วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การแก้วิกฤติภัยแล้งด้วยน้ำบาดาล

น้ำมีพลังเคลื่อนย้ายคนนับล้าน ให้น้ำเคลื่อนพวกเราไปสู่หนทางของสันติภาพ(๑) ปัญหาภัยแล้งมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรเผชิญกับปัญหาต่อเนื่องมาอย่างยาวนานควบคู่ไปกับปัญหาน้ำท่วม การบริหารจัดการน้ำบาดาลมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถนำน้ำบาดาลขึ้นใช้ในปริมาณที่สม่ำเสมอตลอดทุกฤดู และมีคุณภาพน้ำที่คงที่แน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล เป็นทรัพยากรที่ไม่มีการสูญเสียน้ำอันเนื่องมาจากการระเหยและการซึมหายลงใต้ดินเหมือนน้ำผิวดิน น้ำบาดาลบางแห่งเป็นทรัพยากรที่เคลื่อนที่ได้ และบางแห่งเป็นทรัพยากรที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ บางแห่งเป็นทรัพยากรที่เกิดใหม่ได้ แต่อีกด้านหนึ่ง ผู้ใช้น้ำบาดาลต้องมีค่าใช้จ่ายในการเจาะบ่อน้ำบาดาล เกษตรกรผู้ยากไร้จึงเข้าถึงแหล่งทรัพยากรน้ำบาดาลได้ยาก คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาพื้นที่เกษตรและชุมชนที่ประสบภัยธรรมชาติ วุฒิสภา โดยนายชลิต แก้วจินดา ประธานคณะกรรมาธิการ ได้ศึกษาแนวทางการใช้น้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกร โดยการกักเก็บน้ำผิวดินลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่งมีปริมาณมากเกินความต้องการในฤดูน้ำหลากรวมทั้งน้ำฝนลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำขึ้นมาใช้ในการเพาะปลูกในฤดูแล้ง สภาพข้อเท็จจริง(๒)ตามโครงการศึกษาเพื่อจัดทำแผนหลักงานพัฒนาแหล่งน้ำทั่วประเทศของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ได้ประเมินความต้องการของการใช้น้ำทั่วประเทศประมาณ ๑๕๕,๖๙๓ ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ในขณะปริมาณน้ำต้นทุนผิวดินกลับมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยปีละ ๘๐๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำกักเก็บตามเขื่อน และแหล่งกักเก็บน้ำบนผิวดินประมาณ ๖๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร และปริมาณน้ำท่าประมาณ ๒๑๓,๔๒๓ ล้านลูกบาศก์เมตร จากข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ประเทศไทยมีปริมาณทรัพยากรน้ำบาดาลประมาณ ๑.๑๓ ล้านล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีมากกว่าน้ำผิวดินประมาณ ๑๙ เท่าตัว อัตราการซึมของน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลในพื้นที่ต่างๆ ขึ้นอยู่กับตัวแปรหลายประการ สำหรับประเทศไทย มีอัตราการซึมของน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลประมาณปีละ ๔๐,๐๐๐ ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงตัวเลขเท่านี้อาจทำให้เข้าใจผิดได้ว่าประเทศไทยมีปริมาณน้ำใช้เพียงพอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น พื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ของประเทศที่อยู่นอกเขตชลประทานได้รับผลกระทบอย่างหนักต้องหาน้ำจากแหล่งอื่นมาเสริม จึงทำให้น้ำบาดาลเป็นหนทางออกในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในประเทศไทย ปัญหาด้านเทคนิค การพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นใช้ประโยชน์ของมนุษย์มีขึ้นตั้งแต่ยุคใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่มีหลักฐานพบว่าแหล่งน้ำซับ (Qanats) โดยชาวเปอร์เซียและชาวอียิปต์ ได้ขุดอุโมงค์ใต้ดินไปสู่แหล่งน้ำซับตั้งแต่ ๘๐๐ ปีก่อนคริสตกาล เป็นแหล่งน้ำบาดาลแหล่งแรกที่มนุษย์นำขึ้นใช้ประโยชน์(๓) จากการเสื่อมโทรมของทรัพยากรป่าไม้ เมื่อป่าไม้ถูกทำลาย น้ำในดินในช่วงบนในชั้นดินย่อมลดน้อยลง เนื่องจากไม่มีรากไม้ช่วยอุ้มน้ำไว้ แต่ในทางตรงกันข้าม หากระดับน้ำบาดาลอยู่ตื้นใกล้ผิวดิน รากพืชหยั่งถึง ก็มักเป็นพื้นที่ที่เป็นแนวต้นไม้ขึ้นอย่างหนาแน่น น้ำฝนจากพื้นที่ภูเขาไหลลงสู่พื้นที่ราบอย่างรวดเร็ว จึงทำให้การไหลซึมของน้ำผิวดินลงไปสู่ใต้ดินไม่เพียงพอและสมดุล กระบวนการไหลเติมของน้ำผิวดินลงสู่ชั้นน้ำบาดาล เป็นการไหลของน้ำใต้ดินในแนวดิ่ง และมักเกิดในพื้นที่ต้นน้ำบาดาล ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่หุบเขา หรือตามแนวรอยต่อระหว่างพื้นที่ลาดชัน และพื้นที่ใจกลางแอ่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่น้ำจะเคลื่อนที่ลึกลงไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาเป็นเดือนกว่าจะถึงชั้นน้ำบาดาล ซึ่งเป็นกระบวนการที่ขาดการศึกษาทดลองอย่างสมบรูณ์และกว่าจะเห็นผลก็อาจใช้เวลานับสิบปี(๔) เมื่อน้ำบาดาลเป็นคำตอบที่เหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง แต่จำเป็นต้องศึกษาถึงวิธีการจัดการการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำบาดาล (Managed Aquifer Recharge) ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยพื้นที่ของประเทศไทยก็มีความแตกต่างกันในชั้นดินตามแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย อีกทั้งวิธีการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำบาดาลนั้นมีถึง ๑๒ วิธีการ(๕) และยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำที่นำมาเติมอีกด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปนเปื้อนและความขุ่นของน้ำ ซึ่งมีประเทศอินเดีย(๖)และออสเตรเลีย(๗) เป็นประเทศที่เชี่ยวชาญในการดำเนินการในเรื่องนี้ เกษตรกรในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางได้ใช้น้ำจากบ่อตอกซึ่งเป็นน้ำบาดาลอยู่ต่ำกว่าผิวดินประมาณ ๒ – ๓ เมตร มาใช้ในหน้าแล้ง แต่ในปัจจุบันระดับน้ำบาดาลได้ลดลงไปอยู่ที่ระดับต่ำกว่าผิวดินประมาณ ๖ - ๑๕ เมตร ทำให้ไม่สามารถสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ได้ตามปกติ ต้องทำการขุดบ่อที่ความลึกมากขึ้นจึงสามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้ ในแต่ละปีมีการประเมินค่าใช้จ่ายในการนำน้ำขึ้นมาสู่ผิวดินที่ต่างกันทุกๆ ๑ เมตร จะมีค่าใช้จ่ายเป็นมูลค่าถึง ๑๐๐ ล้านบาท เพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการลดระดับลงของชั้นน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้จัดทำโครงการศึกษาทดลองการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระน้ำซึ่งจะสามารถเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลได้ในปริมาณมากและใช้งบประมาณในการดำเนินงานน้อย เป็นโครงการศึกษาทดลองการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านสระน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย และพิจิตร ศึกษาการเติมน้ำโดยใช้บ่อและจากน้ำฝน ความสำคัญการใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง(๘) ควรที่จะศึกษาการนำน้ำฝนหรือน้ำหลาก (Flood water) ที่มีปริมาณมากเกินความต้องการในฤดูน้ำหลากลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดิน จึงต้องคำนึงถึงคุณภาพของน้ำเพื่อไม่ให้มีผลกระทบด้านลบต่อสภาพเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในชุมชนนั้น(๙) และสามารถนำกลับขึ้นมาใช้เมื่อน้ำขาดแคลน อันเป็นวิธีการจัดการการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำบาดาลเป็นการแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและบรรเทาปัญหาน้ำท่วม อุทกภัย การนำน้ำที่เกินความต้องการลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินยังเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดินอีกส่วนหนึ่งด้วย ในส่วนของพื้นที่บริเวณกรุงเทพมหานคร น้ำบาดาลในชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สองเกิดการปนเปื้อนและเน่าเสียแล้วถ้าไม่ดำเนินการแก้ไขจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนไปสู่น้ำบาดาลในชั้นที่สาม จะยากที่จะเยี่ยวยาแก้ไขได้ แต่ด้วยเทคนิคการเติมน้ำลงสู่ใช้ใต้ดินสามารถผลักดันน้ำใต้ดินที่เน่าเสียให้ไหลออกไปสู่ทะเล ปัญหาด้านกฎหมาย ที่สำคัญมีดังนี้ ๑. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีภารกิจในการจัดทำนโยบายและแผนตั้งแต่การสำรวจ บริหารจัดการ พัฒนาและฟื้นฟู รวมทั้งควบคุมดูแลและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำบาดาล ภารกิจการนำน้ำบาดาลมาใช้ในพื้นที่ที่ระบบน้ำประปายังเข้าไปไม่ถึง การจัดหาน้ำบาดาลหรือให้ความช่วยเหลือประชาชน และชุมชนที่ประสบภัยธรรมชาติอันเป็นภารกิจหลักของหน่วยงาน แต่ตามกฎหมายการถ่ายโอนอำนาจให้แก่ท้องถิ่นในส่วนของน้ำบาดาล บางท้องถิ่นเกิดปัญหาการรับโอนภารกิจน้ำบาดาล เนื่องจากท้องถิ่นไม่มีศักยภาพเพียงพอในการบริหารจัดการบ่อน้ำบาดาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ๒. ท้องถิ่นไม่ดำเนินการส่งเงินค่าใช้น้ำบาดาลให้แก่กองทุน ขาดผู้รับผิดชอบตามกฎหมาย ทำให้เกิดข้อขัดข้องและอุปสรรคต่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาล ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนน้ำบาดาลตามระเบียบของกระทรวงการคลัง ๓. ปัญหาการใช้เงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาล (กพน.) ในกิจกรรมเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากในการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติน้ำบาดาลเพื่อตั้งกองทุนน้ำบาดาล ได้อภิปรายถึงเจตนารมณ์การใช้เงิน กพน. ว่าไม่รวมถึงกิจการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน ซึ่งปัญหานี้เห็นว่าการตีความกฎหมายควรขยายความให้มีผลใช้บังคับได้ประโยชน์สูงสุด และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะในระหว่างที่ยังไม่ได้แก้ไขกฎหมาย คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลสมควรทบทวนการใช้เงิน โดยการแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บทเพื่อการพัฒนา และอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาล เพื่อกำหนดสัดส่วนการใช้จ่ายเงินของกองทุนให้เปิดกว้างครอบคลุมถึงกิจการนำน้ำที่มีปริมาณเกินความต้องการในฤดูฝนผ่านบำบัดโดยธรรมชาติ หรือในบ่อพักน้ำเพื่อเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินเพื่อนำมาใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้ง เป็นการพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งน้ำบาดาลสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ กพน. อันเป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ จึงต้องตีความกฎหมายให้มีผลใช้บังคับได้ประโยชน์สูงสุดเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ๔. กรมทรัพยากรน้ำบาดาลอยู่ในระหว่างการพิจารณาเสนอ ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำบาดาล พ.ศ. .... โดยได้เพิ่มเติมการชดเชยค่าเสียหาย กรณีมีผู้ใดก่อให้เกิดสารพิษปนเปื้อนในบ่อน้ำบาดาล เนื่องจากกฎหมายน้ำบาดาลที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีมาตรการควบคุม และป้องกันผู้ประกอบกิจการน้ำบาดาล หรือผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครองบ่อน้ำบาดาล ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งน้ำบาดาล หรือทรัพยากรของชาติ หรือทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือ เป็นอันตรายต่อทรัพย์สินหรือสุขภาพของประชาชน สมควรกำหนดให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหาย นอกจากนี้ การทำให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งน้ำบาดาล ผู้ก่อให้เกิดความเสียหายจะต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง และมีความผิดทางอาญา ตามหลักผู้ใดเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายผู้นั้นต้องชดใช้ (Polluter Pays Principle: PPP) เพื่อให้ผู้นั้นเป็นผู้จ่ายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรน้ำบาดาล กรรมาธิการมีความเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย เรื่องการใช้เงินของกองทุนน้ำบาดาลในการพัฒนาและอนุรักษ์แหล่งน้ำดาล ให้ครอบคลุมในประเด็นเกี่ยวกับการเติมน้ำผิวดินลงสู่ชั้นน้ำใต้ดิน และการทำเขื่อนใต้ดิน เพื่อเก็บกักน้ำและนำขึ้นมาใช้สำหรับการเกษตร อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภคให้ชัดเจน โดยมีข้อกฎหมายที่ชัดเจนสอดคล้องกับแนวทางสากล(๑๐) รวมถึง กรรมวิธีการ การขออนุญาต การบริหารจัดการ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อให้มีกฎหมายรองรับการดำเนินการ หนทางสู่อนาคต จากการลงพื้นที่สัมมนาและดูงานโครงการพัฒนาระบบการกักเก็บน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้วและน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง ในพื้นบ้านหนองนา ต.