วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รายงานคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ การฟื้นฟูวิกฤตอุทกภัยด้านการเกษตร และความเป็นอยู่ของประชาชน วุฒิสภา

รายงานผลการพิจารณาศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ การฟื้นฟูวิกฤตอุทกภัยด้านการเกษตร และความเป็นอยู่ของประชาชน พ.ศ. ๒๕๕๔ – ๒๕๕๕ ของ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ การฟื้นฟูวิกฤตอุทกภัยด้านการเกษตร และความเป็นอยู่ของประชาชน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ การฟื้นฟูวิกฤตอุทกภัย วุฒิสภา บทสรุปผู้บริหาร สืบเนื่องจากความรุนแรงของอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๓๐/๒๕๕๔ ตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ อุทกภัย (กฟย.) เพื่อพิจารณาและบูรณาการโครงการที่จะช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีกรอบวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท รวมถึงการตั้งคณะกรรมการอีกหลายคณะ อาทิ คณะกรรมการการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ การฟื้นฟูด้านเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบการฟื้นฟูวิกฤตอุทกภัย วุฒิสภา จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษา ติดตาม และตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตอุทกภัย ตลอดจนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย โดยใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารทางวิชาการ การเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงและให้ข้อมูล การจัดสัมมนาเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย เพื่อร่วมกันให้ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และการดำเนินการให้การช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประสบอุทกภัย ในปี ๒๕๕๔ การศึกษาดูงานในพื้นที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และศึกษาดูงานการใช้หลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยและการช่วยเหลือเกษตรกร ณ จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม อันเป็นการแสวงหาข้อมูลข้อเท็จจริงจากทางภาครัฐและภาคประชาชน และการศึกษาค้นคว้าของคณะอนุกรรมาธิการเอง จึงทำให้ได้ข้อสรุปของผลการศึกษาโดยสังเขป ๒ ด้าน ดังนี้ ๑. การช่วยเหลือและฟื้นฟูเกษตรกรพบว่า รัฐบาลมีนโยบายที่ครอบคลุมเกือบทุกด้าน มีการแบ่งหลักเกณฑ์การช่วยเหลือตามแต่ละภาคส่วนต่างๆ ทั้งด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง ตามความเหมาะสม และสะท้อนความต้องการของเกษตรกรได้ในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากหลักเกณฑ์ การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๖ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๕๑) ไม่ตอบสนองต่อความเหมาะสมและสถานการณ์ ทำให้รัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือเพื่อเยียวยาความเสียหายโดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีแทน โดยใช้อัตราร้อยละ ๕๕ ของต้นทุนการผลิตเป็นเกณฑ์การช่วยเหลือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอโครงการเพื่อการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรจำนวน ๑๖ โครงการ แต่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเพียง ๓ โครงการ โดยที่สองโครงการยังคงมีลักษณะการเยียวยาความเสียหาย ในขณะที่อีกหนึ่งโครงการเป็นการแก้ปัญหาที่ชาวนาผู้เสียหายจากอุทกภัย และต้องขายข้าวไปก่อนการเริ่มมาตรการจำนำข้าว สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้โครงการที่เหลือไม่ได้รับการพิจารณา เนื่องมาจากเนื้อหาของโครงการไม่ได้มีความพิเศษในการฟื้นฟูอาชีพของเกษตรที่ประสบอุทกภัยอย่างแท้จริง แต่กลับมีลักษณะเป็นโครงการปกติของแต่ละกรม ๒. การช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนพบว่า รัฐบาลได้ใช้นโยบายช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ๒ มาตรการ คือ ๒.๑ มาตรการตามมติคณะรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือครัวเรือนละ ๕,๐๐๐ บาท เพื่อการดำรงชีวิตระหว่างการฟื้นฟูความเสียหายเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือโดยไม่ต้องมีหลักฐานแสดงความเสียหายของบ้านเรือนจากอุทกภัยตลอดจนมีกระบวนการชี้แจงที่ดี จึงไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ ๒.๒ มาตรการเยียวยาตามสภาพความเป็นจริง โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๑ ในด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่สามารถช่วยเหลือ จำนวน ๑๙ รายการ อาทิ มาตรการช่วยเหลือเงินซ่อมบ้านไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ค่าวัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหายทั้งหลัง เท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท ค่าเครื่องนุ่งห่มคนละ ๒ ชุด เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท กรณีผู้ประสบภัยเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ให้จ่ายค่าเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษาอีกคนละ ๒ ชุดเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท ค่าเครื่องนอนเท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน ๕๐๐ บาท ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพและเงินทุนประกอบอาชีพเท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท และค่าจัดการศพผู้เสียหาย รายละไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยเหลือตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยอาศัยเอกสารตามรูปแบบของส่วนราชการประกอบกับหลักฐานแสดงความเสียหายในแต่ละส่วนอย่างชัดเจน ไม่ใช่การอนุมานหรือการคาดคะเน ซึ่งในทางปฏิบัติพบว่า ประสบปัญหาและข้อร้องเรียนในพื้นที่ต่างๆ เพราะจำนวนเงินที่ได้รับมีความแตกต่างกันระหว่างบ้านเรือนประเภทเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน ปัญหานี้เกิดจากการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของบุคลากรภาครัฐเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือฯ พ.ศ.๒๕๕๑ และความเข้าใจระหว่างบุคลากรภาครัฐกับประชาชนในการกรอกเอกสารตามระบบราชการ อีกทั้งยังพบว่ารูปแบบเอกสารในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้น จากข้อเท็จจริงและผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงมีข้อสังเกตและเสนอแนะดังต่อไปนี้ ๑. ในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไปควรทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ออกตามความแห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๖ ให้สอดคล้องกับแนวคิดการให้ความช่วยเหลือและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องแทนการออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษหรือกรณีเฉพาะเป็นคราวๆ ไป ๒. ในการจัดองค์กรบริหารงาน ทั้งด้านการเตรียมการ การป้องกันและการบรรเทาสาธารณภัย สมควรที่จะต้องใช้องค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแล ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองประธาน ตลอดจนเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับและมีอำนาจในการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้แทนการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมา ๓. ในการบริหารการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ควรมีมติสั่งการให้ส่วนราชการต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหล่าทัพต่างๆ ศึกษาถึงระบบการดำเนินงานที่ผ่านๆ มาเพื่อปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ตลอดจนนำไปเป็นข้อมูลเพื่อการปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฉบับต่อไป เช่น การเตือนภัย การประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลในเรื่องราวต่างๆ การดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ๔. ควรมีการพิจารณาทบทวนคำนิยาม “ภัยพิบัติธรรมชาติ” ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแยกลักษณะของภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในท้องที่นั้นๆ กับภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เพื่อกำหนดถึงความรับผิดชอบที่ภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงการนำระบบประกันภัยเข้าไปลดความเสี่ยงด้วย ๕. รัฐบาลและภาครัฐต้องมีความจริงจังและจริงใจในการปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ ที่ได้มีการนำเสนอ เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาทิ หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ให้ใช้ขั้นตอนและรูปแบบเอกสารเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ๖. การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยต้องสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน และสอดคล้องตามหลักการสากลที่เป็นธรรมและเสมอภาค บทที่ ๑ บทนำ ๑. สถานการณ์อุทกภัย พ.