร้างมีผู้ถูกกระทบซึ่งเป็นคนที่อยู่ในท้องถิ่นในชุมชน ทำให้พื้นที่การทำกิน ทรัพย์สิน วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป ประเด็นมีอยู่ว่าถ้าเอาเรื่องของสิทธิมนุษยชนเข้ามาจับ หมายความว่าถ้ามีโครงการการก่อสร้างแล้วไปกระทบสิทธิเหล่านี้จะกระทำไม่ได้เลยหรือไม่ ซึ่งก็คงจะไม่ใช่ สิทธิมนุษยชนอาจต้องเป็นเรื่องของกระบวนการที่โปร่งใสตามหลักนิติธรรมประการหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือว่าการดำเนินการต่างๆ ถ้ามีผู้เสียหายหรือเมื่อเกิดความเสียหาย ก็อาจจะต้องมีกระบวนการชดเชยหรือเยียวยาที่เหมาะสม เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือการทำอย่างไรที่จะให้เกิดกลไกกระบวนการที่โปร่งใสและเป็นธรรมอย่างแท้จริง ในเรื่องของการประเมินว่าการแก้ไขปัญหาระยะยาวโดยสิ่งปลูกสร้างจะทำให้เกิดผลอย่างไรและแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ และต้องเป็นผลประโยชน์ของผู้ที่อาจจะถูกกระทบโดยเบื้องต้นเองด้วยก็ได้ ดังนั้นสรุปว่า จะต้องมีกระบวนที่มีส่วนร่วมของชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชนหมายความว่าในการกำหนดนโยบายต้องมีการปรึกษาหารือกับชุมชนโดยเป็นการหารือกับหลายฝ่ายของชุมชนไม่ใช้เฉพาะผู้นำชุมชน แต่ต้องสะท้อนเสียงส่วนใหญ่ของชุมชน แล้วสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเผชิญหน้าทั้งการเผชิญหน้าระหว่างคนในชุมชนกับภาครัฐ และการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มต่างๆ หรือชุมชนกับชุมชนเอง ดังนั้น กระบวนการที่สำคัญอีกประการคือการเจรจาอย่างสันติ ซึ่งจะนำมาซึ่งการบ่งชี้ผลประโยชน์ที่แท้จริงของชุมชน. นายประทีป กีรติเรขา รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย: ภาพรวมของสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ขณะนี้เกิดขึ้นแล้วครอบคลุม ๕๕ จังหวัด และยังคงสถานการณ์ในภาคเหนือ ๒๕ จังหวัด มีประชาชนเสียชีวิตไปแล้ว จำนวน ๑๒๓ คน สูญหาย ๒ คน เรื่องอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำยมช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา คือ ปี พ.ศ.๒๕๔๙- ๒๕๕๓ มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ ๕๓ และ ๗๔ จังหวัด ตามลำดับ มูลค่าความเสียหายปี ๕๓ ประมาณ ๑ หมื่นล้านบาท ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีงบประมาณในปี ๒๕๕๔ ในขณะนี้ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือไปแล้ว ๕๕๔ ล้านเศษ และอาจเพิ่มมากขึ้น โดยเงินในส่วนนี้คือเงินที่รัฐบาลวางไว้ที่กระทรวงการคลังเรียกว่าเงินทดรองราชการ ส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและจะต้องใช้ ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตร กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้รับผิดชอบวงเงินในส่วนนี้และช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ซึ่งที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของอุทกภัย ส่วนภัยแล้งในปี ๕๔ นี้ ใช้ไปประมาณ ๑๐๐ กว่าล้านบาท ส่วนมากเป็นเรื่องพืชฤดูแล้งและการเพาะปลูก เป็นการช่วยเหลือด้านการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีเงินอีกก้อนหนึ่งที่เรียกว่าเงินงบกลาง คือเงินที่ใช้ในเรื่องเงินฉุกเฉินหรือเงินทดรองไม่ได้ก็จะมาใช้เงินในส่วนของงบกลาง เป็นเงินเฉพาะหน้า เช่น เงินสงเคราะห์คน ชดเชยค่าเสียหาย แต่ถ้าเป็นการดำเนินการตามโครงการใหญ่ๆ จะไปใช้เงินส่วนนั้นไม่ได้ก็จะต้องมาใช้เงินงบกลาง ต้องผ่านความเห็นชอบ ปีที่แล้วมีการใช้เงินงบกลางไป ๔๕๗ ล้านบาท ส่วนปี ๕๓ ใช้ไป ๕๕๕ ล้านบาท อันนี้เฉพาะเรื่องซ่อมแซมสิ่งสาธารณะประโยชน์ และกระทรวง กรมต่างๆ ก็มีส่วนใช้ ทั้งนี้ที่นำเสนอเป็นการรวบรวมเฉพาะที่ใช้ผ่านช่องทางของการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในขณะนี้การดำเนินการของรัฐบาลได้มีการยึดนโยบายตามแผนป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ และในลักษณะการบูรณาการ one stop service คือ เริ่มตั้งแต่การเตรียมการ การเผชิญเหตุ การเยียวยาฟื้นฟู การแก้ไขในระยะยาว ในขณะนี้เราอยู่ในช่วงของการเผชิญเหตุ และการเยียวยาฟื้นฟูไปในคราวเดียวกัน ในเรื่องของการเยียวยาขณะนี้อย่างแรกที่รัฐบาลได้ช่วยคือ การเยียวยาความเสียหายครอบครัวละ ๕,๐๐๐ บาท กรอบแรกที่อนุมัติช่วยเหลือ จำนวน ๑๗๔,๓๘๓ ครัวเรือน โดยเริ่มแจกจ่ายแล้วกำหนดให้แล้วเสร็จภายใน ๔ วัน ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการแจกจ่ายแล้วเสร็จก่อนล่วงหน้า คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ก็จะได้แจกจ่ายจนครบถ้วน ในขณะเดียวกันประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนนอกเหนือจากกลุ่มแรกก็จะทำการสำรวจและกำหนดส่งรายชื่อภายในวันที่ ๒๖ กันยายนนี้ และจะนำส่งรายชื่อไปยังธนาคารออมสินเพื่อแจกจ่ายต่อไป การช่วยเหลือนี้เป็นการช่วยเหลือในทันที นอกเหนือจากการแจกข้าวสารอาหารแห้งซึ่งเป็นการช่วยเหลือเป็นประจำปกติ ในส่วนอำนาจหน้าที่ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่เกี่ยวกับชุมชนโดยเฉพาะคือการเตรียมความพร้อมของชุมชน คือเนื่องจากชุมชนเป็นฐานสำคัญ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยชุมชนเป็นฐาน โดยให้ชุมชนเป็นคนดำเนินการเองและกรมฯ เข้าไปให้ความรู้ เช่น การเน้นหนักไปยังหมู่บ้านเสี่ยงภัยซึ่งมีอยู่ประมาณ ๓-๔ พัน หมู่บ้านทั่วประเทศ จากเหตุดินโคลนถล่มหรือน้ำป่าไหลหลาก อย่างแรกคือการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยในพื้นที่หมู่บ้าน และให้มีการคุยกันเองว่าใครจะทำเรื่องอะไร แล้วมีการอบรมมิสเตอร์เตือนภัยให้เกี่ยวกับอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ มีการซ้อมอพยพ เพราะกรมฯ เข้าใจดีว่าในส่วนของรัฐบางครั้งอาจเข้าไปไม่ถึง ดังนั้น จึงพยายามเสริมให้ชุมชนช่วยตัวเองในขั้นต้น ขณะนี้การอบรมดังกล่าวสำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้อบรมไปแล้ว คือ จังหวัดพะเยา น่าน ตาก กำแพงเพชร จนกระทั่งถึงนครสวรรค์ แม้งบประมาณที่มีอยู่จะทำได้เพียงเท่านี้แต่ก็พยายามกระจายสู่ท้องถิ่น ทั้งนี้ ท้องถิ่นจะต้องนำไปขยายผลในเรื่องเหล่านี้ นอกจากในเรื่องของการอบรมชุมชนดังที่กล่าวแล้ว กรมฯยังมีการฝึกอบรม อพปร. ซึ่งเมื่อได้ อพปร. ก็จะกระจายลงพื้นที่หมู่บ้านต่างๆ รวมเป็นตำบลๆ ละ ๑ ทีม เรียกว่า “๑ ตำบล ๑ ทีมชีพกู้ภัย” ให้ทีมนี้จะทำงานร่วมกับ อบต. เพราะนายก อบต. เป็นผู้นำป้องกันภัยท้องถิ่น คนเหล่านี้มีหน้าที่ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในเบื้องต้น บางแห่งอาจมีรถกู้ภัยขึ้นอยู่กับความพร้อมของท้องถิ่นเป็นหลัก นอกจากนั้น จะมีเรื่องของการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยโดยใช้ระบบจีไอเอส โดยให้นักวิชาการลงไปดูพื้นที่ มีการจัดทำแผนผังการจำลองเหตุการณ์กรณีเกิดฝนตกเพื่อวัดปริมาณน้ำฝน และจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จประมาณ ๓,๐๐๐ จุดทั่วประเทศ แต่มีอุปสรรคปัญหาที่การคาดการณ์พยากรณ์อากาศทำได้เพียงประมาณ ๓ วัน ที่พอจะอ่านค่าได้ ถ้าหากว่ามีความสามารถในการคาดการณ์ได้อย่างชัดเจนล่วงหน้าประมาณ ๗ วัน การดำเนินการในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องการเตือนล่วงหน้าก็น่าจะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น ในส่วนกฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปี ๒๕๕๐ ได้รับการออกแบบมาให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยแรกที่มีหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และมีผู้อำนวยการท้องถิ่น ได้แก่ นายก อบต. เทศบาล ตำบล เมืองนครต่างๆ มีหน้าที่จัดทำแผนป้องกัน ช่วยเหลือและเยียวยาในเบื้องต้น ขั้นที่ ๒ คือระดับอำเภอ เป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่ต้องบูรณาการพื้นที่ทุกภาคส่วนของอำเภอ ต่อมาคือผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดก็จะระดมบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดรวมถึงมณฑลทหารบกในพื้นที่ โดยผู้รับผิดชอบคือผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่ในกรณีที่มีเหตุภัยพิบัติอย่างยิ่งก็อาจให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจไปบัญชาการสั่งการเอง กฎหมายฉบับนี้กำหนดว่าทุกภาคส่วนจะทำหน้าที่ตรงไหนซึ่งนอกจะแบ่งพื้นที่ และแบ่งตัวผู้ที่รับผิดชอบมอบหมายแล้ว ก็ยังเขียนว่าให้มีแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตั้งแต่แผนชาติ แผนจังหวัด แผนอำเภอ และแผนท้องถิ่น ซึ่งในแผนนั้นก็จะแบ่งส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดภายใต้การดูแลของบุคคลที่ได้รับมอบหมาย การบูรณาการเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นถ้าแผนได้มีการดำเนินการตามแผน แต่ปัญหาที่ติดขัดในขณะนี้ คือ ปัญหาของการไม่เป็นไปตามแผนเพราะเหตุที่เกิดมีความรุนแรง ฉุกละหุกหรือฉุกเฉิน หรือขาดอุปกรณ์ที่ใช้ไม่เพียงพอ เช่น แผนป้องกันน้ำท่วม เห็นว่าทุกอำเภอมีแผน แต่ขาดเรือมีไม่พอแม้ว่าทุกภาคส่วนจะพยายามหาคำถามว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อยู่ตรงไหนของกฎหมาย ต้องกล่าวว่า กรม ปภ. เป็นหน่วยงานกลาง ในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศให้มีประสิทธิภาพ มีหน้าที่ในการประสานงานบูรณาการทุกภาคส่วน ก็จะเห็นชัดว่ากรมฯ ไม่มีหน่วยในการปฏิบัติแต่จะมีเพียงศูนย์เขต จำนวน ๑๘ ศูนย์เขต ซึ่งแปลงมาจากศูนย์ รภช. เดิม และนี่คือโครงสร้างทั่วไปของการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศไทยในขณะนี้. นายมนตรี ชนะชัยวิบูลย์รัตน์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย: สิ่งที่สำคัญของการบริหารเรื่องสาธารณภัยของประเทศ คือ การให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนดำเนินไปโดยปกติสุขและต่อเนื่องเท่าที่เป็นไปได้ แต่จากข้อเท็จจริงเรื่องของภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ ดังนั้น จึงมีแนวทางอย่าไรในการป้องกันและแก้ไขปัญหา สิ่งสำคัญที่ทุกคนควรคำนึงถึงในเรื่องแรก คือ เรื่องของสิทธิและหน้าที่ไปพร้อมๆ กัน รวมทั้งกฎหมายหลักของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๕๐ ได้บัญญัติถึงหน้าที่ของบุคคลที่จะต้องดำเนินการ คือ ในมาตรา ๗๓ การช่วยเหลือและป้องกันบรรเทาสาธารณภัยสาธารณด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการตระหนักอันจะนำมาสู่กระบวนการของการมีส่วนร่วม ข้อมูลที่จะเพิ่มเติม คือ เรื่องของงบกลางและมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๓๐ สิงหาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปรับราคาการชดเชยเรื่องความเสียหายในพืชไร่และพืชสวนประมาณ ๓ เท่า ด้านปศุสัตว์มีการชดเชยให้มากขึ้น ในกรณีวันที่ ๖ กันยายนที่ผ่านมามีมติการให้ความช่วยเหลือภายใน ๑๔ วัน ซึ่งจากเดิมในช่วงที่ผ่านมาจะต้องชดเชยให้ผู้ประสบภัยรายละ ๕,๐๐๐ บาท ภายใน ๙๐ วัน ก็จะมีการปรับเวลาให้เร็วขึ้น ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับค่าชดเชยเพิ่มขึ้น จำนวน ๑,๕๐๐ ครัวเรือน ทั้งนี้ ในส่วนที่เพิ่มใหม่ในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท. ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน: สถานการณ์น้ำในปัจจุบัน จะมองในเรื่องของโครงข่ายน้ำทั้งหมดตั้งแต่ข้างบนลงข้างล่างไม่ว่าจะเกิดขึ้นข้างบนแล้วกระทบต่อข้างล่าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นข้างล่างจะไม่กระทบถึงข้างบนแต่จะกระทบทางอ้อมเท่านั้นเอง ดังนั้น ผลกระทบจึงอาจแบ่งเป็นรูปแบบต่างกรรมต่างวาระ ถัดมาคือเรื่องของสถานการณ์น้ำในปัจจุบันถ้าพิจารณาจะเห็นว่าอ่าวเก็บน้ำขนาดใหญ่ของประเทศไทยจำนวน ๓๓ แห่ง มีความจุมากกว่า ๑๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีทั้งกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตให้การดูแล ทั้งนี้ เมื่อประมาณ ๒-๓ สัปดาห์ที่ผ่านมา มีอ่างเก็บน้ำที่มีตัวเลขน้ำที่สูงกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนสิริกิตติ์ และแควน้อยที่มีปริมาณน้ำมากกว่า ๙๕เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่าน้ำได้ไหลออกจากเขื่อนประมาณ ๒๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน และเข้ามาในเขื่อนประมาณ ๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน สำหรับในภาคเหนือจะเห็นว่า น้ำทั้งหมดที่เข้ามาในลุ่มน้ำภาคเหนือที่เห็นชัดเจนคือ ไหลเข้า ๒๐๐ และไหลออก ๑๕๑ ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน กักเก็บน้ำประมาณวันละ ๔๑ ล้านลูกบาศก์เมตร/วัน ดังนั้น เขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากกว่า ๙๕ เปอร์เซ็นต์ เพื่อความปลอดภัยแล้วจะต้องรักษาระดับน้ำให้คงที่เสมอเพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำยมไม่ค่อยมีปัญหาในการควบคุมน้ำในอ่างเก็บน้ำเท่าใดนัก แต่จะมีปัญหาในส่วนของตอนล่างที่เขื่อนสิริกิตติ์กับแควน้อยที่มีน้ำไหลออกปริมาณมาก ในด้านน้ำยมเองก็มีการไหลเอ่อระบายออกไม่ทัน จากที่กรมชลประทานพยายามระบายน้ำออกจากลุ่มน้ำให้ได้วันละประมาณ ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ด้านลุ่มน้ำยมตอนล่างก็ไม่สามารถระบายออกได้ ดังนั้น สถานการณ์ล่าสุดในปัจจุบัน คือ ที่จังหวัดนครสวรรค์อันเป็นจุกรวมของแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน มีปริมาณน้ำกว่า ๔,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งถ้าลองประเมินแล้วถือสิ่งบอกเหตุว่าเป็นปัญหากับลุ่มน้ำยมตอนล่าง และที่เขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณน้ำประมาณ ๓,๗๐๐ ลูกบาศก์เมตร ถามว่าน้ำบางส่วนหายไปไหน หายไปในสองฝั่ง คือฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของจังหวัดชัยนาท เข้าสู่เขื่อนป่าสัก จังหวัดลพบุรี โดยที่มีบางเขื่อนพยายามที่จะลดการระบายน้ำลง คือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งในขณะนี้เขื่อนป่าสักก็เต็มแล้ว พอมาฝั่งตะวันตกทางท่าจีน ตอนนี้ระบายเต็มที่ ๒๐๐ กว่า ลูกบาศก์เมตร/นาที จะเห็นว่าขีดความสามารถของระบบปัจจุบันเป็นที่พิสูจน์ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิประเทศมีผลกระทบอย่างยิ่ง ในขณะที่ลักษณะทางกายภาพของแม่น้ำสายหลัก ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน ยังคงเดิมและมีแต่จะเสื่อมถอยลงเนื่องจากการกัดเซาะและการตกตะกอน ประกอบกับความแคบของแม่น้ำที่ลดลง ข้อจำกัดของลักษณะภูมิประเทศร่วมกับความยาวของแม่น้ำจะเห็นว่า ปิงและวังมีความลาดชั้นมากกว่ายมและน่าน ดังนั้น ธรรมชาติของน้ำที่ไหลมาเร็วก็ย่อมจะหาทางออกเมื่อลำน้ำมีความจุที่จำกัด น้ำจึงต้องแผ่ขยายออกไปด้านข้างแม้จะมีการก่อสร้างคันน้ำทั้งสองฝั่ง ในส่วนของตัวลำน้ำยม จะเห็นว่ามีขีดความสามารถในการไหลของน้ำไม่เท่ากัน ตั้งแต่ด้านบนยันพื้นที่ตอนล่าง ด้านการผันน้ำก็จะขึ้นอยู่กับปัจจัย ๒ อย่าง คือ ความกว้างของลำน้ำและความลาดเทของลำน้ำ แต่จะเห็นว่าตอนบนมีความลาดเทสูงลำน้ำมีขนาดใหญ่ แต่เมื่อมาถึงตอนกลางและตอนล่างขนาดของลำน้ำแคบ ความลาดเทน้อย ความจุก็น้อยตามไปด้วย ซึ่งนี่คือข้อจำกัดของลุ่มน้ำยม ประเด็นสำคัญคือว่าหากไม่ดำเนินการใดๆ เลย ก็จะเป็นการละเมิดสิทธิในฐานะที่เป็นส่วนราชการแล้วไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าเกิดทำอะไรลงไปก็จะเป็นการละเมิดสิทธิของคนอีกกลุ่มหนึ่งจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่ถ้าไม่ทำก็จะเสื่อมถอยลงดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจกันต่อไป ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๔ ประเทศไทยได้มีการศึกษาเรื่องลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านคู่ขนานกัน แต่ลุ่มน้ำน่านโชคดีที่มีการพัฒนาในเรื่องของเขื่อนสิริกิตติ์ไปก่อนหน้านี้เพราะเป็นการพัฒนาในเรื่องของการสร้างกระแสไฟฟ้าด้วย ส่วนลุ่มน้ำยมก็ได้มีการศึกษาเรื่องความเหมาะสมของการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาพัฒนาลุ่มน้ำยมทั้งหมด เช่น เขื่อนห้วยสักที่มีความจุประมาณ ๕,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และก็ลดลงมาเพื่อให้ลักษณะโครงการไม่กระทบมากนัก รวมถึงได้มีการศึกษาโครงการผันน้ำแม่กลม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีการศึกษาไฟฟ้าพลังน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแต่การศึกษาพบว่าไม่คุ้มค่าจึงได้โอนมายังกรมชลประทานเพื่อให้ทำเรื่องของการเกษตรแทน เมื่อกรมชลประทานได้รับให้ดำเนินการศึกษาต่อ ก็ได้มีโครงการมากมาย เช่น การพัฒนาประตูระบายน้ำในลุ่มน้ำยม การศึกษาบรรเทาอุทกภัยในลุ่มน้ำยมและการศึกษาทบทวนโครงการแก่งเสือเต้นด้วย แต่เนื่องจากเกรงเกี่ยวกับปัญหาความไม่เข้าใจของคนในพื้นที่ทางสภาและรัฐบาลเองจึงได้ให้กลับไปศึกษาเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำ โดยให้กรมชลประทานศึกษาใน ๒ โครงการ ซึ่งก็ได้ศึกษาเสร็จไปเมื่อ ๑ – ๒ ปี ที่ผ่านมาแต่ก็ยังเดินหน้าต่อไปไม่ได้เนื่องจากต้องรอเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย ในลักษณะของผลการศึกษาล่าสุดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นของกรมชลประทานหรือกรมทรัพยากรน้ำ ต่างได้ข้อสรุปที่ไม่ต่างกันมาก จะต่างกันเล็กน้อยคือขนาดของโครงการขนาดใหญ่ ส่วนขนาดกลางและขนาดเล็กไม่แตกต่างกัน ในด้านของสภาพทั่วไปลักษณะกายภาพทางตอนเหนือซึ่งเป็นที่ป่าและมีความสูงชันประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ ความลาดชันมีสูงมากและฝนที่ตกจะตกค่อนข้างมาก ความเข้มข้นสูงและความรุนแรงสูงดังนั้นน้ำจึงไหลเร็วและมีการกัดเซาะและไหลลงมาเป็นตะกอนในพื้นที่ด้านล่างทำให้เกิดการทับถมและความจุของลำน้ำลดลง จะเห็นได้ว่าจะมีเหตุของการเกิดน้ำท่วมอยู่เสมอ สภาพที่ผ่านมาในระยะ ๒๐ ปี ไม่มีความแตกต่าง แต่ในระยะ ๕ ปีหลังปริมาณน้ำฝนค่อนข้างเพิ่มสูงขึ้นมาก การประเมินจึงต้องทำในระยะยาวและแบ่งการศึกษาออกเป็น ๓ ส่วน คือ ตอนเหนือ ได้แก่ ลุ่มน้ำงาว มีความจุประมาณปีละ ๑,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร รวมแล้วประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ตอนกลางมีพื้นที่เยอะหน่อยแต่พอฝนตกมาแล้วจะมีปริมาณน้ำประมาณ๔,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำยมเองมีปริมาณน้ำประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ในฤดูฝนประมาณ ๓,๖๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งแน่นอนว่าไม่ว่าจะสร้างเขื่อนตรงจุดใดก็ตามเมื่อฝนกระจายไปทั้งทั่วหรือไม่ทั่วก็ตาม หากฝนตกใต้เขื่อน ยกตัวอย่างเช่น เขื่อนภูมิพล น้ำจะมีปริมาณที่สูงมากซึ่งในขณะนี้น้ำได้ไหลจากแม่น้ำปิงมาบรรจบกับแม่น้ำยมและไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา วินาทีละประมาณ ๑,๗๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อันนี้เป็นปัจจัยว่าการจะมีการสร้างอะไรในพื้นที่ก็ตาม การแก้ไขปัญหาคงเป็นแบบเบ็ดเสร็จไม่ได้แต่คงต้องมีมาตรการอื่นๆ เสริมเข้าไป คราวนี้มาพิจารณาเรื่องศักยภาพของลุ่มน้ำตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา ตอนบนมีปริมาณน้ำจำนวน ๑,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีแหล่งเก็บกักทั้งสิ้นในขณะนี้ประมาณ ๒๗ ล้านลูกบาศก์เมตร อีก ๙๐๐ กว่าล้านลูกบาศก์เมตรก็ไหลลงมาพื้นที่ด้านล่าง ในพื้นที่ตอนกลางซึ่งจะมีน้ำอยู่ประมาณอีก๑,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีแหล่งเก็บกักประมาณ ๑๖๕ ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ตอนล่างซึ่งจัดว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการพัฒนาประเภทระบบส่งน้ำและประตูระบายน้ำ ถ้าเป็นอ่างเก็บน้ำ จะมีอยู่น้อยส่วนใหญ่จะอยู่หลังลำน้ำสาขาแทบทั้งสิ้น และเป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กทั้งหมด ตอนล่างจะมีความจุที่เรากักเก็บไว้ประมาณ ๒๑๓ ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีประมาณน้ำประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉลี่ยแล้วเรามีพื้นที่ที่สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ ๔๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อันนี้คือลักษณะข้อเท็จจริงของโครงสร้างพื้นฐานในลุ่มน้ำยม จากสถิติที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้งพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบก็จะอยู่บริเวณตอนกลางและตอนล่าง เพราะมันไม่มีแหล่งกักเก็บข้างล่างแม้ว่าจะมีการสร้างแก้มลิงก็ตาม และถึงมีแก้มลิงปริมาณน้ำที่กักเก็บได้อย่างมากก็ประมาณ ๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เช่นแก้มลิงทะเลหลวง และก็มีความพยายามที่จะสร้างแก้มลิงขึ้นมาอีก เช่น แก้มลิงบางระกำ ส่วนแหล่งขนาดเล็ก ๑๑๘ แห่ง ด้วยลักษณะภูมิประเทศเต็มที่ไม่เกิน ๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะฉะนั้น จึงพยายามที่จะหาลักษณะภูมิประเทศที่เหมาะสมในการทำแก้มลิง ในการทำแหล่งน้ำขนาดเล็ก ขนาดกลางกับลำน้ำสาขาแล้วรวมกันแล้วได้ประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตรเศษๆ อันนี้คือลักษณะทางกายภาพที่มีข้อจำกัดด้วยตนเอง มาดูตัวอย่างของทางต่างประเทศ เราได้ใช้หลักต่างๆ ที่เค้ากำหนดขึ้นมาว่ามีดัชนีใดบ้างที่วัดความพอเพียงทางด้านทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องของการจัดทรัพยากรน้ำ การเข้าถึงน้ำ สถานการณ์พัฒนา การใช้ประโยชน์และสิ่งแวดล้อม ที่ดูว่าเราแบ่งลุ่มน้ำออกเป็น ๑๑ ลุ่มน้ำย่อย แยกมาเป็นลุ่มน้ำตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ตอนบนจะเห็นว่าปริมาณน้ำเยอะ พอมาตอนกลางก็น้อย และตอนล่างน้อยมาก แต่เห็นว่าแหล่งเก็บกักที่มีจะอยู่ตอนล่างของลำน้ำเท่านั้น อันนี้คือขีดความสามารถในการพัฒนาแล้วในปัจจุบัน พอมาดูปัจจัยของการเข้าถึงจะเห็นว่าพวกน้ำประปาไม่มีปัญหามากนักแต่พอมาดูเรื่องสัดส่วนพื้นที่รับประโยชน์และพื้นที่ทางการเกษตรตอนกลางจะมีการพัฒนาสูงมากอันเนื่องมาจากสภาพพื้นที่นั่นเอง ส่วนตอนล่างก็มีข้อจำกัดเรื่องของภัยธรรมชาติ เพราะฉะนั้นการพัฒนาพื้นที่ส่วนใหญ่จึงจะอยู่ในตอนกลางมาก พอมาดูเรื่องสถานะของการพัฒนาด้านการเกษตรจะเห็นว่าเรื่องของการศึกษาเทียบเท่ากันหมด แต่เรื่องของความหนาแน่นของประชากร จะอยู่ช่วงกลางกับช่วงท้าย ด้านการใช้ประโยชน์พื้นที่กลางตอนล่างจะมีรายได้ภาคการเกษตรเฉลี่ยจะสูงกว่าตอนบน พอดูเรื่องของสิ่งแวดล้อมจะมีประเด็นเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ต่อพื้นที่ลุ่มน้ำจะมีต่ำสุดคือตอนล่างที่อื่นใกล้เคียงกัน เมื่อเราจำแนกแบบนี้แล้วจะเห็นว่าทั้ง ๑๑ ลุ่มน้ำย่อยในลุ่มน้ำยมมีขีดความสามารถในเรื่องของการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นว่ามีภาวะของการเกิดน้ำท่วม ๒ ปีนี้ ได้แก่ในปี ๒๕๕๔ กับปี ๒๕๕๓ เปรียบเทียบกัน ปี ๒๕๕๔ เกิดขึ้นเร็ว คือ เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน-สิงหาคม แต่ปี ๒๕๕๓ เกิดเดือนกันยายน และเกิดขึ้นในพื้นที่เก่า สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าสถิติน้ำที่ผ่านมาเมื่อมาถึงสุโขทัยแล้วจะมีบางส่วนในช่วงฤดูฝนหายไปประมาณ ๗๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงฤดูฝน คงไม่แปลกใจว่าหายไปไหน คือไปขังอยู่ที่ อ.