วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คณะกรรมการแสวงหาความจริง

พัฒนาการของสังคมระหว่างประเทศที่มักจะพบได้โดยทั่วไปหลังจากที่ประเทศนั้นได้ผ่านสงครามกลางเมืองหรือความไม่สงบภายในประเทศ คือ การก่อตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริง (Truth Commission) ขึ้นมา เพื่อตรวจสอบ ค้นคว้า จนไปถึงการทำประชาวิจารณ์ เพื่อที่จะได้นำเสนอรายงานต่อสาธารณะชน ซึ่งคณะกรรมการแสวงหาความจริงนี้ไม่ได้มาแทนที่กระบวนการยุติธรรมในการตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิด ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธความจริงไปได้ว่า การทำงานของคณะกรรมาการสมานฉันย่อมเป็นที่สนใจของสังคมนั้นอย่างแน่แท้ เพราะผลลัพธ์ของการทำงานย่อมมีผลถึงการตัดสินลงโทษผู้กระทำความผิดในอนาคตซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ก็ตาม และผลงานของคณะกรรมการแสวงหาความจริงย่อมตกเป็นที่สนใจของสังคมระหว่างประเทศเช่นกัน ความคาดหวังของสังคมที่จะให้คณะกรรมการแสวงหาความจริงนั้นมักจะเกินกว่าที่ความสามารถที่จะกระทำได้ จุดเริ่มต้นที่เหมาะสมนั้น จึงควรที่จะปรับทัศนคติของสังคมถึงความเป็นจริงที่ว่าอะไรคือสิ่งที่คณะกรรมการแสวงหาความจริงจะสามารถมอบให้แก่สังคมได้ หลักการของคณะกรรมการแสวงหาความจริงนั้น แตกต่างไปจากหลักการของระบบศาล ที่มีแนวมาตรฐานสากลที่แน่ชัดในเรื่องของระบบโครงสร้าง ความสามารถ อำนาจ รวมไปถึงวิธีพิจารณาความ หากแต่คณะกรรมการแสวงหาความจริงนั้น ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แม้จะมีรูปแบบของความขัดแย้งเหมือนกันแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะคณะกรรมการแสวงหาความจริงจะมีรูปแบบเช่นเดียวกัน การตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงในแต่ละครั้งจึงได้แต่เรียนรู้ประสบการณ์ ข้อผิดพลาด และแนวปฏิบัติที่ดี ในอดีตเท่านั้น คณะกรรมการค้นหาความจริงจึงเป็นผลผลิตจากการประนีประนอมกันทางการเมือง ไม่ได้มุ่งหวังเพื่อที่จะปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล โดยผ่านกระบวนการสมานฉันท์ หรือเป็นการแก้แค้นผ่านการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ทำให้การทำงานจึงไม่เพียงแต่คำนึงถึงเหยื่อ แต่จะต้องคำนึงถึงผู้กระทำผิดด้วย จึงทำให้การนิรโทษกรรมกลุ่มคนไม่ใช่เป็นคำตอบของการทำงานของคณะกรรมการค้นหาความจริง เนื่องจากต้องมีการระบุถึงผู้กระทำผิดมาเป็นรายบุคคล เพื่อที่จะให้รับทราบถึงความผิดที่ได้กระทำลงไป แล้วจึงให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมว่าจะมีการที่ให้อภัยโทษหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการค้นหาความจริง ความจำเป็นในการก่อสร้างตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงนั้น เกิดจากหลักการพื้นฐานของปัจเจกชนที่ทุกคนมีสิทธิในการรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต คณะกรรมการแสวงหาความจริงจึงจะต้องเข้าถึงเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เพื่อที่จะทำความเข้าใจถึงรูปแบบของความรุนแรง สาเหตุ จนถึงผลกระทบ คำถามที่จะต้องตอบต่อสังคมให้ได้ คือ ทำไมเหตุการณ์เช่นนี้จึงถูกยินยอมให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งมีความสำคัญเทียบเท่ากับการอธิบายอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ท้ายที่สุดแล้วงานของคณะกรรมการแสวงหาความจริงจึงเป็นความหวังให้กับสังคมในการพยายามทำความเข้าใจและยอมรับในประวัติศาสตร์ จนไปถึงการเปิดพื้นที่ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งสองฝ่ายในการนำเสนอเรื่องราวของที่มักจะถูกปกปิดจากการรับรู้ของสาธารณะชน เพื่อที่จะนำไปสู่แนวทางป้องกันในอนาคตผ่านทางความเห็นเชิงแนะนำหรือข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปสถาบันและนโยบายทางการเมืองต่อไป องค์ประกอบที่สำคัญของคณะกรรมการแสวงหาความจริงจึงมีอยู่ 3 ประการ คือ 1. ต้องมีเจตนารมณ์ทางการเมืองสนับสนุนหรือยินยอมในการสอบสวนอย่างจริงจังในสถานการณ์ รัฐบาลจึงควรที่จะแสดงออกด้วยการสนับสนุนการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินทุน การอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลและให้ความร่วมมือต่างๆ 2. ความขัดแย้งที่รุนแรงต้องยุติลง แม้ว่าสถานการณ์จะยังไม่ยุติดีก็ตาม