ศ. ๒๕๕๔ และการบริหารจัดการ เหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เป็นภาวะสืบเนื่องมาจากพายุโซนร้อน “นกเตน” (NOCK-TEN) ที่เกิดขึ้นจากบริเวณชายฝั่งด้านตะวันตกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ได้พัดเข้าสู่อ่าวตังเกี๋ย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จนมาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทยในช่วงตั้งแต่วันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นมา จนนำไปสู่ความเดือดร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกของประเทศรวมกว่า ๒๓ จังหวัด ขณะที่เดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงพาดผ่านประเทศตอนบน ทำให้มีฝนตกชุกจนเกิดน้ำท่วมต่อเนื่อง จากนั้นก็ได้รับอิทธิพลจากพายุโซนร้อน “ไห่ถาง”(HAITANG)ที่อ่อนกำลังลงเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ พร้อมกับที่ไต้ฝุ่น “เนสาด” (NESAT) ที่เข้าสู่ประเทศไทยตอนบนจนมีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นระยะๆ จึงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนได้สร้างความเสียหายต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวนมากถึง ๖๖ จังหวัด พื้นที่ประสบภัยกว่า ๑๕๐ ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ใน ๖๖ จังหวัด ๗๒๑ อำเภอ ๔,๘๖๒ ตำบล ๔๒,๗๐๕ หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ๔,๐๘๖,๑๓๘ ครัวเรือน ๑๓,๕๙๕,๑๙๒ คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง ๒,๓๒๙ หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน ๙๖,๘๓๓ หลัง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย ๑๑.๒๐ ล้านไร่ ถนน ๑๓,๙๖๑ สาย ท่อระบายน้ำ ๗๗๗ แห่ง ฝาย ๙๘๒ แห่ง ทำนบ ๑๔๒ แห่ง สะพาน คอสะพาน ๗๒๔ แห่ง บ่อปลา บ่อกุ้ง หอย ๒๓๑,๙๑๙ ไร่ ปศุสัตว์ ๑๓.๔๑ ล้านตัว มีผู้เสียชีวิต ๘๑๓ ราย สูญหาย ๓ ราย มูลค่าความเสียหายที่ธนาคารโลกประเมินไว้ถึง ๑.๔๔ ล้านล้านบาท ในภาคใต้ฝั่งตะวันออกพื้นที่ที่ประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ มี ๘ จังหวัด ๖๕ อำเภอ ๓๖๒ ตำบล ๒,๐๕๗ หมู่บ้าน ได้แก่ จังหวัดตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสุราษฏร์ธานี พื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย ๑๑๘,๓๕๘ ไร่ ปศุสัตว์ ๕,๗๗๗ ตัวประมง ๑,๐๘๖ บ่อ วัด มัสยิด ๗ แห่ง โรงเรียน ๓๐ แห่ง สถานที่ราชการ ๑๐ แห่ง ถนน ๗๘๓ แห่ง สะพานและคอสะพาน ๑๑๓ แห่ง ฝาย ๑๙ แห่ง มีผู้เสียชีวิต นับจากวันดังกล่าว ๙ ราย ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ในระยะแรกตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ เป็นต้นมา เป็นการบริหารไปตามแนวทางปกติที่เคยปฏิบัติเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยมีส่วนราชการต่างๆในส่วนกลาง ส่วนราชการ ในภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด-อำเภอ และส่วนราชการท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหาร ส่วนตำบล เทศบาลเป็นฝ่ายรับผิดชอบ จนกระทั่งเมื่อนายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ได้ไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยในภาคเหนือตอนล่าง จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๓๗/๒๕๕๔ ตั้งศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศอส.) ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ โดยมี นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับและขยายพื้นที่ประสบภัยออกไปอย่างต่อเนื่องโดยเชื่อว่าจะกระทบถึงกรุงเทพมหานครและจังหวัดโดยรอบ จึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๑๙๓/๒๕๕๔ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขึ้นเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ โดยมีพลตำรวจเอกประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อช่วยเหลือราษฎรในระหว่างเกิดอุทกภัย นอกจากนั้นในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๔ ยังได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๐๒/๒๕๕๔ ตั้งคณะกรรมการเพื่อฟื้นฟูภายหลังจากสถานการณ์อุทกภัยผ่านพ้นไปจำนวน ๓ คณะ อย่างไรก็ตามในวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๓๐/๒๕๕๔ ยกเลิกคำสั่งที่ ๒๐๒/๒๕๕๔ และตั้งคณะกรรมการขึ้น ๖ คณะ ศูนย์ปฏิบัติการ ๓ ศูนย์ และคณะที่ปรึกษา ๑ คณะ ดังนี้ ๑) คณะกรรมการฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ๔ คณะ ประกอบด้วย (๑) คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) มีรองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและบูรณาการโครงการที่จะช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยมีคณะกรรมการอีก ๓ คณะ เป็นฝ่ายประเมินผลกระทบและกลั่นกรองโครงการที่ส่วนราชการและภาคเอกชนเสนอมา ได้แก่ (๒) คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน (กคฐ.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธาน (๓) คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน (กศอ.) มีรองนายกรัฐมนตรี (นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง) เป็นประธาน (๔) คณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยด้านฟื้นฟูคุณภาพชีวิต (กคช.) มีรองนายกรัฐมนตรี (พลตำรวจเอก โกวิทวัฒนะ) เป็นประธาน ๒) คณะกรรมการและศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะหน้า ๓ คณะ ๓ ศูนย์ ประกอบด้วย (๑) คณะกรรมการบริหารศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (กบภ.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (๒) คณะกรรมการสื่อสารสาธารณะ (กสส.) มีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน (๓) ศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนการบริหารการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศบภ.) ตั้งขึ้นในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการของ กบภ.) (๔) ศูนย์ปฏิบัติการรักษาความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย และการจราจร(ศจร.)มีรองนายกรัฐมนตรี (ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง)เป็นประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ (๕) ศูนย์สนับสนุนการปฏิบัติการ (กปก.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (พลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธานกรรมการบริหารศูนย์ (๖) คณะที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำ (คปน.)ขณะออกคำสั่งยังรอการแต่งตั้งคณะบุคคลที่จะมาเป็นคณะที่ปรึกษา นอกจากนั้น ยังมีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการเพื่อรับผิดชอบงานฟื้นฟูและการบริหารงานป้องกันและแก้ไขอุทกภัยในอนาคต ได้แก่ ๑) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) มี นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๕๒/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ๒) คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๒๕๓/๒๕๕๔ ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ๓) คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และคณะกรรมการบริหารน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กบอ.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (นายปลอดประสพ สุรัสวดี) เป็นประธาน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๒/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ๒. การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ วุฒิสภา จากสถานการณ์ความรุนแรงของอุทกภัยปี พ.ศ.๒๕๕๔ ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็น “อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณน้ำและจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ” วุฒิสภาจึงได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบการฟื้นฟูวิกฤตอุทกภัย ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๕ (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เพื่อศึกษา ติดตาม และตรวจสอบแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤตอุทกภัย ตลอดจนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยว่า การดำเนินการดังกล่าวของภาครัฐครอบคลุมปัญหา ตรงตามความต้องการของประชาชน และมีความเป็นธรรมในการดำเนินการหรือไม่ อย่างไร โดยมีวุฒิสมาชิกและผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญรวม ๓๐ ราย ๓. การตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ เนื่องจากการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีขอบเขตกว้างขวางมาก คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญไปดำเนินการรวม ๕ คณะ ในส่วนของงานด้านการแก้ปัญหาและฟื้นฟูการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชน ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ การฟื้นฟูด้านการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีกรรมาธิการวิสามัญและผู้ทรงคุณวุฒิเป็นอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ และที่ปรึกษารวม ๑๘ ราย (ตามเอกสารแนบที่ ๑) ทั้งนี้เพื่อศึกษาติดตามและตรวจสอบมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาและฟื้นฟู ด้านการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชนที่ประสบวิกฤตอุทกภัยของรัฐบาล บทที่ ๒ การดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ในการศึกษาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการด้วยการเชิญหน่วยงานและบุคคลมาให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงแก่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ณ อาคารรัฐสภา รวมถึงการออกไปศึกษาดูงานในพื้นที่ นอกจากนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้คณะบุคคลโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาคการเกษตรมาให้ข้อเท็จจริงและเสนอความเห็น จึงได้จัดสัมมนาผู้เกี่ยวข้องเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยด้วย ๑. การเชิญหน่วยงานและบุคคลมาให้ข้อมูล คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ มาให้ข้อเท็จจริงประกอบด้วย ๑.๑ ส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมการข้าว ๑.๒ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ๑.๓ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ๑.๔ สำนักงบประมาณ ๑.๕ จังหวัดนครปฐม ๑.๖ สภาเกษตรกรแห่งชาติ โปรดดูรายชื่อของบุคคลที่มาให้ข้อมูลตามเอกสารแนบที่ ๒ ๒. การศึกษาดูงานในพื้นที่ ๒.