บางระกำ อย่างไรก็ตาม จากแนวทางการแก้ไขที่ผ่านมาซึ่งมีการวิเคราะห์สาเหตุ พบว่ามาจากสาเหตุเดิมๆ คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ แหล่งกักเก็บน้ำมีไม่เพียงพอ ป่าไม้ถูกบุกรุกทำลาย แม้น้ำต่างๆ มีขีดความสามารถในการระบายน้ำลดลง บางแห่งชุมชนรุกล้ำเข้าไปในเขตแม่น้ำ ทั้งนี้ สำหรับมาตรการในการแก้ไขปัญหาได้มีการรวบรวมข้อมูลมาจาก ๒๔ ลุ่มน้ำ ก็ปรากฏว่ามีเครื่องมือ ในการแก้ไขปัญหาแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ๑)ใช้สิ่งก่อสร้าง และ ๒)ไม่ใช้สิ่งก่อสร้างแต่ใช้การบริหารจัดการ ซึ่งกรมชลประทานเองก็ใช้ทั้ง ๒ วิธีการ คือ มาตรการในเรื่องของการพัฒนาและเรื่องของ แหล่งเก็บน้ำ และในขณะนี้เรื่องการบริหารจัดการก็ได้มีการประสานไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตให้มีการปล่อยน้ำจากน้ำน่านลดลง ดังนั้น เครื่องมือที่กรมชลประทานมีอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ ประตูระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีพลังมากพอที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นที่ค่อนข้างรุนแรงได้ เพราะฉะนั้น ผลการศึกษาจึงสรุปออกมาว่า ประการที่ ๑ ถ้าจะเริ่มต้นจากผลกระทบน้อยและผลกระทบรุนแรงมากๆ เรื่องแรกก็คือปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบชลประทาน ซึ่งก็คือเรื่องของคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ แต่คราวนี้เมื่อปรับปรุงแล้วเราก็ประหยัดน้ำไปได้ประมาณ ๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร/ปี ในขณะเดียวกันก็มีการคิดดูเรื่องของการผันน้ำหลากโดยใช้คลองระบายน้ำ ที่มีอยู่เดิม พยายามดึงน้ำเข้าสู่ลำน้ำยมให้เร็วขึ้น ประการที่ ๒ คือ หาพื้นที่ลุ่มต่ำหรือพื้นที่แก้มลิง เพื่อกักเก็บน้ำ แหล่งน้ำชุมชนในพื้นที่ สุดท้ายที่คิดว่าน่าจะดำเนินการคือแหล่งน้ำขนาดกลางซึ่งส่วนใหญ่จะมีความจุประมาณ ๕๐-๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในลุ่มน้ำสาขาแทบทั้งสิ้น ถามว่าประเด็นที่เสนอจะแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ ตอบว่าแก้ไขได้แต่อาจบรรเทาได้แค่ระดับหนึ่ง ดังนั้นจึงน่าจะต้องยกระดับโครงการมาเป็นโครงการขนาดใหญ่ รวมทั้งศึกษาว่าเมื่อทำไปแล้วจะลดผลกระทบในเรื่องใดได้บ้าง ซึ่งจะเห็นว่ามีโครงการสำคัญๆ ที่ได้บรรจุไว้แล้วและเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๔ โครงการเหล่านี้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้วางโครงการก็ตามถ้าเป็นขนาดใหญ่-ขนาดกลางหนีไม่พ้นที่จะต้องพิจารณาตามภูมิประเทศทั้งสิ้น นอกจากว่าจะมีการวางโครงข่ายน้ำเพิ่มเติมซึ่งเป็นอีกกรณีหนึ่ง จะเห็นว่ากรอบใหญ่พบว่าหากทำเต็มศักยภาพของพื้นที่ความจุที่จะเก็บกักได้เต็มที่ คือ ประมาณไม่เกิน ๒,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าทำขนาดกลางและเล็ก มากสุดก็จะได้ไม่เกิน ๗๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร อันนี้คือเหตุผลหนึ่งที่ต้องมาพิจารณาว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยต้องเดินหน้าเข้าสู่โครงการขนาดใหญ่เพื่อที่จะได้มีพลังมากพอในการแก้ไขปัญหาในตอนล่างให้ได้ เมื่อเราแบ่งโครงการต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม แก้ไขปัญหาภัยแล้ง หรือจะแก้ไขทั้งสองเรื่อง เช่น คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำเมื่อหยิบยกมาทั้งหมดแล้วจะมีจุดที่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวเลข ซึ่งในวันที่ ๑ สิงหาคมที่ผ่านมา กรมชลประทานและกรมทรัพยากรธรรมชาติได้ลงไปสำรวจพื้นที่และทบทวนแผนที่ได้ทำไว้โดยเน้นโครงการขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตรงขอบของพื้นที่แทบทั้งสิ้น แน่นอนว่าบางส่วนถ้าพัฒนาเป็นแหล่งน้ำ พื้นที่ตอนล่างก็จะมีสิทธิที่จะได้รับน้ำก่อน ต่อมาก็มีการพิจารณาเรื่องพื้นที่รอยต่อน้ำยมกับน้ำน่านซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเพราะหากน้ำระบายไม่ออกก็จะเกิดปัญหา ตรงนี้จึงมีการพัฒนาเชื่อมโยงแต่ปรากฏว่า ณ ปัจจุบัน น้ำไม่สามารถระบายออกเนื่องจากระดับน้ำน่านสูงกว่าน้ำที่จะไหลจากแม่น้ำยมลงมา เพราะฉะนั้นคงต้องใช้เวลาเกือบ ๑ เดือนเพื่อระบายน้ำออกไปจากลุ่มน้ำยมตอนล่าง สรุปว่าในส่วนของกรมชลประทานจะมีโครงการทั้งสิ้น ๒๖ โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กอยู่ในลำน้ำสาขาแทบทั้งสิ้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ โครงการขนาดใหญ่ที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ได้แก่ โครงการแก่งเสือเต้น และมีการวางโครงการอีก ๒ โครงการได้แก่ ยมตอนบนกับยมตอนล่าง ซึ่งจะลดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ที่น้ำท่วม พร้อมกับสร้างแหล่งเก็บน้ำที่มีระดับเพียงพอต่อการแก้ไขบรรเทาปัญหาในพื้นที่ตอนล่างได้ ปัญหาในขณะนี้ก็คือนอกจากบรรเทาอุทกภัยแล้ว เป้าหมายหลักคือการจัดเก็บน้ำไว้ใช้ในยามฤดูแล้งให้มากขึ้นด้วย อันนี้เป็นโครงการหนึ่งที่กรมชลประทานเสนอไว้ อย่างไรก็ตาม โครงการขนาดใหญ่จะต้องมีระดับการศึกษาที่เข้มข้นเป็นธรรมดาการศึกษารายละเอียด เทคนิค สิ่งแวดล้อมก็ต้องมีด้วยด้านพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นยมตอนบนหรือยมตอนล่างซึ่งในการศึกษาเบื้องต้นคาดว่ามีความจุไม่น้อยกว่า ๒๕๐ ล้านลูกบาศก์เมตร กับยมตอนล่างที่อยู่ทางตอนใต้จุดบรรจบของแม่น้ำงาวและใต้แก่งเสือเต้น จะมีความจุที่ประมาณ ๕๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อพิจารณาแล้วก็จะมี ๒ ทางเลือก นอกเหนือจากเรื่องของประตูระบายน้ำยมที่ได้มีการพัฒนาไปแล้ว ในขณะนี้ก็คือ ถ้าเป็นยมบนการวางโครงการพยายามที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบกับชุมชนที่อยู่ตอนเหนือของอ่าง แต่ถ้าเป็นแก่งเสือเต้นก็จะทำให้เรื่องของยมบนและล่างยุติเพราะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาไปแล้วและเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งก็ต้องอาศัยคนในพื้นที่ยมตอนล่างเป็นผู้ช่วยตัดสินใจเพราะได้มีการศึกษาประเด็นทางเลือกไว้ครบถ้วนแล้วว่ามีจุดเด่นและจุดด้อยอย่างไร ข้อดีข้อเสียทั้ง ๒ รูปแบบเป็นอย่างไร แน่นอนว่าส่วนหนึ่งในด้านวิศวกรรมถ้าเป็นมูลค่าของการก่อสร้าง ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างประมาณ ๖,๐๐๐ กว่าล้าน แต่เป็นค่าจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเกือบ ๗,๐๐๐ ล้านบาท แต่หากเป็นยมบน-ยมล่าง ค่าก่อสร้างจะประมาณ ๑๒,๐๐๐-๑๔,๐๐๐ ล้านบาท แยกเป็นค่าก่อสร้างประมาณ ๑๑,๐๐๐ ล้านบาท แต่ค่าสิ่งแวดล้อมประมาณ ๒,๖๐๐ ล้านบาท แต่ถ้าดูเรื่องปริมาตรเก็บกักก็ต่างกันเป็นธรรมดา เขื่อนใหญ่-เขื่อนเล็ก และพื้นที่รับประโยชน์ก็ต่างกัน ด้านเศรษฐกิจก็ต่างกันถ้าดูใน ๒ รูปแบบนี้ แน่นอนความได้เปรียบของแก่งเสือเต้นมีมากกว่า แต่พอมาดูเรื่องของยมตอนบนและยมตอนล่าง ดูประเด็นเรื่องสังคมและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเกือบประมาณ ๙๐๐ ครัวเรือน ก็เรียนว่า ๙๐๐ ครัวเรือนนี้ อาจจะเป็นพันหรือ ๘๐๐ ก็ไม่แน่ใจนักเพราะการสำรวจกระทำโดยข้อมูลทางอ้อมเพราะว่าเข้าสำรวจยังไม่ได้ การเข้าไปทำเรื่องสำรวจสำมะโนประชากรหรือแม้กระทั้งใช้ภาพถ่ายนับเอา แล้วเรื่องของครัวเรือนที่รับประโยชน์ก็ต่างกัน ด้านสิ่งแวดล้อมก็มีผลกระทบเรื่องป่า เบ็ดเสร็จแล้วประมาณ ๔๐,๐๐๐ ไร่ จะเป็นป่าจริง ป่าปลอมหรือป่าที่แน่นหนาขนาดไหน อันนั้นต้องใช้ภาพถ่าย อันนี้ก็มีกรรมาธิการช่วยมอบหมายให้กรมอุทยานไปศึกษา หารายละเอียดอีกทีเพื่อที่จะหาคำตอบให้ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรบ้างตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่มีข้อสังเกตว่าป่าในบริเวณที่น้ำท่วมถึงในกรณีของแก่งเสือเต้นจะมีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่บริเวณรอบๆ จะแผ่วลงมา และในขณะเดียวกันในพื้นที่ที่น้ำท่วมก็มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเช่นเดียวกัน แต่ข้อเท็จจริงก็คงให้กรมอุทยานและคณะเป็นผู้ศึกษารายละเอียดขึ้นมาอันนี้คือข้อเปรียบเทียบ ในขณะเดียวกันถ้ามีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่สิ่งที่กังวลคือเรื่องของการชดเชย การพัฒนาพื้นที่พัฒนาพิเศษก็มีการวางรูปแบบเอาไว้ว่าจะมีการพัฒนาที่พิเศษตรงไหนบ้าง ก็ไปดูในพื้นที่ว่ามีจริงหรือไม่มีจริง รูปแบบเป็นแบบไหนตรงนี้ก็รองรับเอาไว้ถ้าในกรณีที่ศึกษาเรื่องแก่งเสือเต้นแต่ถ้าเกิดเป็นเขื่อนแม่น้ำยมตอนบนหรือยมตอนล่างก็จะมีพื้นที่พิเศษให้เหมือนกัน ขนาดใหญ่นี่ตามระเบียบเราคงต้องจัดหมู่บ้านให้เข้ามาศึกษาด้วยและจะมีข้อกำหนดว่าเมื่อน้ำท่วมป่า ส่วนราชการก็จะให้ทางกรมที่เกี่ยวข้องตั้งงบประมาณให้ไม่น้อยกว่าสองเท่า นี่คือระเบียบที่เราถือปฏิบัติมาโดยตลอดและก็มีการจัดภูมิทัศน์ของเขื่อนต่างๆ เพื่อให้ชุมชนได้รับสิทธิที่พึงจะมีในพื้นที่ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างของมาตรการหลังจากการก่อสร้างเขื่อนแล้ว ขนาดกลางและขนาดใหญ่ อันนี้เป็นระเบียบเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น เมื่อมีการพัฒนาเขื่อนไปแล้วหลายท่านกังวลอาจจะยังไม่เข้าใจว่าภาคราชการต้องมีการตั้งงบประมาณรองรับเพื่อติดตามผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ อีกไม่น้อยกว่า ๘ - ๑๐ ปี โดยอันนี้เป็นตัวอย่างของโครงการที่เกี่ยวข้องคือ โครงการกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง ซึ่งก่อสร้างเสร็จไปนานแล้วและในขณะนี้อยู่ในกระบวนการของการตั้งงบประมาณเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีตมาเรื่อยๆ จนถึงในระหว่างการก่อสร้าง ก่อสร้างแล้วยังมีการเฝ้าติดตามอีกซึ่งจะมีงบประมาณให้และมีการทบทวนในทุกๆ ปี แล้วให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการทั้งท้องถิ่นด้วย ทั้งกรมป่าไม้ กรมอุทยาน กระทรวงสาธารณสุข ไปกันทั้งหมด อันนี้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่ามีการตั้งงบประมาณสำหรับการบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง คราวนี้ที่ผ่านมา ทางกรมชลประทานเองก็ได้สนองตอบทางรัฐบาลที่จะให้มีการพิจารณาเรื่องของนโยบายสาธารณะด้วย ซึ่งนโยบายสาธารณะก็มีกระบวนการเยอะมาก ตั้งแต่กำหนดกรอบ และลงไปในพื้นที่ว่าจะไปศึกษาอย่างไร กรอบอันนี้เมื่อดูแล้วตกลงว่าจะมีการศึกษาแบบนี้ จากนั้นก็จะไปดูเกี่ยวกับทางเลือกต่างๆ ที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง จะใช้ทางเลือกที่ ๑ ใช้สิ่งก่อสร้าง ทางเลือกแบบนี้มีอะไร ทางเลือกที่ ๒ ไม่ใช้สิ่งก่อสร้างแต่มีการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ทางเลือก ๓ ก็เอาทั้งยมบนยมล่างและรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมด และ ๔ คือผนวกเรื่องแก่งเสือเต้นเข้าไปด้วย อันนี้คือผลกระทบที่เกิดขึ้นในโครงการที่มีขนาดแตกต่างกันก็มีการยืนยันด้านสิ่งแวดล้อมและด้านเศรษฐกิจออกมาว่ามีอย่างไรบ้าง ก็ขออนุญาตเรียนว่าอันนี้คือสิ่งต่างๆ ที่เราได้ศึกษาและก็พยายามเสนอต่อทางผู้ที่เกี่ยวข้องว่าสาระสำคัญและข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ซึ่งอย่างไรก็ตามก็จะเดินหน้า จะหยุดอยู่กับที่ หรือจะจัดการในรูปแบบไหนก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องมาช่วยตัดสินตรงนี้. รศ.