หนองกุลา อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น(๑๑) และโครงการเติมน้ำสู่ชั้นน้ำบาดาลผ่านระบบหลังคาของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่า จากการที่ปริมาณน้ำใต้ดินที่สะสมอยู่ตามธรรมชาติมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร แหล่งน้ำบาดาลชั้นบนในบางพื้นที่แห้งลงและต้องขุดลึกลงไปเพิ่มขึ้น จนทำให้มีภาระทางด้านค่าใช้จ่ายมากขึ้นตาม แต่ด้วยวิธีการทดลองเติมน้ำฝนของพื้นที่ชุมชนลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน ทำให้เกษตรกรสูบน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งได้ โดยไม่ต้องทรุดบ่อลงไปเพื่อสูบน้ำขึ้นมาทำนาอย่างแต่ก่อน และมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับการทำนา ๒ ปี ได้ ๕ รอบ ดังนั้น การดำเนินการพัฒนาระบบการกักเก็บน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินเพื่อแก้ไขปัญหาแล้งและน้ำท่วม จึงจำเป็นที่จะต้องศึกษา กำหนดโครงสร้างการบริหารการจัดการดูแลรักษาน้ำบาดาล เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถมีส่วนร่วมในการดำเนินการโดยเรียนรู้วิธีการจากภาครัฐ มีกฎหมายรองรับเพื่อให้เกิดความชัดเจน ไม่ใช่เป็นแต่เพียงโครงการศึกษาที่อาจแปรเปลี่ยนไปตามนโยบายซึ่งจะขาดความต่อเนื่อง และไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ภัทระ ลิมป์ศิระ, อนุกรรมาธิการวิสามัญปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับภัยพิบัติ วุฒิสภา. (๑) “Water has the power to move millions of people, let it move us in the direction of peace” เป็นคำกล่าวของนายมิกคาอิล กอร์บาชอฟ อดีตประธานาธิบดีสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต. (๒) โปรดดู, สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน), เข้าถึงได้จาก http://www.haii.or.th/ [๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๓]; และคลังข้อมูลสภาพน้ำ, เข้าถึงได้จาก http://www.thaiwater.net/ [๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๓]. (๓) Bahadori, M. N., "Passive Cooling Systems in Iranian Architecture," Scientific American (February ๑๙๗๘): ๑๔๔-๑๕๔; Wulff, H.E., "The Qanats of Iran," Scientific American (April ๑๙๖๘): ๙๔-๑๐๕. (๔) Sophocleous, M., “Interactions between groundwater and surface water: the state of the science,” Hydrogeology Journal ๑๐ (๒๐๐๒): ๕๒-๖๗. (๕) See, Gale, I. and Dillon, P., Strategies for Managed Aquifer Recharge (MAR) in semi-arid areas, Paris: NESCO-IHP, ๒๐๐๕. (๖) Jain, J. K., “India: Underground Water Resources,” Philosophical Transactions of the Royal Society of London ๒๗๘, ๙๖๒ (๑๙๗๗): ๕๐๗-๕๒๒. (๗) Sommer, B. and Horwitz, P., “Water Quality and Macroinvertebrate Response to Acidification Following intensified Summer Droughts in a Western Australian Wetland,” Marine and Freshwater Research ๕๒ (๒๐๐๑): ๑๐๑๕-๑๐๒๑. (๘) E.g., Zektser, S., Loaiciga, H.A. and Wolf, J.T., “Environmental Impacts of Groundwater Overdraft: selected case studies in the southwestern United States,” Environmental Geology ๔๗ (๒๐๐๕): ๓๙๖-๔๐๔. (๙) Ludwig, D., Hilborn, R. and Walters, C., “Uncertainty, Resource Exploitation and Conservation: lessons from history,” Science ๒๖๐, ๒ (๑๙๙๓): ๑๗. (๑๐) International Groundwater Resources Assessment Centre, Available http://www.igrac.net [๒๑ June ๒๐๑๐]. (๑๑) รายละเอียด โปรดดู, โครงการศึกการทดลองเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำใต้ดินผ่านระบบสระ พื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และจังหวัดสุโขทัย, เข้าถึงได้จาก http://gw-mar.com/index.php [๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๓].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น