วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

สร้างระบบลดภัยพิบัติ

ท่ามกลางภัยโศกนาถกรรมที่เกิดขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น ดินแดนที่ถือได้ว่ามีการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก และเป็นตัวแบบที่ดีและแหล่งเรียนรู้สำหรับการบริหารจัดการภัยพิบัติให้แก่ประเทศต่างๆ ความเสียใจอย่างสุดซึ้ง พร้อมกับความกังวลที่มีต่อประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับแผ่นดินไหว คลื่นสึนามิ และวิกฤติการณ์นิวเคลียร์ จึงเกิดเป็นข้อกังวลต่อการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในประเทศไทย ความรุนแรงของคลื่นสึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดียในปี พ.ศ.2547 ถือได้ว่าเป็นการปลุกสังคมระหว่างประเทศให้มีความตื่นตัวในการรับมือกับภัยพิบัติขนาดใหญ่เช่นนี้ ซึ่งลำพังเพียงแต่ประเทศที่ประสบภัยไม่สามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การร้องขอความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ โดยสำหรับประเทศไทยได้มีการปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการบริหารจัดการภัยพิบัติด้วยการตราพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ขึ้นมาแทนพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2542 พร้อมกับกำหนดให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการภัยพิบัติอย่างบูรณาการร่วมกัน จึงทำให้พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เป็นกฎหมายกลางที่ให้หน่วยงานอื่นๆ ใช้ร่วมกัน มีการเกิดขึ้นของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โดยคาดหวังให้ทำหน้าที่เตือนภัยให้แก่ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง ความเปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาค อาเซียนได้ออกความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response: ADMER) ในปี พ.ศ.2547 เนื่องจากการบริหารจัดการภัยพิบัติข้ามพรมแดนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือและประสานงานกัน หรือคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ได้ตั้งแผนกสารสนเทศและเทคโนโลยีการสื่อสารและการลดความเสี่ยงภัยพิบัติ (Information and Communications Technology and Disaster Risk Reduction Division: IDD) เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการภัยพิบัติ เป็นต้น ดังเห็นได้จากการเกิดของภัยพิบัติธรรมชาติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เพราะจากสึนามิในประเทศไทยครั้งนั้นถึงสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ จึงกลายเป็นประเด็นที่ยังคงน่ากังวลสำหรับประเทศไทยว่า แม้ประเทศญี่ปุ่นจะเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติธรรมชาติ ยังต้องเผชิญกับความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินมากมายถ้าเหตุการณ์ใกล้เคียงกันเกิดขึ้นในประเทศไทยความสูญเสียจะมากเพิ่มขึ้นเป็นกี่เท่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นส่งผลให้เกิดคลื่นสึนามิ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งเกิดผลการทบทำให้เกิดการระเบิดของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ทำให้ส่งผลให้เกิดกัมมันตภาพรังสีกระทบต่อประชาชนในบริเวณใกล้เคียง ทำให้การบริหารจัดการภัยพิบัติไม่อาจแบ่งแยกแผนการบริหารจัดการภัยพิบัติธรรมชาติและแผนการบริหารจัดการภัยพิบัติจากเทคโนโลยีออกจากกันได้ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น ลำพังแต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบย่อมไม่สามารถรับมือและตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การลดผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการฟื้นฟู ในภัยพิบัติขนาดใหญ่จึงต้องร่วมมือและการบริหารจัดการร่วมกัน แม้แต่ประเทศญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นประเทศที่มีประสบการณ์ในการรับมือกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ มีอาสาสมัครป้องกันภัยเป็นจำนวนหลักล้าน มีการเรียนรู้ในการรับมือกับภัยพิบัติ ตั้งแต่ในระดับชั้นอนุบาล ยังเกิดความสับสนของประชาชนที่ประสบภัยและผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง จนรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองได้อย่างมีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที ย่อมเป็นกรณีศึกษาให้แก่ประเทศไทยให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือ ไม่ใช่เป็นการสร้างความตื่นตระหนก อาทิเช่น ประเด็นของการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม ทิศทางของการวางแผนบริหารจัดการภัยพิบัติที่เหมาะสม หัวใจอยู่ที่การเตรียมความพร้อมและลดผลกระทบจากภัยพิบัติมากกว่าการรอรับมือแก้ไขผลกระทบจากภัยพิบัติ นำไปสู่ข้อเสนอยังฝ่ายการเมืองให้ส่งเสริมงบประมาณและบุคคลกรในส่วนงานด้านนี้ แม้ไม่อาจเทียบได้กับคะแนนนิยมที่ได้รับจากประชาชนในการนำสิ่งของไปแจกจ่ายบรรเทาทุกข์ก็ตาม หากแต่การพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เหมาะสมสามารถใช้การได้จริง มิใช่ต้องมีการซ่อมแซมก่อนการซ้อมแผนป้องกันภัยในแต่ละครั้ง การเตรียมพร้อมอุปกรณ์และวัสดุที่เหมาะสมสำหรับตอบสนองต่อภัยพิบัติ การฝึกฝนให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้นำชุมชน ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ สร้างความมั่นใจ และความปลอดภัยให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปมากกว่า ความน่ากังวลที่สำคัญอีกประการของการขาดการเตรียมความพร้อม คือ เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้ว ประชาชนไม่ทราบว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรในการรับความช่วยเหลือที่พึงได้รับจากรัฐ ตามสิทธิของตนภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่ผูกพันตามพันธกรณีที่ปรากฏในกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะจากภัยพิบัติน้ำท่วมในปีที่ผ่านมารัฐบาลต้องออกมาตรการช่วยเหลือเป็นการพิเศษแก่ผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นแต่มาตรการชั่วคราวและจำกัดช่วงเวลา จึงไม่เป็นมาตรการที่สม่ำเสมอและเท่าเทียม ประชาชนที่เผชิญกับภัยก่อนหน้าก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ประชาชนที่กำลังจะประสบภัยก็ต้องรอคอยความช่วยเหลือพิเศษที่จะมีหรือไม่ก็ไม่รู้ แล้วเหตุใดประชาชนยังคงต้องอดทนต่อการให้ความช่วยเหลือย่างไม่สม่ำเสมอและเลือกปฏิบัติเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน เพราะจากอุทกภัยจนถึงภัยแล้งที่กำลังมาถึง ผู้ประสบภัยก็ยังต้องเผชิญกับความขาดแคลนและการบรรเทาทุกข์ที่ไม่เพียงพออีกต่อไป สำหรับลู่ทางในอนาคต เมื่อภัยพิบัติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่เลือกพรมแดน หรือแนวคิดการเมืองใดๆ ทุกโศกนาถกรรมที่เกิดขึ้นย่อมสามารถนำมาเรียนรู้ได้อย่างไม่สิ้นสุด แต่ถ้าเมินเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการปล่อยให้ความสูญเสียที่เกิดขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ ตีพิมพ์ใน หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 31 มีนาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น