ดร. อรพินท์ เอี่ยมศิริ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล: ในส่วนของงานที่มีการศึกษาอันเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีซึ่งได้มีการชะลอการสร้างแก่งเสือเต้นอันเนื่องมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จริงๆ แล้วตรงจุดนี้ถึงแม้ว่ากรอบคณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการให้มีการศึกษาใหม่ สาเหตุเนื่องมาจากว่าเราจะหาวิธีการอย่างไรเพื่อที่จะตอบคำถามว่าเราจะจัดการไม่ใช่แก้ปัญหาลุ่มน้ำยมเพียงแต่ว่าในการวางแผนการจัดการ เรามักจะดูเป็นส่วนๆ อย่างเช่นในกรณีเรื่องของแก่งเสือเต้น เราก็ดูเฉพาะผลกระทบของแก่งเสือเต้นที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นโครงการเพียงโครงการเดียว ซึ่งตามธรรมดาในลักษณะของการจัดการหรือการวางนโยบายทั่วไป จะต้องมีนโยบายมาก่อนที่จะมีโครงการ ตอนนี้ส่วนใหญ่เรามักจะไม่ได้คำนึงถึง ทั้งนี้ ในลักษณะของการดำเนินงานภาครัฐเรามักจะไม่มีโครงการที่ครอบคลุมหรือมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อน ทำให้การบริหารและการจัดการทรัพยากรของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรืออะไร มันจึงไม่มีความสอดคล้องกันตั้งแต่ระดับนโยบายจนกระทั่งถึงระดับโครงการและการประเมินผลกระทบที่ผ่านมา เราก็ไปเน้นกันอยู่ที่โครงการ แม้ว่าจะผ่านมากว่า ๓๐ ปี แต่เราก็ยังเห็นว่ามีการใช้เครื่องมือผิดๆ แต่เราก็ไม่ได้มีอำนาจอยู่ตรงนั้น พอมาถึงตรงจุดนี้เนื่องจากแม้แต่ในต่างประเทศก็เดินผิดๆ กันอยู่เหมือนกัน จนกระทั่งในระยะหลัง ก็เลยคิดว่า ๓๐ ปี ตั้งแต่มี World Environmental Conference ครั้งแรกในลักษณะของ Human Settlements มันไม่ได้ช่วยให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมดีขึ้น และดูเหมือนจะแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้นด้วยเหตุนี้พอหลังจากที่มีการประชุมครั้งล่าสุดท้าย ก็มีการพูดถึงความยั่งยืน ณ ตรงจุดนี้เราพูดกันว่าจะต้องมีการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นโดยยึดหลักที่ว่าต่อไปนโยบายใดๆ ก็ตาม มันควรจะต้องมีการบูรณาการเอาเรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย เพราะเท่าที่ผ่านมาการสร้างนโยบายเรามักจะดูเพียงแค่ผลประโยชน์ คือ แง่มุมทางด้านเศรษฐศาสตร์เท่านั้น แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องว่ามันจะยั่งยืนหรือไม่ แต่เรื่องความยั่งยืนตั้งแต่ตอนที่การประชุมครั้งหลังจะกล่าวถึงเรื่องความยั่งยืน เราก็เขียนโครงการเกี่ยวกับความยั่งยืน แต่ถามว่าเราเคยมีการประเมินหรือไม่ แล้วมันยังยั่งยืนจริงหรือเปล่า และการประเมินเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นมันก็ดูเหมือนเป็นเพียงนามธรรม เราไม่สามารถจะมีรูปธรรมของความยั่งยืนเกิดขึ้นได้เลย ด้วยเหตุนี้เองการสร้างนโยบายใหม่ซึ่ง สผ.เองก็ได้กำหนดแล้วว่าต่อไปนโยบายของภาครัฐจะต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับนโยบาย นั่นก็คือจะต้องเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปแล้วก็มันจะทำให้โครงการที่อยู่ภายใต้นโยบายนั้นๆ มันมีความชอบธรรมที่จะเกิดขึ้นด้วย เพราะบางที่เราบอกว่าทำไมบางโครงการมันไม่น่าเกิดแต่มันก็เกิดมาแล้ว และนโยบายที่ผ่านมาของเราบางทีมันเป็นนโยบายชั่วข้ามคืนไม่ต้องคิดอะไรกันมาก นโยบายตัวนี้มาแล้วผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ใคร อะไร เท่าไหร่ เพราะฉะนั้น สำหรับนโยบายที่ผิดรูปแบบมันก็จะสร้างการใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มันไม่ถูกต้องเกิดขึ้นแล้วก็คือปัญหาที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ที่จะบอกว่าใครจะมีสิทธิมากเท่าไหร่ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีลุ่มน้ำยม การที่เราประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเราหยิบยกว่าเราจะสร้างเขื่อนใหญ่ เกิดขึ้นมาอันเนื่องมาจากแก่งเสือเต้นโดยพิจารณาผลกระทบเพียงแค่ว่าน้ำไปท่วมใคร ก็คนนั้นได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นเป็นสิทธิของชุมชนที่เค้าจะต้องร้องว่าถ้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เค้าได้รับผลกระทบ นั่นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ในขณะเดียวกันการวางนโยบายโดยพิจารณาโครงการเดียวมันเป็นไปไม่ได้ เพราะผลกระทบนั้นมันไม่ได้กระทบกับคนที่เสี่ยงแต่อย่างเดียว กรมชลเคยถามอาจารย์ว่าแล้วน้ำส่งผลกระทบถึงไหน อาจารย์ตอบว่ามันไหลไปถึงไหนมันก็กระทบไปถึงนั่น มันไปออกปากแม่น้ำเจ้าพระยามันก็ส่งผลกระทบต่อเจ้าพระยา อาจารย์อยู่กรุงเทพก็ได้รับผลกระทบแต่อาจจะไม่มากเท่ากับคนที่อยู่ในลุ่มน้ำยมเอง ด้วยเหตุนี้ ในปัจจุบันนโยบายแบบนี้ได้มีใช้กันมาก แล้วเรื่องของอีพีไอ Environmental Policy Integration หรือการบูรณาการสิ่งแวดล้อมเข้าไปในนโยบายนั้น เป็นหลักการหรือวิธีการที่ถูกใช้เป็นอันดับต้นๆ ของการสร้างนโยบาย ด้วยเหตุนี้ถามว่าดีอย่างไร เพราะมันประเมินผลกระทบตั้งแต่แรกเรารู้ว่าถ้าจะใช้นโยบายแบบนี้ความยั่งยืนจะเกิดหรือไม่ ต้องประเมินออกมาให้ได้และนั่นก็คือหลักการและความโปร่งใส คณะกรรมการก็ได้วางเอาไว้ว่าเราจะใช้การจัดการเรื่องนโยบายสาธารณะ แต่หลักสำคัญคือให้เอากระบวนการของ SEA มาใช้กับเรื่องตรงนี้คือเรื่องของการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้นเมื่อเราเอามาใช้หลักสำคัญของการสร้างนโยบายแบบนี้คือเราจะเดินไปทางไหน ที่สำคัญต้องมีทางเลือก ต้องมีการพิจารณาทางเลือกจะมีการเปรียบเทียบระหว่างการไม่สร้างกับการสร้างจะทำอย่างไร อันไหนจะดีกว่ากัน แล้วทางเลือกที่จะสร้างนั้นอาจจะมีแตกต่างกันได้อย่างเช่นในกรณีลุ่มน้ำยม เราบอกว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยจะมีอะไรเกิดขึ้นและถ้าทำแบบนี้บางคนบอกว่าเอาแต่อ่างเก็บน้ำ เราก็ให้ไปดูว่าถ้าจะทำแต่อ่างแล้วได้ผลอย่างไร แล้วถ้าเอาเขื่อนซึ่งจะแก้ปัญหาลุ่มน้ำยมสายหลักได้นั้น ถ้าเกิดแก่งเสือเต้นคนไม่พอใจก็มีทางเลือกมาเป็นเขื่อนเล็กๆ ซึ่งมันก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพภูมิศาสตร์ มันไม่ใช่ว่าสามารถจะจัดเอาได้ตามใจชอบ เพราะฉะนั้นทางเลือกต่างๆ จึงต้องถูกจัด เราไปได้ตั้งหลายทางจะเอาประหยัดเงินในกระเป๋าหรือว่า จะเอาไปเร็ว ซึ่งข้อแตกต่างมันจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจ ประเด็นอยู่ที่ว่าทางเลือกที่เกิดขึ้นเราจะต้องประเมินผลกระทบให้เห็นว่าแต่ละทางเลือกมีผลกระทบแตกต่างกันอย่างไร และแต่ละทางเลือกนั้นมันก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตของพื้นที่นั้นอย่างไร นี่คือประเด็นสำคัญที่เป็นหลักของเรื่อง SEA คือเรื่องของการ integrate เรื่องของสิ่งแวดล้อมเข้าไปกับการ integrate เรื่องของความยั่งยืนเข้าไป แต่ความยั่งยืนไม่ใช่เราพูดในลักษณะที่เป็นนามธรรม แต่จะต้องชัดเจนว่าแล้วเราจะไปสู่ความชัดเจนได้อย่างไร นั่นคือหลักการเสร็จแล้วเรา ก็ต้องประเมินให้ได้ เมื่อประเมินได้แล้วเราก็เอาข้อมูลพวกนี้ให้ประชาชนตัดสินใจ อาจารย์พูดเรื่องกระบวนการไปเลยว่าอาจารย์วางแผนตรงจุดนี้เพื่อแก้ไขปัญหาให้ทุกคนมีสิทธิเพราะน้ำคือสายเลือด น้ำในแม่น้ำยมคือสายเลือดของคนในลุ่มน้ำนั้นมาเชื่อมโยงติดต่อกัน ถ้าข้างบนตันข้างล่างก็จะตัน ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่จะจัดการต้นน้ำแล้วไม่ให้กระทบถึงปลายน้ำเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงอยู่บนฐานของพื้นฐานเรื่องของทรัพยากร ทุกคนจริงๆ ต่างก็พึ่งพาทรัพยากร แต่ปัจจุบันคนเริ่มอยู่ห่างจากธรรมชาติเพราะมีการตัดไม้ทำลายป่า แต่คนในสมัยโบราณจะอยู่กับธรรมชาติทั้งนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันประชากรมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องสร้างก็ต้องผลิตให้มากขึ้น เพื่อที่จะให้เกิดความอยู่รอดกับมนุษย์ในโลก ด้วยเหตุนี้ เรื่องของความอยู่รอดจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นที่ป่าอย่างเดียวแล้ว มันต้องผลิตข้าว ผลิตอาหาร ผลิตสิ่งต่างๆ อันนั้นเป็นเรื่องรายละเอียด ทีนี้ลักษณะแบบนี้ก็เลยเป็นลักษณะที่อาจารย์ว่าเราให้ความโปร่งใส เพราะว่าเมื่อเราวิเคราะห์ออกมาแล้วจะยั่งยืนได้หรือไม่ จะยั่งยืนยังไง อาจารย์ก็จะอธิบายให้ประชาชนฟังในการดำเนินการครั้งนี้ ๑๑๙ เวทีทั้งหมด อาจารย์เชื่อว่าการใช้กลุ่มตัวอย่างดีที่สุดเพราะเงินภาครัฐก็มีแค่นี้ มันก็มาแล้ว แม้แต่กรมชลฯ เองก็ยังถามว่าอาจารย์จะไหวหรือ จริงๆ แล้วมันยังน้อยไปด้วยซ้ำแต่ ๑๑๙ เวทีที่ทำขึ้นเราก็ต้องไปอธิบายว่าเรามีทางเลือกอย่างไร แต่ละวิธีมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อให้เขาตัดสินใจเพราะเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่เรามักจะไม่ค่อยได้ให้ข้อมูลเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นการตัดสินใจของคนจะต้องให้เขาตัดสินใจอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องไม่ใช่ให้เอ็นจีโอมานั่งเป่าหูซ้าย อีกกลุ่มหนึ่งก็มาเป่าหูขวา หรือภาครัฐก็มาเป่าหูข้างหน้าอะไรประมาณนี้มันไม่ได้ ต้องให้ประชาชนรับทราบเอง และอาจารย์เชื่อว่ามีความเป็นธรรมที่จะอธิบายให้ฟังมันเลยกลายเป็นวิชาการมาก แต่เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะรับข้อมูลเพื่อตัดสินใจถ้าไม่อย่างนั้น ใครจะไปตัดสินใจให้เขา เราไม่ยอมที่คุณจะเข้ามาในลักษณะเอ็นจีโอก็เข้ามา บางคนไม่ได้เชิญก็เข้ามา อย่างเอ็นจีโอบางทีเราหาตัวไม่เจอจริงๆ เขาก็มา เพราะฉะนั้นอาจารย์จะทำเกินเป้าหมายเป็นหลายพันคนจากการที่บางคนเข้ามาโดยอิสระ เพราะฉะนั้นเมื่อเราให้เขาฟัง เราก็ให้เขาตัดสินใจ เราจะใช้วิธีจัดลำดับความสำคัญโดยให้เขาเปรียบเทียบความสำคัญเป็นคู่ๆ ซึ่งตัวเลขที่เกิดขึ้นมันก็คือเสียงที่สะท้อนมาจากประชาชนจริงๆ การที่เราทำแบบนี้เพื่อให้ผู้บริหารที่จะมีหน้าที่อำนาจตัดสินใจได้มองเห็นว่าประชาชน เขามีการสะท้อนและแสดงความคิดเห็นหรือมีความต้องการอย่างไรต่อการจัดการในลุ่มน้ำ เพราะฉะนั้นเมื่อเราให้เขาตัดสินใจแล้ว เราก็รวบรวมสิ่งเหล่านี้มาแล้วก็เพื่อที่จะให้ผู้บริหารไปตัดสินใจ การทำ SEA หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของนโยบาย ไม่ใช่เพื่อรายงานให้ภาคตัวเองได้ทราบแต่เป็นการเตรียมข้อมูลสำหรับผู้บริหารเพื่อที่จะให้กระบวนการนี้โปร่งใสที่สุด เพราะฉะนั้น อาจารย์เชื่อว่าอาจารย์โปร่งใสต่อการให้โอกาสบุคคลจำนวนมาก แม้แต่ท่านกำนันเส็งก็ยังมาช่วยอาจารย์ มาทำแบบประเมินทุกคนที่อยู่ในลุ่มน้ำเดียวกันมีสิทธิ เป็นการบริหารจัดการทั้งลุ่มน้ำ เพราะฉะนั้นทุกคนที่ใช้แม่น้ำสายเดียวกันก็ต้องย่อมมีสิทธิ นั่นคือสิทธิในเรื่องของทรัพยากร ทรัพยากรเป็น Common Property คือเป็นทรัพยากรร่วมที่ทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงซึ่งทรัพยากร เพราะฉะนั้น เราจะไปบอกว่านี่คือทรัพยากรของฉันเพราะอยู่หน้าบ้านฉันจะทำไม่ได้ ด้วยเหตุนี้หลักสำคัญตรงนี้ทางภาครัฐเองก็จะต้องพยายามจัดสรรทรัพยากรเพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในลุ่มน้ำ ตรงนี้เราจึงสร้างกระบวนการเหล่านี้มา แม้จะมีคนบอกว่าอาจารย์รับจ้างกรมชลประทานมาทำการศึกษาดังนั้นความเห็นจึงต้องเอียง แต่อาจารย์ยืนยันว่าไม่มีเอียงและกรมชลประทานเองก็ทราบดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ออกมาจึงเป็นการให้ความเป็นกลางกับทุกคนส่วนข้อมูลและเทคนิคก็โปร่งใสที่จะเอาคำตอบว่าผลกระทบเป็นอย่างไร แล้วความยั่งยืนเป็นอย่างไร ที่อาจารย์พูดถึงเรื่องทรัพยากรขึ้นมาเพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าเวลาที่เราต้องการความยั่งยืนเราต้องทำให้ทุกชีวิตในสังคมมีชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืนแล้วคุณจะได้สังคมที่ยั่งยืนและการพัฒนาที่ยั่งยืนก็จะตามมา เพราะฉะนั้น ณ ตรงจุดนี้อาจารย์ก็ให้หลักการเอาไว้หลายๆ อย่างแม้แต่เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงทรงพระราชทานมา นั่นคือหลักที่จะทำให้เรายังยืน อันนี้จากโครงการแก่งเสือเต้นที่จะนำไปสู่เรื่องของการจัดการน้ำมันทำให้เราพิจารณาผลกระทบทั้งลุ่มน้ำมากขึ้น ผู้บริหารเองก็ได้ข้อเท็จจริงในลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น เมื่ออาทิตย์ก่อนที่อาจารย์ไปชี้แจงที่คณะกรรมการ ยังมีคณะกรรมการท่านหนึ่งบอกว่ามันเป็นการศึกษาที่ค่อนข้างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งนำไปสู่การตอบที่เป็นเหตุเป็นผลอยู่ในตัวของมันเอง แล้วก็ตรงนี้จะทำให้ตราบใดที่ผู้บริหารตัดสินใจด้วยข้อเท็จจริงรวมถึงเสียงของประชาชน ก็จะทำให้ความชอบธรรมของการตัดสินใจนั้นมันมีมากขึ้น แล้วก็สามารถนำไปสู่เรื่องของความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ในกระบวนการนี้อาจารย์เชื่อได้ว่ามันเป็นกระบวนการที่โปร่งใส ซึ่ง อ.