๑ การศึกษาดูงานครั้งที่ ๑ (วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕) เป็นการศึกษาดูงานเกี่ยวกับมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๔ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีบ้านเรือนได้รับความเสียหายในพื้นที่อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม โปรดดูรายงานการศึกษาดูงานในพื้นที่ตามเอกสารแนบที่ ๓ ๒.๒ การศึกษาดูงานครั้งที่ ๒ (วันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๕) เป็นการศึกษาดูงานการใช้หลักเกณฑ์การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และการช่วยเหลือเกษตรกร (ทุเรียน กล้วยไม้) ณ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดนครปฐม โปรดดูรายงานการศึกษาดูงานในพื้นที่ตามเอกสารแนบที่ ๔ ๓. การจัดสัมมนาเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ เชิญเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมสัมมนาในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ อาคารรัฐสภา ๒ โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจำนวน ๒๕๕ ราย ประกอบด้วย สมาชิกวุฒิสภา เกษตรกรในสาขาต่างๆ ทั้งด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง และสื่อมวลชน เพื่อร่วมกันให้ข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และการให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ในปี ๒๕๕๔ ในการนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้สามารถเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นได้อย่างเต็มที่จึงได้แบ่งกลุ่มผู้เข้าสัมมนาไปตามสาขาต่างๆ ได้แก่ ข้าว พืชไร่ พืชสวน ปศุสัตว์ ประมง และด้านความเป็นอยู่ของประชาชน โปรดดูรายงานผลการสัมมนาตามเอกสารแนบที่ ๕ ๔. การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและการเสนอความเห็น ในการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและการเสนอความเห็น คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้นำข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆ จากการไปศึกษาดูงานในพื้นที่ จากการร่วมสัมมนาเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๔ และจากการศึกษาของอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ และที่ปรึกษามาเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์และเสนอความเห็น โดยจะแยกการวิเคราะห์และเสนอความเห็นไปเป็นสองช่วงเวลา คือ ๔.๑ การดำเนินการในช่วงที่เกิดอุทกภัยปี ๒๕๕๔ ว่ามีการประชาสัมพันธ์ การเตือนภัยและการให้คำแนะนำอย่างไร รวมถึงการดำเนินการป้องกันและบรรเทาภัยและการช่วยเหลือในขณะที่กำลังเกิดอุทกภัยอย่างไร ๔.๒ การดำเนินการภายหลังจากเกิดอุทกภัยปี ๒๕๕๔ มีการดำเนินการตรวจสอบความเสียหายอย่างไร การดำเนินการให้การช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในลักษณะการเยียวยาและการฟื้นฟูอาชีพ รวมถึงการให้การช่วยเหลือประชาชนโดยทั่วไปที่ใช้มาตรการการให้การช่วยเหลือเบื้องต้น (มาตรการ ๕,๐๐๐ บาท) และการให้การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และระเบียบของกระทรวงการคลังว่ามีการดำเนินการอย่างไร ทำไมจึงมีข้อร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อจะได้สรุปเป็นบทเรียนและทำการปรับปรุงเพื่อการบริหารการให้การช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น บทที่ ๓ การดำเนินการช่วยเหลือขณะเกิดอุทกภัยปี ๒๕๕๔ ๑. การช่วยเหลือในด้านการเกษตรในขณะเกิดอุทกภัย จากข้อมูลที่ได้รับจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า ภารกิจที่ต้องดำเนินการในขณะเกิดอุทกภัยคือ การตรวจสอบและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกรให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตามส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็ได้เข้าไปให้การช่วยเหลือในลักษณะของการบรรเทาหรือลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เช่น การช่วยสูบน้ำหรือการระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิต การให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการจับสัตว์น้ำในกระชังหรือบ่อเลี้ยง การอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่น้ำท่วม การสนับสนุนอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงการใช้น้ำหมัก (พ.ด.๖) เพื่อลดมลภาวะทางน้ำ (เช่นในกรณีฟาร์มเลี้ยงสัตว์) อย่างไรก็ตามการดำเนินการให้การช่วยเหลือดังกล่าวมักจะไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อุทกภัยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่ขยายไปในพื้นที่ที่กว้างขวางมาก ๒. การช่วยเหลือประชาชนในขณะเกิดอุทกภัย ๒.๑. การแก้ไขปัญหาสินค้าแพง กระทรวงพาณิชย์แก้ไขปัญหาสินค้าแพงด้วยการจับกุมผู้ค้าสุกร และผู้ค้าทรายที่ขึ้นราคาเกินกำหนด วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ กระทรวงพาณิชย์ประกาศนำเข้าไข่ไก่ ๗ ล้านฟอง ปลากระป๋อง ๔ แสนกระป๋อง และน้ำดื่ม ๑ ล้านขวดจากประเทศมาเลเซีย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงอย่างเร่งด่วน ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน พบว่า เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ราคาไข่ไก่และ ไข่เป็ดเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ สูงสุดในปีนี้ ทั้งราคาขายปลีกและส่ง และได้มีการลดราคาสินค้าจำนวนมากโดยอ้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย การหยุดขายสินค้ายังมีอยู่แม้ในบางพื้นที่ซึ่งอุทกภัยผ่านพ้นไปแล้ว โดยร้านค้าต่างอ้างเหตุอุทกภัยทำให้โรงงานไม่สามารถส่งวัตถุดิบไปผลิตได้ ๒.๒ ด้านการสาธารณสุข การให้การรักษาพยาบาลสำหรับผู้ประสบอุทกภัย ปัญหายาขาดแคลนและปัญหาโรคที่มากับน้ำ รวมถึงสุขภาพจิตของประชาชนมีเพิ่มขึ้นในช่วงอุทกภัย เช่น ที่โรงพยาบาลศรีสะเกษประสบปัญหาการขาดยาและเวชภัณฑ์ หลังจากโรงงานในเขตจังหวัดปริมณฑลถูกน้ำท่วม ส่งผลให้โรงพยาบาลต้องลดปริมาณการจ่ายยาให้ผู้ป่วยเรื้อรังจากครั้งละ ๓ เดือน เป็น ๑ เดือน และหมุนเวียนยาร่วมกับโรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อช่วยกระจายยาให้คนไข้ คณะกรรมการอาหารและยาอำนวยความสะดวกเป็นผู้สั่งยาโดยตรงกับบริษัทในต่างประเทศ หากเกิดกรณีที่ผู้ประกอบการหรือเภสัชกรต้องการยานั้น ๆ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขพบผู้ประสบอุทกภัยเจ็บป่วยแล้ว ๑.๖ ล้านราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ผื่นคัน ไข้หวัดใหญ่ วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการ "ผนึกกำลังร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม" กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า มีจำนวนผู้ประสบภัยที่เข้ารับการคัดกรองสะสม ๑๑๙,๒๓๗ ราย ในจำนวนนี้มีความเครียดสูง ๖,๗๐๔ ราย ซึมเศร้า ๘,๓๑๗ ราย และผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ๑,๔๔๑ รายแล้ว นอกจากนี้ ยังได้รายงานยอดผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย โดยเป็นข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันนิติเวชวิทยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มียอดผู้เสียชีวิต ๗๒๘ รายแล้ว เป็นการเสียชีวิตจากไฟฟ้าดูด ๑๐๒ ราย จมน้ำเสียชีวิตและอื่นๆ ๖๒๖ ราย สูญหาย ๒ ราย ๒.๓ การป้องกันและให้ความช่วยเหลือเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร วันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ กรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์ผู้ถูกไฟฟ้าดูดจากภาวะน้ำท่วมล่าสุดว่า ขณะนี้ตัวเลขที่รายงานอย่างเป็นทางการของผู้ถูกไฟฟ้าดูดอยู่ที่ ๔๕ รายแล้ว ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการ อาจจะเพิ่มขึ้นเกือบถึง ๑๐๐ รายได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีประเทศใดมีผู้เสียชีวิตจากไฟฟ้าดูดในช่วงอุทกภัยมากเท่านี้มาก่อน วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข้อมูลยอดรวมของผู้ที่ถูกไฟฟ้าช็อตและดูดเสียชีวิต จากสถานการณ์น้ำท่วม อยู่ที่ ๑๐๒ ราย พบว่า ๗๓% ของผู้เสียชีวิตถูกไฟดูดไฟฟ้าช็อตในที่พักอาศัยของตน พื้นที่ที่มีเกิดเหตุมากที่สุด คือ จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี กรุงเทพมหานครและจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอยุธยาตามลำดับ ๒.๔ การขนส่งคมนาคม วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๒ (ถนนสายเอเชีย) ปิดการจราจรเพราะน้ำท่วมจนรถไม่สามารถสัญจรได้ วันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๔ กรมทางหลวงรายงานว่า น้ำท่วมถนน ๑๑๗ สายทาง ในพื้นที่ ๒๑ จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้ผ่านได้ ๔๙ สายทาง ผ่านไม่ได้ ๘๘ สายทาง วันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ ศูนย์ควบคุมและสั่งการการจราจร บชน.(บก.๐๒) สั่งปิดถนน ๒๙ สายรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงแนะนำเส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยงยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ มีเส้นทางที่สั่งปิดทั้งหมด ๕๐ เส้นทาง แบ่งเป็น ปิดตลอดเส้นทาง ๑๗ เส้นทาง ปิดไม่ตลอดเส้นทาง ๒๑ เส้นทาง ควรหลีกเลี่ยง ๒๑ เส้นทาง วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ ถนนเศรษฐกิจในอำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สั่งปิดการจราจร วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่ตำรวจกรุงเทพมหานครได้สั่งขยายการปิดการจราจรใน ๕ เส้นทางเดิมโดยปิดการจราจรในถนนเหล่านี้มากขึ้น และเพิ่มการปิดจราจรไม่ตลอดสาย ๑ เส้นทางและแนะนำให้หลีกเลี่ยงอีก ๕ เส้นทาง วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปิดการจราจรถนนเพชรเกษม บริเวณปากซอยวัดเทียนดัดและซอยหมอศรี ฝั่งขาเข้ากรุงเทพมหานครในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ในขณะที่จังหวัดนนทบุรีปิด ๗ เส้นทางรวมถึงการทางพิเศษตั้งแต่วันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยปิดเป็นบางช่วง ๒.