ซึ่งถ้าหากความขัดแย้งที่รุนแรงยังคงมีอยู่ทั่วประเทศแล้วก็คงยากที่จะเปิดโอกาสให้คณะกรรมการแสวงหาความจริงดำเนินการสอบสวนได้อย่างอย่างแท้จริง อีกทั้ง ในการปฏิบัติงานเป็นปกติที่คณะกรรมการแสวงหาความจริงจะได้รับการข่มขู่ จึงทำให้มีความจำเป็นที่การเผชิญหน้ากันของทุกฝ่ายที่ขัดแย้งต้องยุติลง เพราะพยานหรือเหยื่อก็ยังคงอาจหวาดกลัวในการที่จะพูดความจริงให้ปรากฏแก่สาธารณะหรือให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการแสวงหาความจริงเช่นกัน 3. จำเป็นจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ในส่วนของเหยื่อและพยานในการที่จะมีกระบวนการสืบสวนและความร่วมมือ ไม่ใช่มุ่งหวังแต่เพื่อที่จะสามารถสรุปผลงานของคณะกรรมการแสวงหาความจริง แม้ว่าจะไม่ได้มีความตั้งใจก็ตาม แต่งานของคณะกรรมการแสวงหาความจริงจะส่งผลกระทบทางการเมืองอย่างเป็นสาระสำคัญ เนื่องจากปัจเจกชนหรือนักการเมือง ซึ่งยังคงอยู่ในอำนาจหรือปรารถนาที่จะกลับคืนสู่อำนาจ อาจตกเป็นเป้าหมายในการสืบสวนอย่างเป็นปกติ ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกตั้งที่ถูกวางแผนก็กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการทำงานของคณะกรรมการแสวงหาความจริง หรืออาจจะหลังจากที่คณะกรรมการแสวงหาความจริงได้สรุปรายงานแล้ว ทำให้จะเกิดผลกระทบทางด้านการเมืองอย่างชัดเจน จนอาจส่งผลให้คณะกรรมการแสวงหาความจริงอาจจะต้องถูกขัดขวาง เลื่อน หรือแก้ไข ในการเผยแพร่รายงานต่อสาธารณะชน ซึ่งทั้งกรอบระยะเวลาในการทำงานและหลักการทำงานของคณะกรรมการแสวงหาความจริงที่จะต้องเป็นอิสระจากการเมืองจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของคณะกรรมการแสวงหาความจริง สำหรับในบางประเทศที่ก่อตั้งคณะกรรมการแสวงหาความจริงโดยมีธงคำตอบอยู่ที่เพียงเพื่อค้นหาวิธีการสมานฉันท์ หรือมองว่าคณะกรรมการแสวงหาความจริงจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ท้ายที่สุดจะนำไปสู่การสมานฉันท์ได้ บทเรียนที่แท้จริงแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น จึงไม่ควรที่สังคมจะตั้งสมมุติฐานเช่นว่านี้ และคาดหวังให้การสอบสวนของคณะกรรมการแสวงหาความจริงจะมีผลโดยตรงให้เกิดความสมานฉันท์ไม่ว่าจะเป็นในระดับชุมชนหรือในระดับชาติได้ เนื่องมาจากความสมานฉันท์นั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละเนื้อหา ถึงแม้ว่าในบางประเทศเพียงการที่ยอมรับความจริงที่ถูกปฏิเสธมาอย่างยาวนานก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ในท้ายที่สุด แต่สิ่งที่มักจะประสบอยู่เสมอ คือ ในมุมมองของเหยื่อที่ได้รับผลกระทบและในชุมชนที่ประสบการเหตุการณ์ย่อมต้องการบางสิ่งบางอย่างมากกว่าการยอมรับความจริงของสังคมในการที่จะให้อภัยและเยียวยาบาดแผลในอดีต หรือเหยื่ออาจจะสละสิทธิ์ของตนในการเรียกร้องให้ลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งวิธีทางนี้ก็เป็นการให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมในเชิงสมานฉันท์ ที่ไม่ได้ต้องการเพียงแต่เพื่อลงโทษผู้กระทำผิด ซึ่งยังจะต้องมีกลไกต่อมาในการเยียวยาที่เหมาะสมต่อไป การสมานฉันท์จึงเป็นกระบวนการที่ใช้ระยะเวลานาน ซึ่งงานของคณะกรรมการแสวงหาความจริงจึงเป็นแต่เพียงส่วนหนึ่งในการสมานฉันท์เท่านั้น ตามปกติแล้ว ทางเลือกในการค้นหาความจริงยังมีหนทางอื่นได้อีก รวมถึงการสอบสวนโดยองค์การอิสระอื่น หรือกลไกในระดับท้องถิ่นที่มีรูปแบบเป็นกันเองมากกว่าคณะกรรมการค้นหาความจริง เพราะไม่ว่าทางเลือกใดก็ล้วนแต่มุ่งหวังให้เป็นหนทางที่นำไปสู่อนาคตที่เรียนรู้บทเรียนจากในอดีต ดังนั้น คณะกรรมการแสวงหาความจริงจึงทำงานท่ามกลางการกลายเปลี่ยนถ่ายของสังคมที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อไม่ให้เกิดการแตกกระจายของสังคม ซึ่งไม่ได้คาดหมายว่าจะเป็นกระบวนการที่ง่ายและไร้ซึ่งความเสี่ยง แต่ประโยชน์ที่สังคมนั้นจะได้รับจากการทำงานของคณะกรรมการแสวงหาความจริงมีอยู่อย่างมหาศาล จึงรวมไปถึงการเปิดให้สาธารณชนรับรู้ถึงข้อเท็จจริงในอดีต การทำงานของคณะกรรมการแสวงหาความจริงจึงจะต้องอาศัยการวางแผนเป็นอย่างดีและใส่ใจกับรายละเอียดในการตัดสินใจที่จะส่งผลกระทบตามมาในอนาคต ตีพิมพฺในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดส ปีที่ 8 ฉบับที่ 2,696 วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2533

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น