ศารทูล ก็ได้พูดถึงว่าสิทธิของชุมชน ภาครัฐที่ดำเนินการตรงนี้มันครอบคลุมเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม อาจารย์ให้มีส่วนร่วมทั้ง ๑) การแสดงความคิดเห็นตั้งแต่กรอบแล้วเราก็เอาเสียงตรงนั้นมาสร้างทางเลือก พอสร้างทางเลือกเสร็จเราประเมินเสร็จเราก็เอามาบอกเขาว่าผลการประเมินเป็นอย่างนี้ท่านลองตัดสินใจ ใครบอกว่าท่านจะทำไม่ได้เราก็มีทีมงานลงไปแล้วก็ช่วยไปบอก เป็นเทคนิคใหม่ที่ใช้กับลุ่มน้ำยม เพราะฉะนั้นถ้าสิ่งเหล่านี้มันประสบความสำเร็จมันก็หมายความว่าคนในลุ่มน้ำยมได้สร้างประวัติศาสตร์ในการวางนโยบายที่มีความชอบธรรมแล้วก็เป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน แต่การตัดสินใจในเรื่องใดๆ มันก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะตัดสินใจว่าจะเลือกทางใด ซึ่งจากกระบวนการเหล่านี้คือสิ่งที่อาจารย์ลงไปศึกษา ซึ่งอาจารย์พูดแล้วว่าการที่มีแต่แก่งเสือเต้นคนร้องว่าได้รับผลกระทบ เขามีความชอบธรรมที่จะต้องร้องแต่ในขณะเดียวกันถ้าไม่สร้างคนนับล้านได้รับผลกระทบ คนจำนวน ๘๒ ล้านที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำและพึงพาลำน้ำยมสายหลัก เพราะฉะนั้นถ้าลุ่มน้ำยมสายหลักไม่ได้รับการบริหารจัดการแล้ว ถามว่าคนที่พึ่งพาลุ่มน้ำยมและระบบเศรษฐกิจส่วนใหญ่ ซึ่งอยู่ทางด้านล่างที่มีประชากรประมาณ ๖๒ เปอร์เซ็นต์ จะได้รับผลกระทบ ถ้าเราบริหารจัดการน้ำให้มันดีแล้ว อาจารย์เชื่อว่าระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่นี้ จะทำให้คนในลุ่มน้ำยมมีระบบเศรษฐกิจดีขึ้น เพราะขณะนี้เราได้วิเคราะห์ออกมาแล้วว่าลุ่มน้ำยมยังมีศักยภาพต้องการที่จะสร้างผลผลิตให้เพิ่มขึ้นได้ แม้ในปัจจุบันทรัพยากรที่เหลือในระบบหลังจากที่บริโภคแล้วมันยังเหลืออีกเยอะ นั่นคือส่วนของข้าวจากพิจิตร ข้าวจากสุโขทัย นี่เป็นการวิเคราะห์ที่ไม่เคยมีใครวิเคราะห์มาก่อน แล้วก็ชี้ว่าความยั่งยืนนั้นจะเกิดได้ ความร่ำรวยจะเกิดขึ้นได้ อาจารย์วิเคราะห์จนกระทั่งถึงว่าแต่ละลุ่มน้ำใน ๑๑ ลุ่มน้ำร่วมนั้น ควรจะมีประชากรในอนาคตเท่าไหร่ เพื่อว่าจะให้เกิดความยั่งยืน ถ้าครอบครัวหนึ่งมีลูก ๑๐ คน รายได้ ๑๐,๐๐๐ บาท อีกครอบครัวหนึ่งมีลูก ๑ คน รายได้ ๑ บาท ถามว่าใครจะรวยกว่ากัน อาจารย์อธิบายให้คนใน อบต. เข้าใจและก็เป็นที่ยอมรับกับการวิเคราะห์ตรงนี้ อาจารย์ก็จะเรียนคร่าวๆ คือจะยืนยันว่ากระบวนการที่ใช้และที่ทำเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศและในปัจจุบันและต่อไป หน่วยงานราชการต้องมีการประเมินผลกระทบในลักษณะนี้ เพื่อเราจะได้ความยั่งยืนทั้งระบบกลับคืนมา เพราะว่านโยบายที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและที่พูดมาทั้งหลายมันสับสน รัฐบาลจะไปค้ำประกันเป็นผู้ค้ำสิทธิถามว่ารัฐบาลเคยทำอะไรบ้าง ในเมื่อน้ำมันมาตามธรรมชาติและรัฐบาลก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่ทุกปี อาจารย์เชื่อว่าอีกหน่อยประเทศไทยคงจนเพราะว่าไม่ได้วางอะไรไว้เลย อย่างน้อยที่สุดเรารู้ว่าที่ราบลุ่มภาคกลางมันเป็นพื้นที่น้ำหลากอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นทำไม ไม่ออกกฎหมายว่าอยู่แล้วจะต้องปลูกบ้านแบบไหน เราไม่รู้ว่าเราโง่กว่าคนโบราณหรือไม่ เพราะคนโบราณได้สร้างบ้านอย่างชนิดที่มันเหมาะกับสิ่งแวดล้อม คือสร้างบ้านขายาว เมื่อน้ำมาน้ำก็ลอดใต้ถุนบ้านแล้วก็อยู่ได้ไม่มีปัญหา นั่นคือการปรับตัวของมนุษย์ให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมแต่เราพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เข้ากับตัวเราแล้วรัฐจะเอาเงินที่ไหนไปค้ำสิทธิของประชาชนตรงนั้น ในเมื่อตัวเองก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้เลย ต่อเมื่อรัฐมีอำนาจในการที่จะจัดการในแต่ละพื้นที่ได้ สามารถที่จะทำเมื่อนั้นค่อยว่ากันเรื่องการค้ำสิทธิ เพราะบางทีอาจารย์บอกว่ามันต้องดูสิทธิของทุกคน เพราะอาจารย์เห็นว่าทุกคนเรียกร้องสิทธิแต่เรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบไม่พูดถึง ดังนั้นอาจารย์เชื่อว่าในเรื่องสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้นหรือเรื่องการใช้ทรัพยากรจะดีขึ้น ต่อเมื่อเรามีกฎกติกาเพื่อจะให้มีการบริหารจัดการทรัพยากรตามแนวทางที่ควรจะเป็น แล้วต้องกล้าต่อการที่จะต้องตัดสินใจ เพราะฉะนั้นโครงการลุ่มน้ำยมจะเป็นโครงการแรกที่เราได้สร้างนโยบายในรูปแบบนี้ โดยประชาชนจะมีสิทธิในการตัดสินใจและข้อมูลที่เราได้ก็จะเห็นว่าข้อมูลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรของลุ่มน้ำยมจะเหลือเท่าไหร่ และเราวิเคราะห์ในแบบของการมีส่วนร่วม ผู้มีส่วนร่วมในลุ่มน้ำยมมีมากแต่เราไม่เคยสนใจ แต่ไปสนใจกับสิ่งที่เอ็นจีโอพูดและก็ลงโทษอะไรเขาไม่ได้ แต่ถ้าเป็นภาคราชการลงไปแล้วทำไม่ถูกหรือปฏิบัติไม่ได้ กลับมีบทกฎหมายที่จะลงโทษ เพราะความที่เป็นหน่วยงานภาครัฐที่จะต้องปฏิบัติการ เพราะฉะนั้น ณ ตรงจุดนี้มันต้องมีนโยบายอะไรต่างๆ เหล่านี้หลายอย่างที่ต้องตามมา เช่น นโยบายว่าทำอย่างไรเราถึงจะมีพื้นที่การเกษตรเพียงพอไม่ใช่วันหนึ่งตื่นขึ้นมาแล้วไม่มีข้าวกินเราต้องมีกฎหมายที่คุมเอาไว้เพราะไม่เช่นนั้นคุณมีเงิน คุณก็กลับมาเปลี่ยนแปลงบ้านพื้นที่ดินให้เป็นบ้านหลังที่สอง หลังที่สามหรือไม่ก็บางคนก็เป็นผู้ทำธุรกิจก่อสร้างเสียเอง ในปี ๒๐๖๘ อัตราการเพิ่มของประชากรจะเป็นศูนย์ ดังนั้น อาจารย์คิดว่าไม่ควรจะสร้างบ้านกันมากแล้วและก็ไม่ต้องเอาคนที่อื่นเข้ามา และกำลังจะบอกว่าการนำคนอื่นเข้ามา เขาเข้ามาอยู่คนหนึ่งเราได้หรือเสีย เราได้ค่าแรงเขามานิดเดียวแต่สิ่งที่เสียคือภาระที่รัฐจะต้องสร้างและเลี้ยงดูคนเหล่านี้ รวมไปถึงเรื่องการลงทุนในการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ถามว่าเคยคิดไหมว่าค่าก่อสร้างต่อบริการสาธารณะ เช่น น้ำ รัฐต้องลงทุนไปเท่าไหร่ต่อหัวของประชากร ถ้าจะคิดให้ถูกต้อง จะต้องคิดแบบนั้น ต้องคิดต่อหัวประชากรแล้วเราจะรู้ว่าเราควรจะรับหรือไม่ เราคิดในแง่มุมว่าทรัพยากรที่เรามีอยู่เราต้องรักษา ไม่ใช่เป็นคนใจดีเอื้อเฟื้อจนตัวเองจะหมดไปเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้อย่างนี้เป็นต้น บอกได้ว่าเป็นเรื่องควบคุมที่แม้แต้ผู้บริหาร ภาครัฐภาคเอกชนหรือประชาชนควรจะต้องรู้ การที่มีศักยภาพในการผลิตสูง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่มีภาคของหนี้สิน ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ถามว่าจะใช้หนี้ได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นความอยู่รอดของมนุษย์มันจึงอยู่ที่ภาคการเกษตร อาจารย์คิดว่าแม้แต่พื้นที่ที่นำไปใช้ทำถนนก็ยังน่าจะเลิกสร้างเพราะเป็นการใช้พื้นที่อย่างเสียเปล่าและถูกใช้ไปเท่าๆ กับพื้นที่ของการเพาะปลูก ด้วยเหตุนี้จึงต้องเข้าใจหลักการตรงนี้ทั้งหมดแล้วมันจะทำให้เราวางแผนเพื่อการจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืนได้. พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง อนุกรรมาธิการฯและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ: ที่จะพูดต่อไปนี้ เป็นข้อพิจารณาของฝ่ายดำเนินการ คือ มีข้อเท็จจริงข้อพิจารณาและข้อเสนอ หัวข้อที่ผมพูดก็คือเรื่องสิทธิของชุมชนของผู้ได้รับผลกระทบในการอพยพ ข้อเท็จจริงมีอยู่ ๔ ข้อ ข้อแรกคือ การสร้างเขื่อนใหญ่ๆ ในโลกนี้ย่อมมีผลกระทบต่อคน ต่อมนุษย์ ทุกเขื่อน ทุกอ่างเก็บน้ำ ไม่ว่าบริเวณอ่าง บริเวณสันเขื่อน บริเวณหัวงานและบริเวณท้ายเขื่อนใต้น้ำลงไป แต่การแก้ไขปัญหาโดยทั่วไปก็เป็นการอพยพ แต่เมื่อพูดถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ คนที่ต้องอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ออกไป ก็ของบ้านเราก็ทำเป็นนิคมโดยกรมการสงเคราะห์มาสร้างนิคม ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ในต่างประเทศจะสร้างบ้านที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค อาชีพ ให้เสร็จเรียบร้อยแล้วก็ย้ายไปเลย แต่ประเทศไทยกลับไม่เคยเป็นอย่างนั้น สำหรับประเทศไทยอย่างหนึ่งในการสร้างเขื่อนทุกเขื่อน ไม่เคยพูดถึงเรื่องอาชีพของคนที่ไปเลย จ่ายสตางค์แล้วก็ให้เขาไป แม้แต่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับการชดเชยที่ยอดเยี่ยมที่สุดในบรรดาเขื่อนในประเทศไทยทั้งหมด ค่าที่ดินที่ชดเชยให้เกือบคนละประมาณ ๑,๐๐๐ เปอร์เซ็นต์ มีที่อยู่ ๒๓ ตารางวา ให้ตามเกณฑ์เช่นว่าเดิม ๒ เท่า ไปไม่รอดไปไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นคณะกรรมการจึงพิจารณาให้การชดเชยที่ค่อนข้างสูงกว่าที่ผ่านมา แต่แท้จะสูงแต่ขณะนี้ก็มีการร้องเรียนเข้ามาว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมและอยากได้มากกว่านั้น อยากได้ค่าชดเชยที่มากขึ้น ซึ่งในขณะนี้ผมก็เป็นประธานตรวจสอบอยู่ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ นี่เป็นเหตุผลประการที่ ๑ ที่เห็นว่าทุกเขื่อนมีปัญหาหมด การชดเชย การดูแลผู้อพยพบ้านเรายังไม่เคยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตที่มั่นคงขึ้นหรือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเลย จ่ายให้กับผลกระทบอย่างนี้ที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อย่างนี้ก็เป็นการอพยพของนิคมทั้งสิ้น ประการที่ ๒ ในการชดเชยด้วยการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลที่ผ่านมาทุกรัฐบาล ช่วยเป็นรายบุคคล ช่วยเป็นปัจเจกบุคคล ไม่คำนึงถึงชุมชนเลย ชุมชนยกขบวนขึ้นมาแล้วหอบลูกจูงหลานขึ้นมาแล้วไปจับฉลาก เป็นพี่เป็นน้องก็แยกกันอยู่ พ่อแม่ก็กระจุยกระจายไปเป็นกลุ่มต่างๆ ใครเคยเป็นผู้ใหญ่บ้านก็เป็นไม่ได้แล้วเพราะหมู่บ้านกระจายไปแล้ว ไม่เคยคำนึงถึงชุมชนเลย อันนี้ของรัฐบาลไทยที่ผ่านมาแม้แต่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ก็ไม่เคยคำนึงถึงเรื่องนี้ การอยู่อาศัยหรืออาชีพ ชดเชยแล้วก็จบกัน หรือว่าให้ที่ดินแล้วก็จบกันจากที่ทำอะไรได้หรือไม่ได้ไม่รู้ อันนี้ก็ว่ากันอีกที เหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ผ่านมาแล้วก็บางแห่งชดเชยแล้ว และก็ไปร้องเรียนว่าไม่เสมอภาคอีก ทำให้เกิดการทุจริตระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชนด้วยกันทุจริต เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีจำนวนไม่น้อยที่คนไปกว้านซื้อแล้วได้ค่าชดเชยที่สูงมาก รับเงินชดเชยกันเป็นร้อยล้านอย่างนี้เป็นต้น อันนี้คือ การที่รัฐบาลไม่คำนึงถึงชุมชน แต่เป็นปัจเจกบุคคลเมื่อเป็นปัจเจกคนก็ไปกว้านซื้อที่ดินได้ ถ้ามีการตรวจสอบก็ได้เรื่องนะครับ อันนี้เป็นข้อเท็จจริงข้อที่ ๒ ว่าบ้านเราเป็นอย่างนี้จริงๆ ประการที่ ๓ ทุกเขื่อน ฝนมันไม่ตกลงมาตรงเขื่อน มันตกมาตั้งแต่ต้นน้ำและมีการใช้น้ำมาตลอดสาย การดูแลต้นน้ำของบ้านเราดูเหมือนจะมีกรมกองต่างๆ ดูแลอยู่แต่ที่จริงแล้วไม่มีรัฐบาลไหนเลยที่อธิบายอย่างชัดเจนว่า เขื่อนต้นน้ำหรือป่าต้นน้ำจะต้องได้รับการดูแลอย่างยั่งยืน จะด้วยวิธีการใดไม่มี เราก็ปล่อยปละเลยกันไปจนกระทั่งเรียกว่าอะไร กรมป่าไม้ที่ดูแลก็มีกรมอุทยานก็ถูกถ่วงน้ำกันทั้งกรมทำให้ป่าไม้หายไปเป็นร้อยล้านไร่ การฟื้นฟูแหล่งต้นน้ำยิ่งไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างแท้จริง ประการที่ ๔ คือ การบริหารจัดการน้ำ อันนี้โดยการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมที่เมื่อครู่วิทยากรหลายท่านกล่าวถึง ไม่ได้มีการเอาข้อเท็จจริงทุกด้านมาประกอบการพิจารณาพร้อมๆ กันท่านรู้หรือไม่ว่าพื้นที่ลุ่มน้ำยมมีเท่าไหร่ มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๖ ล้านไร่ เมื่อปี ๒๕๓๕ จากการสำรวจของกรมป่าไม้ พบว่ามีป่าอยู่ ๙ ล้านไร่ ปี ๒๕๔๓ ป่าหายไป ๑.