๕ การอพยพผู้คนและการตั้งศูนย์อพยพ ภายหลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้ออกคำสั่งตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ขึ้นตั้งแต่วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๔ ฝ่ายต่างๆ รวมถึงกองทัพได้ระดมกำลังพลเพื่อกระจายความช่วยเหลือแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มและองค์การพลเรือนตลอดจนอาสาสมัครได้ช่วยกันจัดถุงยังชีพและส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่ประสบภัย มีการจัดที่พักชั่วคราวที่สนามกีฬา มหาวิทยาลัย โรงเรียน และอาคารของรัฐให้เป็นศูนย์อพยพของผู้ประสบภัย เช่น สนามกีฬาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตใช้เป็นที่พักพิงแก่ผู้อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ดี ผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ไม่ยอมละทิ้งบ้านเรือนของตนด้วยกลัวว่าจะถูกปล้น ด้านตำรวจได้ตอบสนองประชาชนโดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามอาชญากรรมขึ้น เพื่อปฏิบัติภารกิจพิเศษในการป้องกันอาชญากรรมในช่วงมีเหตุการณ์อุทกภัย ๒.๖ การให้ความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ หน่วยงานของรัฐได้จัดองค์กรพิเศษ เช่น กรมประมงจัดหน่วยพิเศษเพื่อจับจระเข้ในนาม หน่วยปฏิบัติเฉพาะกิจผู้ประสบเหตุจระเข้หลุดรอดจากอุทกภัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดหน่วยปฏิบัติเฉพาะกิจศูนย์รักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน และการจราจร กับศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รวมทั้งจัดอบรมการขับเรือแก่ข้าราชตำรวจเพื่อจับโจรผู้ร้ายในสถานการณ์ปัจจุบัน และให้บริการจับสัตว์ดุร้ายรวมถึงการอพยพคน การแจกสิ่งของต่างๆ ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัย การประปานครหลวงได้ดำเนินการผ่อนผันการชำระค่าประปาในเดือนธันวาคมพ.ศ.๒๕๕๔ โดยให้ชำระอย่างช้าภายในเดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๕ มิฉะนั้นจะดำเนินการตัดน้ำในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๕ ในขณะที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็ดำเนินการผ่อนผันการชำระค่าไฟฟ้าเช่นเดียวกัน ๒.๗ การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยภาคเอกชน อุทกภัยในครั้งนี้มีหน่วยงานของเอกชน มูลนิธิต่างๆ กลุ่มประชาชนจิตอาสาในท้องถิ่นต่างๆ เป็นส่วนสำคัญหลักในการช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์อุทกภัย เช่น การจัดรถเพื่อรับส่งประชาชน ที่ประสบอุทกภัย การจัดถุงยังชีพเพื่อช่วยเหลือประชาชน จัดอาหารกล่อง น้ำดื่ม เครื่องอุปโภคและบริโภคบริการแจกจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัย ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ประสบภัยเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว การบินไทยได้จัดเที่ยวบินพิเศษลงภาคใต้และพิจารณาราคาเป็นพิเศษ เพราะเป็นห่วงว่า หากน้ำท่วมเส้นทางพระราม ๒ แล้วจะทำให้การเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปภาคใต้ไม่สะดวก การให้บริการรถสาธารณะบนทางด่วน ส่วนการทางพิเศษแห่งประเทศไทยขอความร่วมมือไม่ให้ใช้ ทางด่วนเป็นที่จอดรถ แต่ประชาชนยังจอดรถบนทางด่วน ซึ่งทำให้เกิดอุบัติเหตุ และเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรม รวมทั้งทำให้ทางด่วนยกระดับหลายเส้นทางมีการจราจรแออัด เพราะรถจอดซ้อนคันหรือจอดบริเวณทางขึ้นและลงทางด่วน วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๔ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมส่งผลให้สำนักงานไปรษณีย์ถูกน้ำท่วม ๓๘ แห่ง จากทั้งหมด ๑,๒๐๐ แห่ง มีไปรษณียภัณฑ์ธรรมดาตกค้างประมาณ ๑.๕ ล้านชิ้น จากปกติซึ่งจะมีไปรษณียภัณฑ์หมุนเวียนวันละ ๕ ล้านชิ้น ทำให้มียอดจดหมายตกค้างเฉลี่ย ๑ ใน ๓ ของปริมาณงานที่ต้องนำจ่าย แต่บริษัทฯ ยังเปิดทำงานตามปกติ ส่วนพื้นที่ที่ไม่สามารถเข้าไปจ่ายไปรษณียภัณฑ์ได้เจ้าหน้าที่จะเปิดถุงเมล์เพื่อนำจดหมายไปคัดแยกตามเขตพื้นที่แล้วเรียงลำดับตามหน้าซองที่จ่าไว้ และเมื่อระดับน้ำลดจะให้บุรุษไปรษณีย์รีบนำส่งจดหมายให้ถึงมือผู้รับทันที ๓. สิทธิของผู้ประสบภัย ในการดำเนินงานของภาครัฐ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม ประชาชนที่อยู่ในเขตอำนาจของรัฐ พึงได้รับความคุ้มครองดูแลจากรัฐตามสิทธิของปวงชาชาวไทย ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ และหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นพันธะกรณีของรัฐที่ต้องดูแลประชาชนตามหลักการสากล รวมถึงกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่จะต้องไม่เลือกปฏิบัติ เสมอภาค และเป็นธรรม สิทธิมนุษยชนของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติยังต้องเผชิญความท้าทายที่หลากหลายนอกเหนือไปจากความไม่เท่าเทียมในการรับความช่วยเหลือ การเลือกปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือ การถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐาน การละเมิดสิทธิทางเพศ การสูญหายของเอกสาร ความไม่ปลอดภัยหรือไม่สมัครใจ ในการกลับสู่ถิ่นฐานเดิมหรือตั้งถิ่นฐานใหม่ ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ประชาชนที่ประสบภัยมักจะถูกบังคับให้ย้ายจากบ้านเรือนของตน หรือออกจากพื้นที่เนื่องมาจากที่อยู่อาศัยได้ถูกทำลายหมด สิทธิมนุษยชนจึงเป็นฐานทางกฎหมายให้กับการทำงานทางด้านมนุษยธรรมที่เผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติ การให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมถ้าไม่ได้อยู่ภายใต้สิทธิมนุษยชน อาจส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมนั้นไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของผู้ประสบภัย จนละเลยต่อสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ จึงย่อมเป็นการขาดความรับผิดชอบในการปกป้องสิทธิต่างๆ ภายใต้กฎหมาย เพราะไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์เช่นใดประชาชนก็ต้องไม่มีสุญญากาศทางกฎหมาย ประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีของสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนต่างๆ จึงจะต้องผูกพันในการใช้ทรัพยากรให้มากที่สุดในการปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าวของตน รวมไปถึงการรับความช่วยเหลือระหว่างประเทศในการปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าว อาทิเช่น การร่วมมือช่วยเหลือตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการบริหารจัดการภัยพิบัติธรรมชาติและการตอบสนองฉุกเฉิน ค.ศ. ๒๐๐๕ (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response ๒๐๐๕) จึงจะถือว่าได้พยายามแล้ว เพราะมิฉะนั้น ก็เทียบเท่ากับว่ารัฐนั้นบกพร่องต่อพันธกรณีของตนตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยการเพิกเฉยไม่ยอมใช้ความพยายามทุกวิถีทางที่จะดำรงมาตรฐานขั้นต่ำของสิทธิพื้นฐาน สิทธิของปัจเจกชนในการเรียกร้องแก่รัฐในสถานการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ (Right to Life) สิทธิด้านอาหาร (Right to Food) สิทธิด้านน้ำ (Right to Water) สิทธิการกลับสู่ถิ่นฐานเดิม (Right to Return) สิทธิการมีที่อยู่อาศัย (Right to Housing) สิทธิด้านเครื่องนุ่มห่ม (Right to Cloth) สิทธิด้านสุขภาพ (Right to Health) สิทธิในการได้รับรู้ถึงข้อมูล (Right to Access Information) สิทธิการได้รับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม (Right to Humanitarian Assistance) ตามพื้นฐานของสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบพึงมีแล้ว รัฐต้องตอบสนองตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น แต่ยังคงมีประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่างๆ (Vulnerabilities) ที่ควรจะต้องคำนึงถึงเป็นพิเศษ เนื่องจากการให้ความช่วยเหลือมักจะบกพร่องในกลุ่มของปัจเจกชนดังกล่าว จึงทำให้มีตราสารกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดลำดับความสำคัญของปัจเจกชนนั้นเป็นพิเศษโดยจัดประเภทตามสถานะภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยเด็ก สตรี คนพิการ ชนกลุ่มน้อย และผู้สูงอายุ ดังนั้น เพื่อมิให้กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดำเนินไปตามสถานการณ์ โดยปราศจากหลักการ ภาครัฐจึงต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ส่งผลให้สิทธิมนุษยชนของผู้ประสบภัยได้รับการคุ้มครอง ปกป้อง และเติมเต็มจากทางภาครัฐอย่างดีที่สุด มิฉะนั้น ย่อมเท่ากับว่าภาครัฐบกพร่องในการดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย บทที่ ๔ การดำเนินการช่วยเหลือหลังจากเกิดอุทกภัยปี ๒๕๕๔ ในบทนี้เป็นการศึกษาข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากการเกิดอุทกภัยปี ๒๕๕๔ ซึ่งจะรวมความถึงในช่วงระยะเวลาที่สภาพน้ำท่วมลดลงจนเริ่มจะเข้าสู่สภาวะปกติด้วย โดยจะแยกการศึกษาออกเป็นการช่วยเหลือในเกษตรกรและการช่วยเหลือประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งก็จะรวมถึงเกษตรกรด้วย จากข้อมูลที่ได้รับจากส่วนราชการต่างๆ พบว่า การช่วยเหลือเกษตรกรสามารถแบ่งออกเป็นสองลักษณะ คือ การให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นหรืออาจเรียกว่าเป็นการเยียวยากับการช่วยเหลือในโอกาสตามมาหรือเรียกว่าเป็นการฟื้นฟู ในขณะที่การช่วยเหลือประชาชนโดยทั่วไปที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมอยู่ ๒ มาตรการ คือมาตรการตามมติคณะรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือครัวเรือนละ ๕,๐๐๐ บาท เพื่อการดำรงชีวิตระหว่างการฟื้นฟูความเสียหายและการให้ความช่วยเหลือตามมาตรการตามหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือที่ประชาชนบางส่วนเรียกว่ามาตรการช่วยซ่อมบ้านไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งจะได้นำเสนอในรายละเอียดต่อไป ๑. การช่วยเหลือเกษตรกร ดังได้กล่าวแล้วว่าจะแยกการศึกษาออกเป็น ๒ ส่วน ดังนี้ ๑.๑ การช่วยเหลือเพื่อเยียวยา ๑.๑.๑ อัตราการช่วยเหลือ แนวคิดในการช่วยเหลือลักษณะนี้เป็นการช่วยเหลือเพื่อให้เกษตรกรสามารถกลับไปประกอบอาชีพเดิมต่อไปได้ โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ออกหลักเกณฑ์โดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา ๒๗ แห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๒๖ การช่วยเหลือจะเน้นไปในเรื่องปัจจัยการผลิตและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็น การช่วยเหลือที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นแนวทางที่ใช้กับภาวะภัยพิบัติต่างๆ เช่น อุทกภัย ภัยแล้ง ศัตรูพืช-ศัตรูสัตว์ระบาด และใช้โดยต่อเนื่องตลอดมา นอกจากในปี พ.ศ. ๒๕๕๓ และปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ที่เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ดำเนินการให้การช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ โดยยกระดับของการช่วยเหลือให้มีอัตราการช่วยเหลือสูงขึ้น เช่น นาข้าวที่ประสบอุทกภัย ที่เคยได้รับการช่วยเหลือเป็นพันธุ์ข้าวและสารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของข้าวซึ่งคำนวณเป็นมูลค่า ๖๐๖ บาทต่อไร่ แต่ในปี ๒๕๕๓ และปี ๒๕๕๔ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ช่วยเหลือนาข้าวทีประสบ อุทกภัยในอัตราร้อยละ ๕๕ ของต้นทุน การผลิต คิดเป็นมูลค่าไร่ละ ๒,๐๙๘ บาท และ ๒,๒๒๒ บาท ตามลำดับ โดยสรุป อัตราการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ เป็นการช่วยเหลือโดยอาศัยมติคณะรัฐมนตรีแทนการใช้หลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีอัตราการช่วยเหลือสูงกว่าอัตราตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ แต่ใกล้เคียงกับอัตราตามมติคณะรัฐมนตรี ในปี ๒๕๕๓ (โปรดดูการเปรียบเทียบอัตราการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในเอกสารแนบที่ ๖) ๑.๑.๒ แนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือ แนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ เมื่อ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๔ สามารถประมวลได้ดังนี้ ๑.๑.๒.๑ การสำรวจและตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ได้แก่ ๑) เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยแจ้งขอรับการช่วยเหลือตามแบบ กษ ๐๑ ๒) คณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายด้านการเกษตรระดับหมู่บ้าน ตรวจสอบความเสียหายและรับรองความถูกต้องของข้อมูลและรายงานไปยังคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่เพิ่มเติมจากขั้นตอนปกติอื่นๆ โดยมีกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานอนุกรรมการ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ๒ คน อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน ผู้แทนเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ๒ คน และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบตำบลเป็นเลขานุการ มีหน้าที่ตรวจสอบความเสียหายทั้งด้านพืช ปศุสัตว์และประมง และรายงานให้คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) พิจารณา ๓) สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ สำนักงานประมงอำเภอตรวจสอบกับทะเบียนเกษตรกรของแต่ละหน่วยงานโดยประมวลตามแบบ กษ ๐๒ และนำไปปิดประกาศในสถานที่ราชการหรือ อบต. หรือที่ทำการผู้ใหญ่บ้านและทำประชาคมภายใน ๕ วันทำการ ๔) เกษตรอำเภอ ปศุสัตว์อำเภอและประมงอำเภอ นำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ๕) เกษตรจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด และประมงจังหวัดนำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อนำเสนอไปยังกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และกรมประมง เพื่อตรวจสอบและนำเสนอคณะรัฐมนตรี และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ๑.๔.๒.๒ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นำเสนอ สำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติเงินช่วยเหลือเกษตรกร เมื่อได้รับอนุมัติแล้วให้โอนไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเพื่อโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ อนึ่ง เนื่องจากการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ ให้เพิ่มอัตราการช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษนี้ รวมถึงปรับปรุงและเพิ่มแนวทางการปฏิบัติงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบข้อมูลความเสียหายในระดับหมู่บ้าน เป็นการอนุมัติหลังจากที่หลายจังหวัด ได้ดำเนินการตามอัตราการช่วยเหลือและแนวทางที่เคยปฏิบัติอยู่เดิม จึงมีแนวทางให้จังหวัดที่ดำเนินการไปแล้วดำเนินการเพิ่มเติม ดังนี้ กรณีแรก จังหวัดที่ได้จ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้จังหวัดจัดทำรายละเอียดหลักฐานการขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีที่สอง จังหวัดที่สำรวจแล้วและอยู่ระหว่างการนำเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) หรือคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ให้จัดทำรายละเอียดความเสียหายและวงเงินตามอัตราในกรณีพิเศษเสนอ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรณีที่สาม จังหวัดที่เหลือให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ ๑.๑.๓ ผลของการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร จากการดำเนินการตามแนวทางในข้อ ๑.๑.๒ สามารถสรุปความเสียหายการขอรับการช่วยเหลือ และการให้การช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในด้าน พืช ประมง และปศุสัตว์ ดังนี้ (โปรดดูรายละเอียดในเอกสารแนบที่ ๗) ๑.๑.๓.๑ ด้านพืช ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีอาชีพเพาะปลูก กรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบได้แยกพื้นที่ประสบอุทกภัยออกเป็น ๒ ประเภท คือ พื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในภาคต่างๆ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ กับพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยในภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่มีช่วงฤดูฝนช้ากว่าพื้นที่อื่น ในพื้นที่ประเภทแรกมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบรวม ๖๗ จังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบ (สรุปรายงาน ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕) ๑,๐๙๗,๖๖๗ ราย พื้นที่เสียหายรวม ๑๐.๗๘ ล้านไร่ ต้องใช้งบประมาณช่วยเหลือเยียวยาตามอัตราที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ เป็นจำนวนเงิน ๒๖,๖๘๖.๖๒ ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณได้อนุมัติการจ่ายเงินตามมติคณะรัฐมนตรีไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งหมดแล้ว ในขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาเพื่อดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรผู้ประสบภัยที่มีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจำนวน ๒๖,๕๙๖.๙๔ ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ ๙๙.๗ ของจำนวนเงินที่ต้องโอนเข้าบัญชีของเกษตรกร ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีพื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหายจำนวน ๑๑ จังหวัด ปรากฏว่า การรายงานและตรวจสอบความเสียหาย ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ส่งมายังกรมส่งเสริมการเกษตร มี ๘ จังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตรได้ตรวจสอบและเสนอขออนุมัติเงินงวดไปยังสำนักงบประมาณ มีเกษตรกรได้รับความเสียหาย ๖๖,๗๙๒ ราย พื้นที่เสียหาย ๐.๓๘ ล้านไร่ คิดเป็นวงเงินที่ต้องช่วยเหลือ ๑,๐๘๔.๑๐ ล้านบาท ซึ่งสำนักงบประมาณได้อนุมัติและโอนเงินไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรไปแล้ว ๖๖,๗๘๗ ราย (ร้อยละ ๙๙.๙๙) เป็นจำนวนเงิน ๑,๐๘๔.๐๕ ล้านบาท (ร้อยละ ๙๙.๙๙) โดยสรุปของด้านพืช การดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ปี ๒๕๕๕ ดำเนินการไปเกือบจะเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น ๑,๑๖๔,๔๕๙ ราย พื้นที่ ๑๑.๑๖ ล้านไร่ วงเงินที่ให้ความช่วยเหลือ ๒๗,๗๗๐.๗๒ ล้านบาท ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว ๒๗,๖๘๐.๙๙ ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ ๙๙.๖๘ ของจำนวนเงินที่ต้องโอนเข้าบัญชีของเกษตรกร คงเหลือการตรวจสอบข้อมูลความเสียหายในจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออกอีก ๒ จังหวัด (ระนองและสตูล) ๑.๑.๓.๒ ด้านประมง กรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ประสบอุทกภัยจำนวน ๑๕๙,๔๘๒ ราย ในพื้นที่ ๗๖,๓๘๒ ไร่ ซึ่งจะต้องใช้วงเงินช่วยเหลือ ๑,๖๔๕.๘๒ ล้านบาท ปรากฏว่า ณ วันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ สำนักงบประมาณได้อนุมัติงวดเงินไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทั้งหมดแล้ว โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกร ๑๕๕,๑๓๕ ราย เป็นจำนวนเงิน ๑,๕๘๔.๘๐ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๗.๒๗ และ ๙๖.๒๙ ของจำนวนผู้ประสบอุทกภัยและวงเงินที่จะได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด ตามลำดับ ๑.๑.๓.๓ ด้านปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้สรุปว่า ความเสียหายเกิดขึ้นใน ๖๒ จังหวัดมีเกษตรกร ๕๗,๙๒๑ ราย ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี ๒๕๕๔ และควรได้รับเงินช่วยเหลือรวม ๓๑๔.๐๘ ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในบางจังหวัดได้ใช้เงินทดรองราชการเบิกจ่ายให้เกษตรกรไปก่อนแล้วจำนวนหนึ่ง คือ ๕,๕๕๓ ราย เป็นเงิน ๙.๑๗ ล้านบาท ส่วนเกษตรกรที่เหลือ ๕๒,๓๖๘ ราย วงเงิน ๓๐๔.