๔๗ ล้านไร่ เราพูดกับหยาบๆ ว่าลิงมันตัดหรือต้นไม้มันโดนเถาวัลย์พันตายไปเองแบบแก่งกระจาน ก็คงไม่ใช่ ก็คนที่ในพื้นที่เองที่มีส่วนในการบริหารจัดการ ส่วนแก่งเสือเต้นตั้งแต่ทำมีแนวคิดโครงการมา ปัจจุบันพื้นที่ป่าหายไปแล้ว ๓๑,๐๐๐ ไร่ เฉพาะป่าสักทองที่มีเพียงแห่งเดียวในโลกคือในประเทศไทยก็ยังมีอีกไปดูได้เลยครับ และป่าที่นี่ถามว่าเหลือกี่เปอร์เซ็นต์ ตอบว่าแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หมายความว่าป่าที่ควรจะมีต้นไม้ ๒๐๐ ต้น มันมีต้นไม้แค่ ๑๐๐ ต้น ถ้าจะเอาข้อเท็จจริงว่าที่จริงคนในลุ่มน้ำนี้ทำอะไรลงไปบ้างทั้งหมด ก็เอาข้อมูลมาวางบนโต๊ะจะรู้ว่าข้อเท็จจริงแล้ว ประชาชนทุกคนต้องบริโภคน้ำไม่มีใครไม่ดื่มน้ำ เพราะถ้าไม่ดื่มจะอยู่ได้ไม่เกิน ๑ เดือน เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วถามว่าจะทำอย่างไร ก็มีข้อพิจารณาว่าข้อพิจารณาจะนำไปสู่อะไร คือคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สังคมก็มีความยั่งยืน อาชีพก็มั่นคงต่อไป หลักการของโครงการปิดทองหลังพระตามแนวพระราชดำริ มีหลักการพัฒนาอยู่ ๓ ขั้นตอน ขั้นตอนแรก คือชุมชนนั้นต้องอยู่รอด ขั้นตอนที่ ๒ คือ ใน ๒ ปี แรกต้องอยู่รอดใน ๒ ปีต่อไปต้องพอเพียงและอีก ๒ ปีต่อไปครบ ๖ ปี ต้องยั่งยืน ในปีแรกที่เริ่มต้นและปีสุดท้ายคุณภาพชีวิตจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และคุณภาพชีวิตจะดีกว่า เพราะนั้น เป้าหมายในการดำเนินการจะเสนอให้มีการดำเนินการเช่นนี้อย่างที่ ท่านอาจารย์อรพินท์ เสนอเช่นเดียวกัน ผมมีข้อเสนอและข้อพิจารณาประมาณ ๔ ข้อ และมี ๒ ข้อใหญ่และ ๒ ข้อย่อย คือ ข้อ ๑ การบริหารจัดการน้ำ ในแต่ละลุ่มน้ำจะต้องมีการศึกษาให้ครบถ้วน และต้องยกผลกระทบทั้งสิ้นที่มีอยู่รอบด้านตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำมาพิจารณาผลกระทบทั้งหมด แล้วก็มีแผนการจัดการร่วมกัน ซึ่งร่วมกันคือประชาชนเป็นหลัก ส่วนราชการเป็นตัวตั้งและมีผู้รู้ ผู้ชำนาญ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ช่ำชองในสาขานั้น โดยร่วมกับประชาชนทำแผนแม่บท ทำแผนงาน ทำโครงการต่างๆ ร่วมกับประชาชน ไม่ใช่ให้นักการเมืองมาชี้มาใช้ เมื่อประชาชนลุกขึ้นมาอย่างแท้จริงร่วมกับภาคราชการในพื้นที่จัดทำแผนแม่บทนั้นให้ได้ ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วจะเกิดปัญหา และทุกเรื่องทั้งต้นน้ำและท้ายน้ำปรากฏว่าคนเหนือน้ำประมาณ ๑,๐๐๐ ครอบครัว แต่คนท้ายน้ำมีเป็นล้านคนที่ได้รับผลกระทบ ต้องเอามาพูดกันให้หมด ต้องพูดกันให้ชัดเจน เพราะฉะนั้นการจัดทำแผนแม่บทในลุ่มน้ำจึงเห็นว่ามีความจำเป็นและมีความสัมพันธ์ คนที่จัดทำแผนแม่บทจะต้องเป็นภาคราชการและประชาชนในพื้นที่ร่วมกันทำ ผมเคยประชุมร่วมกับ ๘ องค์กรที่จัดการน้ำ ผมถามว่ามีแผนแม่บทในการบริหารจัดการน้ำแต่ละลุ่มน้ำหรือไม่ คำตอบคือเงียบ ไม่มี ถามอีกทีว่าเราเคยมีหรือไม่ ท่านตอบว่าเคยมีเมื่อ ปี ๒๕๔๙ และตอนนั้นใช้งบประมาณ ในการบริหารจัดการน้ำจากงบไทยเข้มแข็ง แต่การบริหารจัดการน้ำครั้งนี้อยู่ในส่วนของแผนแม่บทหรือไม่ คำตอบคือไม่อยู่ เพราะฉะนั้น คนที่ใช้เงินจากการบริหารของรัฐบาลกับแผนที่ใช้ในการจัดการในพื้นที่จริงๆ จึงแตกต่างกัน ดังนั้น ผมจึงเรียกร้องว่าวิธีแก้ไขคือให้ชุมชน ประชาชนหรือส่วนราชการในท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำแผนแม่บท ตั้งแต่หัวน้ำ ท้ายน้ำ การปลูกป่า การรักษาป่า จนกระทั่งถึงการใช้น้ำสุดท้ายที่สมุทรปราการ ข้อ ๒ การดูแลเกี่ยวกับผลกระทบไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมของเราทำเป็นปัจเจกบุคคล ชดเชยเงินก็ชดเชยเงินให้กับที่ดินที่เป็นเจ้าของบ้าน หัวหน้าครอบครัว มีบ้านกี่หลัง มีต้นไม้กี่ต้นก็ให้พ่อไป ส่วนครอบครัวจะมีสมาชิกกี่คน บรรลุนิติภาวะแล้วหรือยังตรงนี้ไม่มีการคำนึงถึง เอาเป็นปัจเจกหมด แม้แต่ว่าเขื่อนป่าสักจะจ่ายตรงนี้สูงกว่าหลายเท่าแต่ก็จ่ายให้หัวหน้าครอบครัวเพียงอย่างเดียว หรือถ้ามีครอบครัวเพิ่มก็จะจ่ายเพิ่มให้อีกนิดหน่อย แต่ถามว่าครอบครัวมีลูกเพียง ๑ คนหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ แล้วถามว่าทำอะไรก็ได้แค่นั้น อันนี้คือไม่คำนึงถึงจำนวนครอบครัว ดังนั้น ในการบูรณาการต่อไป การชดเชยเงินจะต้องคำนึงถึงจำนวนคนในครอบครัวด้วยและคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานของบุคคลนั้นด้วย คนที่เป็นชุมชนดั้งเดิมไม่มีสิทธิเลยอยู่มาเป็นร้อยปี กับนายทุนที่บุกรุกและได้รับเอกสารสิทธิมาเป็นร้อยไร่พันไร่แต่กลับได้สิทธิเท่ากัน ต้องมีการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ได้มาให้ครบถ้วน เพราะเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมมาก่อนหน้านั้นแล้ว ถ้าชดเชยถามว่าความเป็นธรรมที่ไม่ถูกต้องก็ไม่เป็นธรรมอันนี้เห็นได้ที่เขื่อนป่าสัก คือ มีคนรวยมาก คนก็พยายามร้องเรียนเข้ามาอยู่เรื่อยๆ อันนี้ก็ต้องดูแลรายละเอียดให้ชัดเรื่องการให้สิทธิของชุมชนดั้งเดิม ต้องมีการตรวจสอบการประเมิน ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องของความเสียหายที่ท่านมนตรีพูดไว้เป็นความเสียหายภาครัฐ รัฐได้จ่ายเงินชดเชยไปให้เขาเท่าไหร่ อย่างเช่นเมื่อก่อนชดเชยข้าวไร่ละ ๖๐๐ กว่าบาท ตอนนี้เพิ่มอีก ๒๐๐ กว่าบาท ถ้าชาวนาไม่ถูกน้ำท่วมเขาขายข้าวได้ไร่ละ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่ได้ค่าชดเชยแค่ ๒๐๐ บาท เขาเสียหายมากกว่านั้น ในขณะที่ทางราชการเสียหายไป ๑,๒๐๐ บาท เราพูดตัวเลขแค่นี้ ไม่รวมความเดือดร้อนที่ต้องนอนแช่อยู่ในน้ำกว่า ๓ เดือน ความเสียหายในการเสียเวลาเดินทางที่ไม่สะดวก สิ่งเหล่านี้ไม่มีใครพูดถึงหรือสำรวจอย่างแท้จริง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสำรวจข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ด้วย ส่วนเรื่องการอพยพ ในกรณีที่ต้องมีการอพยพจะทำแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่าใครจะสร้าง กรมชลประทานหรือการไฟฟ้าจะสร้างต้องคิดใหม่แล้ว จะทำแบบเขื่อนป่าสักก็ไม่ได้ เพราะได้เกิดผลอย่างที่ท่านอาจารย์อรพินท์ ตั้งสมมุติฐานไว้เกี่ยวกับสังคม ความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ใช่ว่าที่ยังจนก็จนเหมือนเดิมส่วนที่รวยก็รวยไป ดังนั้น ถ้าคิดเป็นชุมชนแล้วการคงไว้ของความชุมชนมีความจำเป็น ผู้ใหญ่บ้านคนเดิมมีการเลือกตั้งใหม่ก็ยังเป็นหมู่บ้านเดิม ญาติพี่น้องอยู่ด้วยกัน ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมยังรักษากันไว้ จะสร้างวัดคนอุปถัมภ์ก็ยังเท่าเดิมอยู่ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงทำให้การอพยพโยกย้ายตามนี้ดูเหมือนว่าเกาะกลุ่มมากขึ้น ท่านเชื่อหรือไม่ว่าเขื่อนสิริกิติ์ชื่อคือสมเด็จพระนางเจ้า แต่เรื่องคนอพยพยังไม่จบซึ่งผลเป็นกรรมการตรวจสอบช่วยเหลือขณะนี้ยังไม่จบ เพราะฉะนั้นนั่นคือการคำนึงถึงชุมชนเป็นหลักและอย่างยิ่งและการทำผังชุมชนที่อยู่อาศัยต่างๆ ชุมนุมเท่านั้นที่เป็นผู้ร่วมทำผังเป็นผู้กำหนดผังไม่ใช่จับฉลาก ชุมชนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ข้อ ๓ การจัดที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินจะยึดถือเฉพาะหัวหน้าครอบครัวไม่ได้ ต้องนึกถึงจำนวนประชาชนจริงๆ ที่จะอยู่อาศัย ทั้งที่บรรลุนิติภาวะและยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ครบถ้วน ถ้าทำอย่างนั้นแล้วปัญหาจะไม่เกิด ที่ปรากฏทุกวันนี้ปรากฏว่าบ้านแม่ลูก ๓ คน เป็นเกษตรกรแต่เดิมทำมาหากินอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำนั้น พอขยับเขาเข้าไปในพื้นที่อื่น พวกเขาก็ไม่มีพื้นที่ทำกินแล้ว อันนี้คือปัญหา ที่ต้องคิดให้หมด ข้อ ๔ ทุกส่วนราชการต้องให้ความร่วมมือ ต้องถือเป็นภารกิจที่ต้องดูแลผู้อพยพหรือว่าการเลือกที่ตั้งชุมชนใหม่ เลือกที่ดูแล้วเห็นว่าที่เหมาะสมที่สุดคือตรงนี้ เป็นป่าสงวนหรือเป็นป่าไม้ แล้วสนับสนุนให้เกิดให้ได้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับอาชีพ เกี่ยวกับอะไรต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการร่วมกันตรงนี้ทุกภาคส่วนต้องถือเป็นภารกิจหน้าที่ ข้อ ๕ ต้องมีแผนงานโครงการที่ราษฎรหรือผู้อพยพเหล่านั้น จะต้องมีอาชีพที่มั่นคงไม่ใช่ตัดหางปล่อยวัด ได้เงินไปแล้วจะทำอะไรก็ช่าง ไม่ใช่อีกแล้ว ต้องมีอาชีพที่มั่นคง มีระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก และที่อยู่อาศัยครบถ้วนก่อนมีการอพยพ ผมเห็นผู้อพยพต้องออกไปนอนข้างถนนมันเป็นเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาเพราะว่าต้องการความรวดเร็วมั่งอะไรมั่ง ประชาชนไม่มีส่วนร่วมเลย ดังนั้น ต้องทำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนจึงค่อยอพยพไป มีบ้านใหม่ มีโรงเรียน มีวัด มีเจ้าอาวาสใหม่เรียบร้อยทั้งหมด ประการสุดท้ายที่เป็นข้อเสนอและข้อพิจารณาก็คือ เรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้เป็นผู้ชี้นำ รัฐบาลจะต้องสนับสนุน แม้ว่าจะมีมูลค่าหรือเงินที่ต้องลงทุนมากก็ตาม รัฐบาลต้องทำให้เกิดการศึกษาดำเนินการแบบที่กล่าวไปข้างต้นในทุกลุ่มน้ำ และเอาข้อเท็จจริงทั้งหมดมาพูดกัน ต้องจัดสรรให้พอเพียงไม่เช่นนั้นก็จะมีการเข้าไปบุกรุกป่า ดังนั้นต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูดกันว่าเขามีสิทธิในที่ดินหรือไม่ ต่อไปถ้าเขาอพยพจะมีสิทธิในที่ดินเป็นทรัพย์สมบัติ มีที่อยู่อาศัย กับอาชีพที่เขาจะทำ ในแบบที่เป็นชุมชนที่เขาได้เลือกเอง สร้างเอง ทำเอง แล้วมีชีวิตที่ดีกว่า ที่มั่นคงกว่าถามว่าจะเอาหรือไม่ ทั้งหมดทั้งสิ้น ข้อเท็จจริงกับข้อพิจารณาในการดำเนินการในทุกลุ่มน้ำให้เอามาทั้งหมดและไม่เอาแบบคิดเอาคาดหมายเอา ข้อเท็จจริงอีกเรื่องคือท่านทราบหรือไม่ว่าถ้ามีการต่อต้านแล้วใครได้ประโยชน์ ถ้าเรามาร่วมกันคิดร่วมกันทำอย่างมีเหตุมีผลแล้วให้ประชาชนและข้าราชการผู้ที่เชี่ยวชาญช่ำชองตามสายงานต่างๆ มาช่วยกันร่วมมือกับประชาชนแล้ว ใครจะมาเป็นรัฐบาลก็ได้แต่จะต้องทำตามประชาชน ข้าราชการเราอ่อนแอ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เป็นต้นมา ทำอะไรจะต้องถามนโยบายก่อน ดังนั้น ถ้าข้าราชการไม่เข้มแข็งจริงประชาชนก็จะเดือดร้อน. นายวิชิต พัฒนโกศัย ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการฯ: อันที่จริงผมมีภารกิจที่ต้องขึ้นมาพูดบนเวทีด้วย แต่เนื่องจากเวลาค่อนข้างกระชั้นชิด ดังนั้น จึงขอนั่งฟังข้างล่างและถ้ามีปัญหาที่ต้องตอบคำถามก็จะขึ้นมาตอบเพื่อกระชับเวลา ที่อยากจะเรียนต่อที่เสวนาในวันนี้ คือ เรามาพูดกันถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากลุ่มน้ำยมนี่คือประเด็นหลัก ฟังการอธิบายของแต่ละท่านมาตามลำดับก็เข้าใจดี สุดท้ายมามองกันที่สาเหตุที่น้ำท่วมหรือฝนแล้งที่มันมีผลกระทบต่อประชาชนกว่า ๒ ล้านคน/ปี ผมดูตัวเลขจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใน ๕ ปี จ่ายไป ๕ แสนล้านบาท เฉพาะที่ไปเยียวยาด้านน้ำท่วมฝนแล้งไม่นับรวมถึงการเยียวยาด้านสุขภาพจิตหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพวกสัตว์เลี้ยงต่างๆ อีกมากมาย ประชาชนที่ได้รับผลกระทบควรได้รับการเยียวยาอันนี้เป็นสิทธิซึ่งเป็นประเด็นหลัก หากมองย้อนกลับไปมองเกี่ยวกับวิธีป้องกัน ที่พูดมาหาวิธีเยียวยาได้หมดแต่ถามว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร มาจากฝนตกใช่หรือไม่ มาจากฝนตกน้อยใช่หรือไม่น้ำจึงไม่พอใช้ เมื่อฝนตกมาก ในอดีตเราคงทราบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ถึง ๓๑๒ ล้านไร่ มีพื้นที่ป่า ๒๐๐ กว่าล้านไร่ ปัจจุบันเหลืออยู่ ๑๐๒ ไร่ ก็แสดงว่าป่าของเราถูกทำลายลงไปเพื่อเอามาทำการเกษตร ทำสารพัดใช้ประโยชน์ก็ไม่ว่ากัน เมื่อก่อนป่าเหล่านี้เป็นแหล่งซับน้ำฝนตกมาก็ซับไว้ ค่อยๆ ปล่อยไหลลงมา ตรงไหนที่มีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ น้ำก็จะไม่ท่วม ส่วนหน้าแล้งก็ปล่อยน้ำออกมา คนก็เอาน้ำใช้ในการเกษตรหรืออุปโภคบริโภค ปัจจัยตรงส่วนนี้ได้หายไป วันนี้กรมชลประทานได้พยายามทุกรูปแบบที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ แก้มลิง หรือกระทั่งการสร้างเขื่อน ผมถามว่าถ้าสร้างครบองค์ประกอบตรงนี้ ยังจะท่วมอีกหรือไม่ ผมตอบว่าเกิดแน่เพราะน้ำฝนที่ตกมา ๔ เดือนช่วงหน้าฝนมันตกลงมาเต็มที่มันไม่มีป่าซับไว้ ถึงอ่างเก็บน้ำจะสร้างแค่ไหนมันก็จำกัด มันก็ล้นท่วม แต่พอถึงเวลาแล้งไม่มีป่าสะสมน้ำไว้ น้ำก็น้อย มันก็แล้งเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น องค์ประกอบสุดท้ายคือการกลับไปมองถึงวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ท่านเองต้องกลับไปทบทวนวิธีป้องกัน ไม่ใช่วิธีการเยียวยาอย่างเดียว ถ้าไม่มองทำอีกร้อยปีก็ยังคงเป็นอย่างที่เราคุยกัน ผมก็อยากจะนำเรียนว่าควรจะต้องฟื้นฟูป่า หลายๆ ฝ่ายต้องช่วยกันทำ ทีนี้ถามว่าไม้ที่จะนำไปปลูกควรเป็นแบบไหน ผมว่าไม้ทุกชนิดเป็นประโยชน์หมด พืชที่มีใบสีเขียวมันเป็นประโยชน์ทั้งนั้น ขอแต่เพียงมีราก กิ่ง ก้าน ใบ ช่วยซึมซับน้ำตั้งแต่บนลงล่าง ดังนั้น ก็ไม่จำกัดชนิดว่าสมควรจะปลูกไม้ชนิดอะไรเพียงแต่ว่าถ้าจะดำเนินการตรงนั้นจริงๆ ให้ปรึกษากับกรมป่าไม้ หน่วยงานนี้จะรู้ว่าลักษณะป่าตรงนี้สมควรจะปลูกไม้ชนิดอะไร ถ้าเป็นป่าดิบจะปลูกไม้ชนิดหนึ่ง ป่าเบญจพรรณปลูกชนิดหนึ่ง และป่าแล้งปลูกอีกชนิดหนึ่ง อันนี้ก็เป็นองค์ประกอบที่จะควบคู่กันไป ปลูกต้นยางพาราก็ดี ไม่ว่าจะเป็นยางนา ยางดง มีประโยชน์หรือไม่ผมเรียนว่ามีประโยชน์ แต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะว่าในบางครั้งยางพาราหากเอาไปปลูกในที่สูงมากๆ มันจะไม่มีรากแก้ว โอกาสที่มันจะยึดดินก็จะน้อยแล้วก็จะเกิดปัญหา อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่ได้เรียนให้ทราบทางที่ดีคือไปปรึกษาป่าไม้ในท้องที่ของท่าน เขาจะรู้ดีและให้คำปรึกษาท่านได้ รวมทั้งจะมีเอกสารข้อมูลเผยแพร่มากมาย ก็สมควรว่าวันนี้ขอให้พิจารณาตรงต้นน้ำลำธาร ตั้งแต่จังหวัดพะเยาในฐานะที่เป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำยม รวมทั้งพื้นที่ที่มีป่าทั้งหมดไม่ว่า แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ คิดตัวเลขออกมาประมาณ ๗ -๘ ล้านไร่ที่ป่าถูกทำลายลงไป ถ้าเราช่วยกันปลูกฟื้นฟูไปสัก ๔๐ -๕๐ เปอร์เซ็นต์ มันก็จะประทังไม่ให้น้ำท่วมหรือฝนแล้งได้ ส่วนวิธีการจะกักเก็บน้ำไว้ใช้อันนี้ก็เป็นประโยชน์ วันนี้สิทธิของประชาชนในลุ่มน้ำได้รับผลกระทบกระเทือนมาก อย่างไรก็ตามที่มองย้อนกลับไปว่าถ้าเราจะไปสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คนลุ่มน้ำยมต่างถกเถียง อันนั้นก็เป็นสิทธิของเขาเช่นเดียวกันควรจะได้รับการดูแลเช่นกัน เพียงแต่เราต้องชั่งน้ำหนัก แล้วดูว่าสมควรจะต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่หรือเปล่าอันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องเก็บไปพิจารณา ส่วนข้อมูลต่างๆ ที่อาจารย์อรพินท์ได้นำเสนอ ผมคิดว่าเป็นข้อมูลที่ดีพวกเราก็อาจจะนำไปพิจารณากัน อาจจะค่อยๆ คุยและแก้ไขปัญหาซึ่งกันและกัน ผมเองได้ฟังเรื่องของการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำยมมา ๔ ปีเต็ม ก็พยายามเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุดและเห็นใจทุกท่าน เพียงแต่ว่าเราต้องหาทั้งวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาจะดีที่สุดเพราะว่าปัจจุบันตัวเลขความเสียหายเริ่มมากขึ้น. สรุปข้อคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการเสวนา “สิทธิมนุษยชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ : กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำยม” -------------------------------- นายเอกพงษ์ ผดุงวงศ์ ผู้เข้าร่วมการเสวนา: วันนี้เราพูดถึงเรื่องสิทธิส่วนบุคคลก็คงไม่แตกต่างกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กับชาวบ้าน เราใช้สิทธิและความคุ้นเคยในการใช้สิทธิของตัวเอง แต่เราก็ต้องมองถึงความเป็นธรรมเป็นหลัก พอเราบอกว่าเราจะมีส่วนร่วมในการพัฒนาการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำร่วมกัน ซึ่งสุดท้ายคำว่า “สุดโต่ง” เราต้องเข้าใจว่าวิถีชีวิตชาวบ้านจริงๆเป็นแบบนี้ ชาวบ้านเขาคิดอย่างนี้ไม่มีใครเข้ามาเป่าหู อย่างเช่นกรณีเขื่อนป่าสักที่ทางวิทยากรได้กล่าวถึงเป็นเขื่อนที่ชดเชยมากที่สุดและมีการทุจริตมากที่สุด ชดเชยไร่ละ ๓๐,๐๐๐ – ๗๐,๐๐๐ บาท ไปซื้อที่ใหม่ไร่ละ ๔๐๐,๐๐๐ บาท เช่นที่ตำบลมะนาวหวาน ก็มีการไปศึกษาดูแล้ว พวกที่รับเงินไปแล้วสุดท้ายไม่มีที่จะไปก็จำเป็นจะต้องซื้อที่ดินไร่ละสี่แสน มัดมือชกเพราะว่าที่เขาถมแล้วและก็มานึกว่ารายได้ดีแต่สุดท้ายกลับมีเงินแค่พอซื้อที่ดินอย่างเดียวนอกจากนั้นทำอะไรไม่ได้ เหล่านี้เป็นข้อมูลการศึกษาในรอบแรก ในเรื่องของป่าไม้ ผมได้เตรียมหนังสือให้ท่านประธานกรรมาธิการฯ และขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คือ หนังสือสำนักเลขาธิการสวนจิตรลดา ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ เรื่อง ทรงขอบใจและทรงชื่นชม เรียน นายเอกพงษ์ ผดุงวงศ์ ประธานศูนย์ประสานงานองค์กรชุมชน อ.สอง จ.แพร่ ตามที่ราษฎร อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมกันปฏิญาณตนจะปกป้องรักษาป่าสักทอง ป่าเบญจพรรณ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ยม อันเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๗,๕๐๐ ไร่ โดยจะดำเนินการปลูกฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณห้วยยืน จำนวน ๗๒ ไร่ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ นั้น สมเด็จฯ ทราบแล้วและทรงขอบใจและทรงชื่นชมที่ราษฎรร่วมกันรักษาป่า เพราะป่าไม้มีคุณค่าอนันต์ต่อมนุษย์ ที่กล่าวมาเป็นข้อเท็จจริงถามว่าโกหกกันได้หรือไม่ ดังนั้น ผมจึงขอว่าต้องยกตรงนี้ให้กับคนที่ทำประโยชน์อย่างจริงจังเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง พระครูวิจิตรธรรมนิเทศ กรรมการลุ่มน้ำยม ผู้เข้าร่วมการเสวนา: เจริญพรท่านวิทยากรและท่านผู้เข้าร่วมรับฟังการเสวนาในวันนี้มีเรื่องอยากจะอภิปรายหลายเรื่อง เราพูดกันบ่อยๆ แต่พูดแล้วก็ทำไม่ได้และไม่รู้ว่าจะพูดกันไปทำไม นี่คือเรื่องหนึ่ง ส่วนคำพูดที่ว่าทำงานแบบบูรณาการ มันแปลว่าอะไรไม่รู้ แต่ปรากฎว่ามันบูรณาการเฉพาะชื่อ เงินมันไม่บูรณาการ พอเงินมันไม่บูรณาการเวลากรมไหนทำได้บ้างก็คือกรมนั้นเป็นหน่วยงานที่ประชาชนต้องไปคุยด้วย พอคุยจบก็กลับบ้านมันก็คือแค่นั้น อาตมากำลังบอกว่ากรมชลประทานกำลังมองเฉพาะน้ำที่มันลอยมาบนพื้นผิวดิน เมื่อก่อนมันไปไหน น้ำมันซึมลงดินได้หรือไม่ พูดไปถึงว่าถ้าดูถนนทั่วประเทศความกว้างของถนนเท่าไหร่ หลังคาเรือนมันเกิดขึ้นมาเท่าไหร่น้ำที่เคยซึมบนผิวถนนมันเคยซึมได้แต่เดี๋ยวนี้มันซึมได้หรือไม่ อันนี้ต้องดูภาษาพระบอกว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คือ ต้องดูต้นเหตุมาก่อน เสร็จเรียบร้อยมาดูเรื่องทำนา เมื่อก่อนการทำนา เขาทำกันอย่างไร เห็นว่าหน้าน้ำจะมีการทำนาฟางลอย น้ำขึ้นมาก็ลอยตามน้ำ น้ำลงก็ลงตามน้ำที่ลด แต่ทางกรมการเกษตรไปส่งเสริมกลับ เอาข้าวต้นแค่คืบไปให้ปลูกน้ำก็มันก็ท่วมจนมิด เมื่อก่อนทำนาเสร็จแล้วทำอย่างไร เวลามีวัชพืชขึ้นมาก็ค่อยไปดายไปเก็บ ไปเกี่ยว ไปถอน รากของต้นไม้ที่ถอนมันก็ยังอยู่ เมื่อรากยังอยู่มันก็ยังเกาะดิน แต่เดี๋ยวนี้ใช้ยาฆ่าหญ้าตายหมด รากก็ไม่มีเกาะลงไปในดินน้ำมาก็ไปหมด แล้วปัจจุบันที่เขาทำนาเขาก็ไม่ได้ไถดะหรือไถแปร แต่ใช้เครื่องจักรกลไปไถเลยมันก็เหมือนไปละเลงดิน ดินมันก็เสีย น้ำมามันก็ไม่ได้ซึมลงไปในดินเลย นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นมา คราวนี้ต้องคุยกันว่าเราไปหลอกชาวบ้านเขามากว่า ๓๐ ปีแล้ว อย่างเรื่องของเขื่อนแก่งเสือเต้น ไปบอกเขาจนมีความหวัง แต่หนองน้ำก็ถูกยึดแถมใครเข้าไปใช้ที่ที่เป็นหนองน้ำเดิม รัฐบาลก็เอาให้เช่าอีกต่างหาก ใครที่เข้าไปยึดได้ก็เข้าไปยึดตามอำเภอใจ ไปแย่งที่ซับน้ำ ดังนั้น ถ้าจะต้องแก้ไขมันก็ต้องแก้กันทั้งระบบ ถ้าไปแก้แค่อย่างเดียวมันก็แก้ไม่ได้ แก้ยังไงมันก็ยังจะท่วม อยู่อย่างนี้ ทีนี้พอเข้าไปยึด เวลาจะเอาคืนก็เอาคืนไม่ได้แล้ว จริงๆ แล้วชาวบ้านเขาไม่ค่อยกลัวเรื่องน้ำท่วมถ้ามันท่วมแบบธรรมชาติ แต่เขากลัวเรื่องภัยแล้งมากกว่า น้ำในห้วย หนอง คลอง บึง ก็ไม่มีจะมีก็แต่บ่อขุดเล็กๆ ในหมู่บ้าน เดี๋ยวนี้ไม่มีอาศัยแต่ฝนกันอย่างเดียว ชีวิตของคนในชนบทเป็นเช่นนั้นเพราะบึงมันถูกยึดไปหมด เพราะฉะนั้น มันก็เกิดเป็นปัญหาและถ้าบ่นกันโดยไม่มีการแก้ไขถามว่าจะบ่นกันไปทำไม เอาสิ่งที่มันเป็นปัจจุบัน ส่วนที่น้ำท่วม ณ ตอนนี้ต้องทำอย่างไรจึงจะเกิดการเฉลี่ยน้ำได้ กรมชลประทานคิดอย่างไรก็ไม่รู้ แต่บอกได้ว่าแม่น้ำยมที่ท่วมอยู่ทุกวันนี้เพราะคนไปฝืนธรรมชาติ ไปสร้างเขื่อนสองริมฝั่งแม่น้ำยกระดับน้ำให้มันสูงขึ้น เหมือนกับเราลืมเปิดน้ำทิ้งไว้ในห้องน้ำแต่มันมีรูระบายน้ำมันก็ไม่ล้นแต่ถ้าวันหนึ่งเราเอาตุ่มไปตั้งไว้ เอาน้ำใส่ตุ่มวันหนึ่งเราเกิดทุบตุ่มแตกถามว่าน้ำมันจะล้นออกมาจากห้องน้ำไหม ข้อเท็จจริงคือ ตั้งแต่ อ.ศรีสัชนาลัย น้ำก็ถูกยกขึ้นสูงตลอด ตรงไหนน้ำขึ้นสูงรับไม่ไหวมันก็พังมันก็วิกฤต ก็คุยไปถึงกรมทางหลวงอีกว่ายกระดับถนนให้สูงขึ้นๆ ถ้ามันเฉลี่ยน้ำออกไปทั่วๆ เฉลี่ยซัก ๑๐ เซนติเมตร มันก็ไม่เดือดร้อน ชาวบ้านเขาก็ท่วมอยู่บ่อยๆ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย แต่ทำไมเราทำไม่ได้ ท่อระบายน้ำไม่ทำ มีสิ่งกีดขวาง บุกรุกที่ซับน้ำ แล้วจะแก้ตรงไหน มันมีโจทย์ให้แก้อยู่แต่พอบอกให้แก้แต่กลับไปคิดกันแต่อย่างอื่นเรื่อยๆ ไม่ใช่มันมีที่ดินอยู่เท่านี้ ที่ไหนไม่รู้ ๗,๐๐๐ ไร่ ขุดไปแล้วเอาดินไปกองอีกที่หนึ่ง เอาน้ำไปกองอีกทีหนึ่ง น้ำมันก็กองอยู่ที่เดิม วันดีคืนดีเอาเงินเป็นพันๆ ล้าน ไปโยกน้ำกับดินไปไว้อีกที่หนึ่ง ถามว่าจะแก้ไขปัญหาได้เท่าไหร่ ถ้าทำอย่างนี้ทุกโครงการมันก็จะเป็นอย่างนี้ ดังนั้น เราจึงต้องดูว่ามันเป็นอย่างไร พอขุดเสร็จเรียบร้อยมาบอกว่าเราไม่มีที่ทิ้งดินแล้วทำไมที่ที่เขาจะให้ทิ้งไม่ไปทิ้ง ทำไมไม่ตั้งงบประมาณเผื่อไว้ ขุดคลองแต่ละครั้งก็เอาดินไปเสริมข้างๆ ยิ่งเสริมคลองก็ยิ่งแคบลง ดังนั้น คลองแม่น้ำทั้ง ๑๑ สาขา ของลุ่มน้ำจะปรับปรุงได้หรือไม่ ปรับปรุงแล้วทำฝายชะลอน้ำ น้ำฝนมันตกไม่พร้อมกันและน้ำก็ไม่ได้ลงมาพร้อมกัน เวลาน้ำท่วมพร้อมกันใครๆ ก็พูดว่ามารวมกันที่นครสวรรค์ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ ถามว่าแม่น้ำน่านลงที่ไหน คือ ลงที่พิจิตร ซึ่งก็ไม่จริงเช่นเดียวกัน มันจะติดที่เขื่อนนเรศวรก่อนจึงจะมาลงที่ อ.บางระกำ และ อ. กงไกรลาศ ในเมื่อมันมีเขื่อนปิดทำไมถึงไม่ปล่อยให้ลงมาทีละข้าง ถ้าคิดได้อย่างนี้ก็อาจลองคิดว่า เสนอให้มีการขุดลอกแม่น้ำคลองและลำธาร ทั้ง ๑๑ แห่ง และดูว่าใครมันไปสร้างอะไรทีกีดขวางทางน้ำบ้าง ส่วนเรื่องของชุมชน ลองเอากรมพัฒนาชุมชนลงไปในพื้นที่ไปสำรวจครัวเรือนว่ารายได้ของเขาเป็นอย่างไร เริ่มตั้งแต่มกราคม – ธันวาคม แล้วดูว่าช่วง ๓ เดือนที่น้ำท่วม เขามีรายได้อย่างไร ส่วนใหญ่เห็นเขาจับปลาขายมีรายได้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต แล้วถามว่าคนนอกไปโวยวาย ชาวบ้านเขาเลยต้องโวยวายตาม อย่างใน อ. บางระกำ เข้าไปตั้งคันให้เสร็จเรียบร้อยและเขาทำนาได้เลย ๓ หมื่นกว่าไร่ ดีกว่าไปชดเชย ๙ จังหวัด จะดีกว่าหรือไม่ แล้วถามว่าเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ถ้าตกลงสร้างวันนี้กี่ปีเสร็จ ถ้าสร้างบนกับล่างวันนี้กี่ปีเสร็จ อันที่สองที่จะขอไว้อยากให้มี ๑ ตำบล ๑ แหล่งน้ำ และทำคลองซอยไปถึงกันเพื่อเก็บรับน้ำ อย่างที่สามของร้องว่าหน่วยงานรัฐต่างๆ เวลาจะไปสร้างที่ทำการอย่าได้ไปสร้างในที่สาธารณประโยชน์ที่เป็นพื้นที่ซับน้ำจะได้หรือไม่ ผู้เข้าร่วมการเสวนา: ขอเรียนถามว่าเรามีไปเน้นเรื่องของการปลูกป่าโดยเฉพาะป่าต้นน้ำ โดยใช้เทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผมคิดว่าตรงนี้เราน่าจะเน้นเพราะเป็นเรื่องต้นทางของปัญหา ไม่เช่นนั้นก็จะแก้ไขเรื่องน้ำท่วมซึ่งเป็นส่วนของปลายทางของปัญหาไม่ได้ ก็ขอให้คณะกรรมาธิการฯ นำเสนอเรื่องนี้ต่อรัฐบาล ในการจัดหาพันธุ์ไม้ที่โตเร็ว ไม้ยางนาซึ่งเป็นไม้ที่ซึมซับน้ำได้ดีและไม่ตายแม้น้ำจะท่วม หรือไม้ยืนต้น เพื่อมาเสริมตรงจุดนี้ นายเชิดชัย อรรถวงษ์ ธกส. บางระกำโมเดล ผู้เข้าร่วมการเสวนา : วันนี้อาสามาเข้าร่วมการเสวนา ผมเป็นที่เกิดในจังหวัดแพร่ บังเอิญมาทำงานอยู่กลางน้ำที่ อ. บางระกำ ในส่วนของ ธกส. ช่วงนี้ก็เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น การชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งบางระกำก็เป็นอำเภอแรกของประเทศไทยที่มีการจ่ายค่าชดเชยในวันพุธที่ผ่านมา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางไปจ่ายให้ แค่ตำบลเดียวก็ใช้งบประมาณกว่า ๑๘ ล้านบาทแล้ว มีคนพูดกันเล่นๆ ว่า “น้ำยมเกิดขึ้นที่พะเยา ไหลเบาๆ มาท่วมที่แพร่ มาแย่ที่สุโขทัย มาท่วมใหญ่ที่พิษณุโลก ไปเศร้าโศกที่พิจิตร ไปวิกฤตที่นครสวรรค์ ไหลไปรวมกันที่เจ้าพระยา” ที่ผ่านมาก็ได้ฟังหลายเรื่องหลายตอน วันก่อนหลังจากที่ผมไปเป็นพิธีกรแจกถุงยังชีพ มีกำนันตำบลหนึ่งก็บอกว่าพรุ่งนี้เราเจอกันนะครับ หนังสือพิมพ์ก็ลงหน้าหนึ่งยืนอยู่กลางน้ำบอกว่าต้องสร้างแก่งเสือเต้นให้ได้ อีกสองวันต่อมากำนัน ต.