๙๑ ล้านบาท คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ได้รายงานมายังกรมปศุสัตว์ซึ่งได้ตรวจสอบและนำเสนอไปขออนุมัติงวดเงินจากสำนักงบประมาณ ๕๑,๙๖๗ ราย วงเงิน ๓๐๐.๖๔ ล้านบาท เหลือการตรวจสอบและแก้ไขเอกสารอีก ๑ จังหวัด เกษตรกร ๔๑๔ ราย วงเงิน ๔.๒๖ ล้านบาท ในการนี้ สำนักงบประมาณได้อนุมัติเงินงวดไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่ กรมปศุสัตว์เสนอ ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรแล้วจำนวน ๕๐,๔๕๐ ราย (ร้อยละ ๘๗.๑๐) จำนวนเงิน ๒๙๕.๕๘ ล้านบาท (ร้อยละ ๙๔.๑๑) โดยสรุปแล้ว เกษตรกรด้านปศุสัตว์ที่ประสบอุทกภัยในจำนวนทั้งหมด ๕๗,๙๒๑ ราย ได้รับเงินช่วยเหลือแล้วจำนวน ๕๖,๐๐๓ ราย (ร้อยละ ๙๖.๖๙) เป็นเงิน ๓๐๔.๗๕ ล้านบาท (ร้อยละ ๙๗.๐๓) ๑.๑.๓.๔ สรุปการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย เมื่อรวมเกษตรกรทั้งในด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ที่ได้รับผลกระทบ จากอุทกภัย ปี ๒๕๕๔ มีจำนวนมากกว่า ๑.๑๖ ล้านราย โดยมีพื้นที่ตามเสียหายมากกว่า ๑๑.๒ ล้านไร่ และสมควรได้รับความช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ เป็นวงเงินทั้งสิ้น ไม่น้อยกว่า ๒๙,๗๓๐.๖๒ ล้านบาท ซึ่งได้มีการอนุมัติและโอนเงินไปที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน ๒๙,๗๑๗.๑๘ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๙๖ ของวงเงินที่จะต้องช่วยเหลือ ในขณะที่ ธกส. ได้โอนเงินที่ได้รับเข้าบัญชีของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยแล้ว ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เป็นจำนวนเงิน ๒๙,๕๖๑.๓๗ ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ ๙๙.๔๘ ของเงินที่สำนักงบประมาณ โอนมา และคิดเป็นร้อยละ ๙๙.๔๓ ของวงเงินรวมที่รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือ ๑.๑.๔ ความเห็นจากการสัมมนาที่มีต่อการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย จากการเชิญเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องเข้าสัมมนาในวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ อาคารรัฐสภา ๒ เพื่อร่วมกันพิจารณาการให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๔ สามารถสรุปได้ดังนี้ ๑.๑.๔.๑ หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๔ ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติโดยทั่วไป จังหวัดและกระทรวงจะมีเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ ดังนั้น เมื่อจังหวัดประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จังหวัดก็สามารถใช้เงินทดรองราชการที่มีอยู่จ่ายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ เช่น นาข้าวเสียหายจะให้การช่วยเหลือเป็น พันธุ์ข้าวและสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสารเร่งการเจริญเติบโต รวมเป็นมูลค่า ๖๐๖ บาทต่อไร่หรือพืชไร่ คิดเป็นมูลค่าการช่วยเหลือเป็นเงิน ๘๓๗ บาทต่อไร่ หรือพืชสวนเป็นมูลค่า ๙๑๒ บาท ต่อไร่ เป็นต้น หากเงินทดรองที่จังหวัดไม่พอก็สามารถขอเพิ่มจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังได้ สำหรับอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ ในระยะแรกการช่วยเหลือก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ระบุข้างต้น แต่เมื่ออุทกภัยเกิดรุนแรงและครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น คณะรัฐมนตรี โดยการเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาว่าเป็นภัยพิบัติที่เกิดเป็นกรณีพิเศษ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยให้พิจารณาอัตรา การช่วยเหลือเป็นเงินร้อยละ ๕๕ ของต้นทุนการผลิต ทำให้อัตราการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นจากที่เคยช่วยเหลือ อาทิ การปลูกข้าวเพิ่มเป็น ๒,๒๒๒ บาทต่อไร่ พืชไร่เป็น ๒,๙๒๑ บาทต่อไร่ พืชสวนเป็น ๔,๙๐๘ บาทต่อไร่ ๑.๑.๔.๒ แนวทางการช่วยเหลือ ๑) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์รับผิดชอบในการสำรวจความเสียหายที่ผ่านการตรวจสอบและกลั่นกรองในระดับต่างๆ และนำเสนอขอรับการช่วยเหลือจากคณะรัฐมนตรี ๒) เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติการช่วยเหลือแล้วก็จะเสนอขอเงินงบประมาณจากสำนักงบประมาณเพื่อจ่ายให้แก่เกษตรกรโดยการโอนเงินไปยัง ธกส. แล้ว ธกส.จะเป็นผู้รับผิดชอบในการโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรต่อไป ๑.๑.๔.๓ ความเห็นของผู้เข้าสัมมนาที่มีต่อการช่วยเหลือ ๑) ผู้เข้าสัมมนายังไม่เห็นด้วยกับอัตราการช่วยเหลือที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีที่ถึงแม้จะสูงกว่าอัตราการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ เช่น - พืชไร่ หรือพืชสวน มีชนิดพืชที่มีต้นทุนแตกต่างกันมาก แต่ได้รับการช่วยเหลือในอัตราเดียวกันของกลุ่มพืชนั้นๆ - การกำหนดขนาดพื้นที่ที่จะช่วยน้อยเกินไป เช่น การเลี้ยงปลาในกระชังช่วยเพียง ๘๐ ตารางเมตร - กิจกรรมบางประเภทไม่ได้รับการช่วยเหลือ เช่น การเพาะเลี้ยงเห็ด การเลี้ยงปลา ในนา ประมงชายฝั่งรวมถึงเรื่องโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ - กิจกรรมบางชนิดยังให้อัตราต่ำไป เช่น ไก่ไข่ เป็ดไข่และสุกร แปลงหญ้าอาหารสัตว์ ๒) ความเห็นของผู้เข้าสัมมนาที่มีต่อแนวทางปฏิบัติ - การประกาศภัยพิบัติยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ประสบภัยทั้งหมด ทำให้เกษตรกรในบางพื้นที่ที่ประสบภัยกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ - ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น - ควรใช้เครือข่ายการสื่อสารโดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรทัศน์ในช่วงเวลาหลัก (prime time) เพื่อประชาสัมพันธ์และแจ้งข่าวสารไปยังประชาชน - การให้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถขอรับ การช่วยเหลือได้นั้น อาจเกิดปัญหาทั้งการทุจริตหรือมีผลกระทบกับกระบวนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรในอนาคต คือ ไม่สนใจที่จะขึ้นทะเบียนตามกรอบเวลาตามที่กำหนด นอกจากนั้นยังต้องระวังผู้ให้เช่าที่ทำการเกษตรมาขอขึ้นทะเบียนซ้อนกับเกษตรกรผู้เช่าที่ด้วย ๓) ความคิดเห็นที่เกี่ยวกับแนวคิดในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เนื่องจากมีภัยพิบัติเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะเป็นงานประจำ รัฐต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อ การช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ในด้านการเกษตรควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทบทวนหลักเกณฑ์ (อัตรา) และวิธีการช่วยเหลือโดยอาจจะทำเป็นในลักษณะแผนงานประจำ ตลอดจนเตรียมการ วางแผนการช่วยเหลือให้รัดกุม จัดระบบติดตามและประเมินผลเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการให้ การช่วยเหลือและเป็นการป้องกันการทุจริตได้ด้วย ๔) ความคิดเห็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือ เช่น - กรณีที่รัฐบาลประกาศจะช่วยเหลือพื้นที่ที่จะใช้เป็นพื้นที่แก้มลิง อาจจะส่งผลให้ผู้ให้เช่าที่ดินไม่ให้เกษตรกรเช่าที่อีกต่อไปโดยจะเป็นผู้ขอรับการช่วยเหลือจากภาครัฐเสียเอง - รัฐควรนำเอาเรื่องการกำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจมาใช้ การทำการเกษตรที่ไม่สอดคล้องกับที่ประกาศก็ไม่ควรได้รับการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ - ควรเร่งรัดการนำการประกันภัยพืชผลการเกษตรมาใช้ โดยภาครัฐสนับสนุนเบี้ยประกันจำนวนหนึ่ง - ควรจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น สนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ยในบางกรณี ๑.๑.๕ ความพึงพอใจของเกษตรกรต่อการช่วยเหลือ เนื่องจากไม่มีข้อมูลในการติดตามประเมินผลนอกจากข้อมูลที่ได้รับจากการเชิญเกษตรกรจำนวนหนึ่งมาร่วมแสดงความคิดเห็นในการสัมมนาซึ่งได้สรุปรายงานแล้วข้างต้น (ในข้อ ๑.๑.๔) อย่างไรก็ตามยังมีความพยายามของเกษตรกรบางกลุ่มที่ขอให้ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณาทบทวน การให้ความช่วยเหลือที่ผ่านมาว่าควรจะให้การช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก เช่น เกษตรกรชาวสวนทุเรียนนนทบุรี ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ๑.๒ การช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยที่ผ่านมา ภาครัฐโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะให้การช่วยเหลือในลักษณะที่เรียกว่าเป็นการเยียวยาหรือช่วยเหลือในเบื้องต้นให้มีโอกาสกลับมาประกอบอาชีพเดิมได้ ซึ่งได้รายงานไว้แล้วในข้อที่ ๑.๑ ในส่วนของรายงานต่อไปนี้จะเป็นการช่วยเหลือต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเกษตรกรในการฟื้นฟูอาชีพของเขาเหล่านั้นให้กลับดีดังเดิมหรือดีกว่าเดิม ๑.๒.๑ การเสนอโครงการ ภายหลังจากที่อุทกภัยปี ๒๕๕๔ ลดระดับความรุนแรงลง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมต่างๆ ได้เสนอโครงการเพื่อการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรจำนวน ๑๔ โครงการ ประกอบด้วย ๑) โครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้ประสบภัย (๔,๖๒๑.๑๑๑ ล้านบาท) ๒) โครงการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ราบลุ่มหลังน้ำท่วมเพื่อขยายพันธ์สัตว์น้ำจืด (๔๕.๐๐๐ ล้านบาท) ๓) โครงการรองรับภัยพิบัติจากอุทกภัยต่อทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณอ่าวไทยตอนใน (๓๔.๐๔๒ ล้านบาท) ๔) โครงการประมงเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส (ด้านประมงชาวฝั่ง) (๔๘.๔๙๐ ล้านบาท) ๕) โครงการฟื้นฟูสุขภาพสัตว์และป้องกันโรคระบาดสัตว์หลังน้ำลด (๓๕๐.๐๐๐ ล้านบาท) ๖) โครงการเตรียมความพร้อมด้านเสบียงอาหารสัตว์หลังน้ำลด (๗๐.๐๐๐ บาท) ๗) โครงการบำบัดน้ำเสียและบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียจากเหตุอุทกภัย (๓๐๐,๐๐๐ บาท) ๘) โครงการป้องกันและฟื้นฟูดินถล่มจังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดเชียงใหม่ (๓๐.๗๗๗ ล้านบาท) ๙) โครงการปรับปรุงคุณภาพดินและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยพิบัติ (๓,๑๕๖.๕๖๓ ล้านบาท) ๑๐) โครงการซ่อมแซมเครื่องจักรกลการเกษตรที่ประสบปัญหาอุทกภัยปี ๒๕๕๔ (๑๐.๑๒๘ ล้านบาท) ๑๑) โครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร (๓๑๗.๐๘๙ ล้านบาท) ๑๒) โครงการฟื้นฟูและสร้างโอกาสเพื่อการยังชีพของสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตร (๔๒๖.๙๐๐ ล้านบาท) ๑๓) โครงการช่วยเหลือด้านทรัพย์สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร (๕๕๐.๒๐๐ ล้านบาท) ๑๔) โครงการเร่งรัดฟื้นฟูการผลิตพืชต้นทุนสูงของเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ปี ๒๕๕๔ (๓,๐๘๙.๗๒๘ ล้านบาท) นอกจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ยังได้เสนออีก ๒ โครงการเพื่อช่วยเหลือชาวนาประกอบด้วย ๑) โครงการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีปีการผลิต ๒๕๕๔/๕๕ ที่เก็บเกี่ยวและขายผลผลิตก่อนเริ่มโครงการรับจำนำที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากประสบอุทกภัย (๔,๕๘๑.๑๖๐ ล้านบาท) ๒) โครงการช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อเป็นการเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่ประสบอุทกภัยปีเพาะปลูก ๒๕๕๔/๕๕ (๑,๐๐๕.๖๓๐ ล้านบาท) รวมวงเงินทั้ง ๑๖ โครงการ ๑๘,๖๓๖.๘๑๘ ล้านบาท ๑.๒.๒ กระบวนการพิจารณา จากระบบงานที่มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการก่อนที่จะนำเสนอเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาโครงการต่างๆ ทั้ง ๑๖ โครงการต้องเสนอคณะกรรมการเพื่อให้ความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟย.) ผ่านคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน (กศอ.) ซึ่ง กฟย. ก็ได้เสนอโครงการเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา มาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๕ ด้วยความกังวลของนายกรัฐมนตรีว่าจำนวนเงินที่ กฟย. เสนอ จะเกินกรอบวงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท จึงมีมติให้มีการพิจารณาทบทวนโครงการต่างๆ ที่นำเสนอโดยมอบหมายสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงบประมาณ รวมทั้งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมกันพิจารณากลั่นกรองและทบทวนโครงการเสนอ รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์) ในฐานะประธาน กฟย. พิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มีการทบทวนและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ๑.๒.๓ ผลการพิจารณา โดยสรุป จากการพิจารณาตามระบบและแนวทางดังได้กล่าวข้างต้น โครงการทั้ง ๑๖ โครงการ ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการรวม ๓ โครงการ ประกอบด้วย ๑) โครงการช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าว วงเงิน ๑,๐๐๕.๖๓๐ ล้านบาท ๒) โครงการเร่งรัดฟื้นฟูการผลิตพืชต้นทุนสูง ซึ่งเดิมไม่ผ่านการพิจารณา แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอขอทบทวนเป็นโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชต้นทุนสูงที่ประสบอุทกภัย ปี ๒๕๕๔ เป็นกรณีพิเศษ โดยปรับลดวงเงินเหลือ ๑,๙๖๒.๔๒๗๖ ล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรี (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕) อนุมัติตามที่เสนอ ๓) โครงการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต ๒๕๕๔/๒๕๕๕ ที่เก็บเกี่ยวและขายผลผลิตก่อนเริ่มโครงการรับจำนำและได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วงเงิน ๔,๕๘๑.๑๖๐ ล้านบาท รวมวงเงินที่ได้รับอนุมัติให้ใช้งบกลาง ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท เฉพาะ ๒ โครงการแรก เป็นเงิน ๒,๙๖๘.๐๕๗๖ ล้านบาท สำหรับโครงการที่ ๓ คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการโดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดำเนินการสำรองจ่ายจากงบประมาณของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปก่อน โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณชดเชยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๖ อนึ่ง จากการร้องเรียนของเกษตรกรผู้ปลูกส้มโอ จังหวัดนครปฐม และทุเรียน จังหวัดนนทบุรี ว่าการช่วยเหลือเยียวยาที่ได้รับ (๕,๐๙๘ บาทต่อไร่) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ ต่ำเกินไปไม่เพียงพอที่จะกลับมาฟื้นฟูสวนไม้ผลดังกล่าวขึ้นมาใหม่ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (ส้มโอและทุเรียน) ผู้ประสบอุทกภัย ปี ๒๕๕๔ ในวงเงินรวม ๔๕๘.๒๐๒๘ ล้านบาท ๒. การช่วยเหลือประชาชนทั่วไปหลังจากเกิดอุทกภัย นอกเหนือจากการให้การช่วยเหลือประชาชนในระหว่างเกิดอุทกภัย (ตามที่ได้รายงานไว้ในบทที่ ๓) เมื่ออุทกภัยเริ่มคลี่คลายจนถึงขั้นพ้นจากภาวะอุทกภัย ภาครัฐยังคงให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องซึ่งมีทั้งมาตรการการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่ดำเนินการอยู่เป็นประจำและมาตรการที่พิจารณาขึ้นเป็นกรณีพิเศษ ๒.๑ การช่วยค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพระหว่างการฟื้นฟูสภาพความเสียหาย (หรือเรียกโดยย่อว่า มาตรการ ๕,๐๐๐ บาท) ๒.๑.๑ ความเป็นมาของมาตรการ จากที่มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมจนถึงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๔ ทำให้เกิดอุทกภัยที่รุนแรงและกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ถึง ๔๔ จังหวัด (ข้อมูลในขณะนั้น) คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม (คอส.) และศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ ได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความช่วยเหลือครัวเรือนผู้ประสบภัย ครัวเรือนละ ๕,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตระหว่างที่กำลังฟื้นฟูสภาพความเสียหาย ยังไม่สามารถประกอบอาชีพเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ได้อนุมัติเงินงบประมาณจำนวน ๑๑,๔๔๗.๘๑๐ ล้านบาทเพื่อมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวสำหรับประชาชนใน ๖๒ จังหวัด โดยกำหนดให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๕๕ โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ คือ - น้ำท่วม ถึงบ้านพักอาศัยโดยฉับพลันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย - บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๗ วัน และทรัพย์สินได้รับ ความเสียหาย - บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากอุทกภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม ทั้งนี้จะต้องอยู่ในเขตที่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติในแต่ละจังหวัดและมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่ท้องถิ่นออกให้เท่านั้น ๒.๑.๒ การบริหารและแนวทางปฏิบัติ ๒.๑.๒.๑ คณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม (คอส.) จัดประชุมชี้แจงผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นโดยการประชุมทางไกลก่อนเริ่มดำเนินงาน รวมทั้งมอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานแจกจ่ายผู้เกี่ยวข้องทุกจังหวัด ๒.๑.๒.๒ จัดให้มีระบบตรวจสอบข้อมูลผู้ที่ได้รับความเสียหายและขอรับการช่วยเหลือตามมาตรการนี้ในระดับอำเภอจังหวัด รวมถึงการตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลในระดับกระทรวง ๑๐ คณะ โดยมีผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน และแต่งตั้งคณะทำงานระดับกรมในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อทำการตรวจสอบร่วมกับคณะทำงานระดับกระทรวง ๒.๑.๒.๓ แนวทางปฏิบัติงาน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำรวจและเสนอรายชื่อผู้เสียหายที่ขอรับการช่วยเหลือเสนอให้คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) ตรวจสอบและเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ตรวจสอบรับรองก่อนเสนอไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อตรวจสอบแล้วส่งรายชื่อไปยังธนาคารออมสินเพื่อทำการเบิกจ่ายเงิน ๕,๐๐๐ บาทให้กับผู้ที่ได้รับการตรวจสอบและพิจารณาแล้ว ๒.๑.๓ ผลการดำเนินการ ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ส่งรายชื่อผู้ได้รับความเสียหายที่สมควรได้รับการช่วยเหลือไปยังธนาคารออมสิน ๒,๐๘๓,๙๐๙ ครัวเรือน เป็นเงิน ๑๐,๔๑๙.๕๔๕๐ ล้านบาท ทั้งนี้ธนาคารออมสินได้เบิกจ่ายให้ผู้ได้รับความเสียหายแล้ว เบิกจ่ายครบทุกครัวเรือน คิดเป็น ร้อยละ ๑๐๐ ของยอดที่จะเบิกจ่ายให้ ๒.๒ การให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ (หรือที่ประชาชนบางส่วนเรียกว่ามาตรการช่วยไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท) การให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ กระทรวงการคลังปรับปรุงจากหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๔๖ ที่บัญญัติขึ้นตามความในมาตรา ๒๗ แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๖ ดังนั้นการดำเนินการใดๆ ตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ จะต้องเป็นการดำเนินการตามขอบเขตที่ระเบียบกระทรวงการคลังฯ พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดไว้ หากมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินนอกเหนือจากหลักเกณฑ์ที่กำหนด ต้องได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังก่อน ๒.๒.๑ หลักการในการให้ความช่วยเหลือ (มาตรา ๑๕) เป็นการให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนตามความจำเป็นและเหมาะสมเมื่อเกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินขึ้นในท้องที่หนึ่งท้องที่ใด โดยมุ่งหมายที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัยพิบัติ แต่มิได้มุ่งหมายที่จะชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ใด ๒.