สะเอียบ บอกว่าถ้าใครมาสานกูสู้ตาย ก็เถียงกันอย่างนี้ ผมก็ทำงานมา ๓๐ ปี ก็ได้ยินมาตลอดว่าจะสร้างหรือไม่สร้าง เป็นเรื่องที่ถกเถียงกัน จากที่ฟัง ดร.สมเกียรติฯ ก็ทำให้ทราบข้อมูลว่าคนที่อยู่ข้างล่างก็ถามว่าทำไมไม่สร้างเขื่อนซักที ทางข้างบนก็ห่วงเรื่องป่าไม้ ดังนั้น จึงจะเล่าให้ฟังว่าวิถีชีวิตของคน ต.สะเอียบ หรือผลกระทบต่างๆ ไม่ได้รับการดูแล ผมเห็นลุ่มน้ำหนึ่งที่ จ.อุบลราชธานี ตอนนั้นกำลังสร้างเขื่อนปากมูลพอดี ผมนึกแบบไม่อิงวิชาการว่าไม่น่าจะสร้างเลยเพราะว่าน้ำมูลมีคนบอกว่าปลาจะสูญพันธุ์ รัฐมนตรีท่านหนึ่งตอนนั้นเสนอว่าต้องสร้างบันไดปลาโจน ปรากฏว่าทำบันไดให้มันขึ้นมันก็ไม่ขึ้นมา สุดท้ายก็ไม่ได้ เมื่อก่อนที่น้ำโขงสีมูล น้ำมูลสีคราม ไปไหลบรรจบกันที่โขงเจียม วันนี้ทัศนียภาพตรงนั้นไม่เห็นแล้ว กรณีของแก่งเสือเต้นก็อาจหายไปเช่นกัน อันนี้เรื่องผลกระทบก็ยังไม่เสร็จเลย ผมได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเรื่องของอาชีพของชาวบ้านให้เขาลองปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เขาไม่เคยทำต่อมาก็เลยเสียเปล่า ธกส.ก็ต้องรับหนี้สินไปเพราะแก้ไขไม่ได้และคนมีอาชีพไม่ดี นายเมธา วนดิลก ผู้เข้าร่วมการเสวนา: จากที่ที่เสวนาได้กล่าวถึงเรื่องยางพารา พอดีผมได้เป็นผู้รับผิดชอบด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช ผมจึงอยากเรียนข้อเท็จจริงว่าในทางปฏิบัติต้นยางพารามีรากแก้ว เพราะต้องเพาะต้นกล้าจากเมล็ด เมื่อเพาะจากเมล็ดจึงมีรากแก้ว เพียงแต่รากแก้วของยางพาราค่อนข้างจะสั้นไม่เกิน ๒ เมตร และที่วิทยากรกล่าวก็ถูก คือ หากไปปลูกในพื้นที่เนินสูงหรือที่มีความลาดชันสูงเกินกว่า ๓๕ องศา หน้าดินก็จะค่อนข้างตื้นเพียง ๑ เมตร ส่วนรากแขนงของยางพาราที่แผ่อยู่บนผิวดินบางทีอาจยาวถึง ๓๐ เมตร อันนั้นคือบนผิวดิน ในทางปฏิบัติเมื่อปลูกบนที่ลาดชั้นสูงมีน้ำไหลเซาะหน้าดินก็มีโอกาสถูกทำลายส่วนรากของต้นยางก็มักจะหยั่งไม่ลึก เว้นแต่จะปลูกในลักษณะของทางภาคอีสาน การปลูกยางเป็นป่าในแบบนั้นอาจเป็นการปลูกป่าในเชิงพาณิชย์ก็ได้ นายธนานนท์ สุคนธโยธิน กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ผู้เข้าร่วมการเสวนา: ตอนนี้ผมทำงานอยู่ที่ จ.แพร่ ในส่วนการศึกษาลุ่มน้ำยม ในเรื่องของกรณีศึกษาลุ่มน้ำยม จ.แพร่ ก็เกิดปัญหาน้ำท่วมมาหลายปี ทางผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งในอดีตและปัจจุบันก็ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยมีผมและอาจารย์เพทาย ปทุมทอง เป็นที่ปรึกษา ก็ได้สร้างฝายชะลอน้ำและฝายกักเก็บน้ำที่ จ.แพร่ ประสบการณ์หนึ่งที่ผมได้เจอมาเมื่อปีที่แล้วประมาณเดือนกรกฎาคม คือฝนตกหนักในท้องที่ อ.ร้องกวาง ปรากฏว่าจะมีหมู่บ้าน ๒ แห่ง หมู่บ้านหนึ่ง คือ หมู่บ้านทรายพร้าวได้สร้างฝายขนาดใหญ่ ๑๐๐ ประตู ซึ่งผมก็ไปเริ่มสร้างตั้งแต่ครั้งแรก อีกหมู่บ้านหนึ่งสร้างฝาย ๒๐ ตัว พอฝนตกหนักฝายที่หมู่บ้านทรายพร้าว บ้านเรือนราษฎรไม่ได้รับความเสียหาย ส่วนอีกหมู่บ้านที่สร้างน้อยกว่าพอน้ำป่าทะลักเข้ามาก็เกิดความเสียหาย ตัวนี้จะเป็นปัจจัยหนึ่งว่าถ้าเราจะแก้ปัญหาสิทธิชุมชนในเรื่องของภัยพิบัติ รัฐไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายเลยถ้าเรามีการแก้ปัญหาตั้งแต่เบื้องต้นในระดับจังหวัด แต่ถ้าในระดับลุ่มน้ำ ๑๑ จังหวัด ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เป็นโมเดลและผมว่าเราทำได้ จ.แพร่ ได้สร้างโมเดลขึ้นมาแล้วมีเอกสารเผยแพร่ด้วย ส่วนบางระกำโมเดลผมมองว่าดีแต่พื้นที่ของบางระกำมันมองดูเหมือนตลาดน้ำ เรียกว่าพอช่วงฤดูน้ำก็เป็นพื้นที่รับน้ำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น กรณีศึกษานี้ผมจึงอยากให้ท่านไปดูที่ จ.แพร่ เป็นตัวอย่าง ไปดูว่าเขาทำยังไง ตอนนี้เราตั้งเป้าไว้ว่าปี ๒๕๕๔ เราสร้าง ๘,๔๐๐ ฝาย โดยมีชาวบ้านร่วมมือร่วมใจกัน เรามีวัสดุให้แล้วขอให้คนมาช่วยกันทำงาน ก็มีทั้งนักศึกษา ประชาชนทั่วไป ผมก็เป็นวิทยากรอยู่ด้วยก็ไปให้ความรู้เรื่องฝาย ทำเพื่อลดแรงกระทบของชุมชน สิ่งเหล่านี้เราควรได้เข้าไปศึกษาและอาจจะนำมาประยุกต์ใช้ในลุ่มน้ำอื่นๆ ด้วย นายสมชัย จำปี นายกเทศมนตรี ต.วังชิ้น จ.แพร่ ผู้เข้าร่วมการเสวนา: ผมก็เป็นผู้บริหารท้องถิ่นซึ่งตอนต้น ซึ่งเห็นทาง ปภ.กล่าวว่าต่อไปจะมีบทบาทในเรื่องของการเป็นภาคีเครือข่ายในเรื่องของภัยพิบัติค่อนข้างจะมาก ตรงนี้ก็รับทราบและตระหนักดีแต่สิ่งที่ผมคิดว่าที่เรามาพูดกันถึงแต่เรื่องสิทธิชุมชนกับผู้ประสบภัยพิบัติ เราเลยลืมที่จะพูดถึงเรื่องหน้าที่ เพราะว่าบางครั้งเรามองแต่สิทธิขณะเดียวกันก็ลืมในเรื่องของหน้าที่ชุมชน หน้าที่ของประชาชนที่จะต้องหัดคิดเตรียมตัวเตรียมใจในเรื่องของภัยพิบัติหรือเปล่า ในส่วนของเทศบาลตำบลวังชิ้นเมื่อล่าสุดได้ประสบภัยหนักซึ่งก็ไม่ใช่ครั้งแรก ตั้งแต่ ผมได้อยู่ในวงการตั้งแต่เป็น สจ. เมื่อปี ๒๕๓๓ เคยเจอภัยเมื่อปี ๒๕๓๘ ซึ่งเยอะกว่าในภาพรวมของ จ.แพร่ แต่ที่ อ.วังชิ้น ปี ๒๕๕๐ มากกว่าปี ๒๕๓๘ ทั้งๆ ที่ในเมืองปี ๒๕๕๔ น้อยกว่าปี ๒๕๓๘ ก็คงไม่ใช่เพราะว่า น้ำยมจากต้นน้ำเท่านั้นที่มา อ.วังชิ้น พอถึง อ.เด่นชัย อ.สูงเม่น รวมกับ อ.รอง มันจะรวมเพิ่มที่ อ.วังชิ้น จนสูงกว่าในเมือง ปี ๒๕๓๘ ก็เลยเจอหนัก ผมว่าเรื่องภัยพิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำท่วมคงจะป้องกัน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ถึงแม้จะสร้างอีกกี่เขื่อนก็ตาม ผมคิดว่าต้นเหตุของการแก้ปัญหาน่าจะแก้ที่ต้นเหตุของการที่น้ำท่วมเกิดจากอะไรด้วย แม้แต่ในเรื่องของภัยแล้งเราจะแก้ไขได้หรือไม่ ผมว่าถ้าเป็นเรื่องของอุทกภัย เรื่องน้ำ น่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมมากกว่า ถ้าน้ำมากจะบริหารจัดการอย่างไร ถ้าน้ำน้อยจะเก็บกักไว้อย่างไร แล้วคนของเราเองก็ต้องมีหน้าที่ที่จะป้องกันตัวเองไปด้วย ผมก็เลยพอสรุปได้ว่าภัยพิบัติไม่สามารถป้องกันได้ ห้ามไม่ให้เกิดก็คงไม่ได้แต่ภูมิปัญญาและความรู้ทางวิชาการก็คงจะช่วยบรรเทาและช่วยเตือนตัวเองให้รอดพ้นจากภัยได้บ้าง แม้แต่แผนมาตรการก็คงจะเป็นการช่วยกันคิดทั้งตนเองและคนอื่นด้วย ผมพูดกับชาวบ้านที่วังชิ้นว่า มดเวลาฝนจะตกมันยังหาทางหนีเองแต่คนเวลาบางครั้งเตือนแล้วก็ยังไม่ยอมลุก ล่าสุดผมต้องไปรับกันกลางดึกมาบอกว่าไม่ไหวแล้วให้เข้ามาช่วยด่วน บางครั้งมันก็มืดแล้วคนก็ดื้ออีก ตรงนี้ก็อาจจะต้องหาทางแก้ไขกับพฤติกรรมของคนเราด้วย และถ้ามองถึงเรื่องสิทธิกับมนุษยธรรมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนสิทธิตามกฎหมายกับหลักนิติธรรมก็เป็นอีกเรื่อง ตอนนี้เรามีรัฐธรรมนูญ กฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งก็มีหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังว่าจะต้องช่วยอะไรอย่างไร ผมว่าตรงนี้ก็ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนว่าถ้าหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังออกมานั้น ไม่ว่า ปี ๒๕๔๖ หรือ ปี ๒๕๕๑ ที่ อ.วังชิ้น แทบจะไม่รู้เรื่องกันเลย เราไม่ได้ทำความเข้าใจว่า ชปอ. มีใครเป็นโครงสร้างจะพิจารณากันอย่างไร แต่อันนี้อาจเป็นเฉพาะที่วังชิ้นหรือเปล่า ที่จังหวัดอื่นๆ อาจจะเข้าใจกันดีใช่หรือไม่ ผมก็เลยคิดว่าตรงนี้น่าจะต้องมีการซักซ้อมแปรความให้เกิดความชัดเจนว่ากระบวนการช่วยเหลือที่เป็นสิทธิของประชาชนผู้ประสบภัยควรจะเริ่มต้นอย่างไร แบบฟอร์มเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่บ้านต้องรับรองแค่ไหน ตรงนี้ก็คงจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน บางครั้งภาคการเมืองชอบเอาตรงนี้ไปแปลความต่างหาก เช่นว่าให้เงินไม่เกิน ๑-๓ หมื่นบาท ทั้งหลัง ก็ไปแปลความว่าจะต้อง ๗ วัน ถึงจะได้ ๕,๐๐๐ บาท มันก็เป็นเรื่องของภาคการเมืองซึ่งจริงๆ แล้วควรจะเป็นเรื่องของการปฏิบัติทางราชการมากกว่า ผมเองก็เป็นนักการเมืองท้องถิ่นแต่ก็ไม่เคยไปบอกปัดป้องก็พยายามให้เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะปลัดได้ปฏิบัติตามระเบียบให้มากที่สุด และผมคิดว่าการแก้ไขระยะยาวที่น่าจะยั่งยืนคงจะเป็นการแก้ที่ต้นเหตุอย่างเช่นที่อาจารย์อรพินท์พูดถึงบ้านขายาวที่ไปต่อเติมชั้นล่างพอน้ำมาก็พังเลย แต่ถ้าบ้านขายาวโล่งๆ น้ำมันก็จะลอดผ่านไป ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของภูมิปัญญาดั้งเดิมแต่พอเวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยนก็คิดอีกแบบ พอเสียหายก็เรียกร้องสิทธิและการช่วยเหลือซึ่งก็ค่อนข้างจะมากมาย แต่ถ้าเราปรับตัวเราเองไปบ้าง ทำหน้าที่มากกว่าการเรียกร้องสิทธิก็จะดีขึ้น ผมว่าคนไทยทุกวันนี้เรียกร้องสิทธิมากกว่าการทำหน้าที่ของตัวเอง ตรงนี้ก็คงจะเป็นแนวคิดและข้อสังเกตในโอกาสที่ผมได้เข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้ ในส่วนที่เป็นผู้บริหารของท้องถิ่นก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและจะสร้างจิตสำนึกให้แก่พี่น้องประชาชนในการที่จะดูแลตัวเองเพื่อให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติได้ในโอกาสต่อไป นายสุรสิทธิ์ สิงหพรพงศ์ เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ผู้เข้าร่วมการเสวนา: ผมเพิ่งจะมาอยู่นครสวรรค์ได้ประมาณ ๘ เดือน เป็นระยะเวลาที่ไม่มากแต่ก็พอที่จะรู้อะไรต่างๆ ผมเริ่มรับราชการตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ พูดถึงเรื่องแก่งเสือเต้นมานานรัฐบาลก็ไม่เคยได้ทำสักที นั่นคือ ๓๐ กว่าปีที่ผ่านมา ถามว่าทำไม คือ การสานต่อของรัฐบาลมันไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนในที่สุดก็ไม่ได้ทำ พอไม่ได้ทำทีนี้ก็เกิดเป็นโมเดลในเรื่องต่างๆ ขึ้นมาตามความคิดในแต่ละยุคแต่ละสมัย ก็ป้องกันหน้าบ้านตัวเองก่อนที่อื่นจะเป็นยังไงก็ช่าง ปัญหาก็เลยทอดมาเรื่อยตั้งแต่จากข้างบนลงมาข้างล่างจนมาถึงนครสวรรค์ซึ่งเป็นที่รับน้ำ พอมาถึงที่รับน้ำเสร็จจะระบายออกสู่ทะเลก็ระบายไม่ได้เพราะกันไม่ให้ข้างล่างน้ำท่วม เช่น จ. อยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรีหรือกรุงเทพฯ หลายๆ จุดตรงนี้บอกว่าเป็นพื้นที่ ซึ่งจะต้องรักษาผลประโยชน์ของชาวบ้าน ก็คือสิทธิมนุษยชนนี่แหละครับ ในเรื่องของนาข้าวเพราะว่าต้องยอมรับว่าปีนี้น้ำมาเร็ว ตามปกติจะมีการเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนกันยายน แต่น้ำมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมและฝนก็ตกลงมาเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดปัญหาตรงนั้น คราวนี้ในระยะยาว การที่จะพร่องน้ำลงมาเรื่อยๆ คือ ต่อกันมาเป็นทอดๆ และถ้าเรามาแก้ตรงที่จะออกสู่ทะเลถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ โดยให้น้ำไหลออกทะเลไปเรื่อยๆ แต่เนื่องจากตรงที่จะออกปากอ่าวมันเล็ก มันระบายไม่ทัน เพราะว่าลำน้ำจากนครสวรรค์ถึงปัจจุบันมันแคบลง ไม่ว่าที่ไหนก็ดูเหมือนว่าจะแคบลงมันทำให้เกิดปัญหาว่าระบายน้ำไม่ทัน ซึ่งปัญหานี้เกิดจากมนุษย์เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็อยากขอฝากว่าจะทำอย่างไร คือตอนนี้ผมว่าน้ำจะระบายออกไปประมาณ ๑ เดือนถึงจะหมด ทำอย่างไรให้ระบายน้ำออกภายใน ๑๕ วัน ถ้าทำได้มันจะแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมดสำหรับในอนาคตระยะยาวขอให้ท่านไปคิดทำต่อ ส่วนที่ท่านบอกว่าให้ผมหาวิธีการไปคุยกับชาวบ้านไม่ให้ปลูกอะไรต่างๆ คงจะไม่ได้ สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของเขาตรงนี้ ที่เคยทำนาและเดือนกันยายนจะได้เก็บเกี่ยว แต่น้ำมันมาเร็วก็เลยเสียหายหมด นั่นคือสิ่งที่เขาเลือกแล้ว อยู่ๆ จะมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนในเรื่องของอาชีพของเขาคงไม่ได้แน่นอน ดังนั้น ก็ขอฝากในส่วนของเกษตรนะครับ ผู้เข้าร่วมการเสวนา: ผมขอเสนอประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของน้ำใต้ดิน ผมคิดว่าน่าจะลองดูตรงนี้ว่ามันจะรับน้ำได้แค่ไหน และมันจะป้องกันเรื่องแผ่นดินทรุดได้ด้วยเราอาจจะเก็บน้ำทะเลไว้ที่ใต้พื้นดินได้ อยากให้ท่านพิจารณาตรงนี้ ----------------------------------------------