๒.๒ แนวทางปฏิบัติ ๒.๒.๒.๑ เมื่อเกิดภัยพิบัติในท้องที่ใดที่เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉิน ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจประกาศโดยกำหนดพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติและระยะเวลาของการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบ อุทกภัยด้วย ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติในกรุงเทพมหานครให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ๒.๒.๒.๒ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) สำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นและความต้องการรับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ และพิจารณาให้การช่วยเหลือ แต่ในกรณีที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นในหลายอำเภอให้รายงานผลการสำรวจไปยังคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) เพื่อพิจารณารับรองการช่วยเหลือกรณีที่ภัยพิบัติเกิดขึ้นในหลายจังหวัดให้รายงานเข้าไปยังส่วนกลางให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป ๒.๒.๒.๓ สาระสำคัญของหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ.๒๕๕๑ ดังได้กล่าวแล้วว่าการช่วยเหลือนี้เป็นการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินและ มุ่งบรรเทาความเดือนร้อนเฉพาะหน้า มิได้มุ่งหมายที่จะชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงได้แบ่งประเภทการช่วยเหลือไปตามด้านต่างรวม ๙ ด้านได้แก่ (๑) ด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (๒) ด้านสังคมสงเคราะห์และฟื้นฟูผู้ประสบภัย (๓) ด้านการแพทย์และสาธารณสุข (๔) ด้านพืช (๕) ด้านประมง (๖) ด้านปศุสัตว์ (๗) ด้านการเกษตรอื่น (๘) ด้านป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ (๙) ด้านการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งในแต่ละด้านก็จะมีวิธีการและอัตราการให้การช่วยเหลือที่กำหนดไว้ ตลอดจนการมอบให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือในด้านนั้นๆ มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้การช่วยเหลือได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ นี้ การให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๔ ในจังหวัดต่างๆ ที่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินการไปตามหน้าที่และ ความรับผิดชอบในส่วนของการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รายงานไว้ในบทที่ ๔ ตอนที่ ๑ ในเบื้องต้นก็ใช้หลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยใช้อัตราและวิธีการช่วยเหลือในด้านที่ (๔) (๕) (๖) และ (๗) ที่กล่าวถึงข้างต้น แต่ต่อมาคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอให้เพิ่มอัตรา การช่วยเหลือโดยคำนึงถึงต้นทุนในการทำการเกษตรนั้นๆ เช่น นาข้าวที่เสียหาย จะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินไร่ละ ๒,๒๒๒ บาท แทนอัตราตามเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่กำหนดไว้ ๖๐๖ บาทต่อไร่ เป็นต้น ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชนที่ยังคงเกิดปัญหาเรียกร้องความเป็นธรรมหรือที่ประชาชนบางกลุ่มเข้าใจว่าจะได้รับการช่วยเหลือครัวเรือนละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ในด้านที่ (๑) คือด้านการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (โปรดดูรายละเอียดในเอกสารแนบที่ ๘) ซึ่งสามารถสรุปลักษณะการให้การช่วยเหลือเป็นรายการต่างๆ ได้ดังนี้ (๑) ค่าอาหารจัดเลี้ยงมื้อละไม่เกิน ๓๐ บาท/คน/วัน (๒) ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร (๓) ค่าจัดซื้อหรือจัดหาน้ำสำหรับบริโภคและใช้สอยเท่าที่จ่ายจริง (๔) ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับ ความเสียหายบางส่วน เท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท (๕) ค่าวัสดุก่อสร้างที่อยู่อาศัยประจำซึ่งผู้ประสบภัยเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหายทั้งหลัง เท่าที่จ่ายจริง หลังละไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท (๖) ค่าซ่อมแซมยุ้งข้าว โรงเรือนสำหรับเก็บพืชผลและคอกสัตว์ที่ได้รับความเสียหายบางส่วนเท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท (๗) ค่าก่อสร้างยุ้งข้าว โรงเรือนสำหรับเก็บพืชผลและคอกสัตว์ที่ได้รับความเสียหายทั้งหลังเท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน ๘,๐๐๐ บาท (๘) ค่าอุปกรณ์แสงสว่างในที่อยู่อาศัยแทนของเดิมเท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน ๒๐๐ บาท (๙) ค่าเช่าที่พักเท่าที่จ่ายจริงระยะเวลาไม่เกิน ๗ วัน ในอัตราคนละ ไม่เกิน ๑๐๐ บาทต่อวัน (๑๐) ค่าเช่าบ้านเรือนผู้อื่นอยู่อาศัยเท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกินเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท เป็นเวลาไม่เกิน ๒ เดือน (๑๑) ค่าดัดแปลงสถานที่สำหรับเป็นที่พักชั่วคราว เท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท ฯลฯ (๑๒) ค่าใช้จ่ายในการจัดสาธารณูปโภคในที่พักชั่วคราว เช่น ค่าไฟฟ้า ประปา ห้องน้ำ โรงครัว ฯลฯ (๑๓) ค่าเครื่องนุ่งห่มคนละ ๒ ชุด เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท กรณีผู้ประสบภัยเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา ให้จ่ายค่าเครื่องแบบนักเรียนหรือนักศึกษาอีกคนละ ๒ ชุดเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท (๑๔) ค่าเครื่องนอน เท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน ๕๐๐ บาท (๑๕) ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพและเงินทุนประกอบอาชีพเท่าที่จ่ายจริงครอบครัวละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท (๑๖) ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ฯลฯ (๑๗) ค่าจัดการศพผู้เสียหาย รายละไม่เกิน ๒๕,๐๐๐ บาท ฯ (๑๘) กรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติ (ต่ำกว่า ๑๕ องศาเซลเซียสติดต่อกัน ๓ วัน) ให้จ่ายค่าจัดซื้อเครื่องกันหนาวเท่าที่จ่ายจริง คนละไม่เกิน ๒๔๐ บาท ทั้งนี้จังหวัดหนึ่งไม่เกิน ๑ ล้านบาท (๑๙) ค่าขนย้ายผู้ประสบภัยที่จำเป็นต้องย้ายที่อยู่ไปหรือกลับครอบครัวละไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ๒.๒.๓ ผลการให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากอุทกภัยปี ๒๕๕๔ เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ในท้องถิ่นต่างๆ เกือบทั่วไปทั้งประเทศ การให้การช่วยเหลือถึงแม้จะเป็นการเร่งด่วนแต่ในบางจังหวัดยังดำเนินการ ไม่แล้วเสร็จ นอกจากนั้นยังมีบางจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน กทม. และจังหวัดในเขตปริมณฑลยังคงมีประชาชนออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในการพิจารณาให้การช่วยเหลือ จนถึง ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ยังไม่เป็นที่ยุติอีกหลายจังหวัดอย่างไรก็ตาม ณ วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สรุปการให้การช่วยเหลือแล้วดังนี้ ๒.๒.๓.๑ จังหวัดได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชน จำนวน ๗๗ จังหวัด โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รับรายงานการใช้จ่ายเงินทดรองราชการฯ การช่วยเหลือ จำนวน ๑๐,๑๑๖.๗๑๑๐ ล้านบาท ๒.๒.๓.๒ จังหวัดที่ขอทบทวนเพิ่มเติม ๗ จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร ลพบุรี และ กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น ๗๒๓,๐๐๙ ครัวเรือน วงเงิน ๑๐,๗๔๓.๖๔๔๖ ล้านบาท สรุปการให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพระหว่างการฟื้นฟูสภาพความเสียหาย (ครัวเรือนละ ๕,๐๐๐ บาท) มีประชาชนได้รับการช่วยเหลือ ๒,๐๘๓,๙๐๙ ครัวเรือน เป็นเงิน ๑๐,๔๑๙.๕๔๕ ล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ได้ช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว เป็นเงิน ๑๐,๑๑๖.๗๑๑ ล้านบาท ในขณะที่ยังมีประชาชนใน ๗ จังหวัด จำนวน ๗๒๓,๐๐๙ ราย ที่ยังขออุทธรณ์และขอยื่นเข้ามาใหม่ ในวงเงิน ๑๐,๗๔๓.๖๔๔๖ ล้านบาท บทที่ ๕ การวิเคราะห์และเสนอข้อคิดเห็น จากข้อเท็จจริงที่ได้รับจากหน่วยงานและบุคคลที่มาให้ข้อมูล การจัดสัมมนา จากการศึกษาดูงานในพื้นที่และจากข้อมูลในแหล่งต่างๆ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตและข้อคิดเห็น ต่อการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน ดังนี้ ๑. การบริหารจัดการของภาครัฐ ถึงแม้อุทกภัยปี ๒๕๕๔ จะเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องอย่างยาวนาน แต่มิได้หมายความว่าเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงครั้งแรกของประเทศไทย ส่วนราชการทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น ต่างก็มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้น โดยมีพระราชบัญญัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ และระเบียบและหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๖ หลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นหลักยึดและเครื่องมือในการบริหารจัดการ จะเห็นได้ว่าอุทกภัยปี ๒๕๕๔ เริ่มเกิดขึ้นเมื่อเริ่มเข้าฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่วนราชการทั้งหลายก็ได้ดำเนินการป้องกันและ บรรเทาภัยไปตามแนวทางและประสบการณ์ที่มีอยู่ จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์อุทกภัย เริ่มขยายพื้นที่ที่ประสบภัยมากขึ้นเมื่อพายุโซนร้อนและร่องความกดอากาศต่ำกำลังค่อนข้างแรงได้พัดผ่านเข้ามายังประเทศไทยตอนบน อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการที่นายกรัฐมนตรี (นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบภัย ในภาคเหนือตอนล่าง เช่น จังหวัดพิษณุโลก ก็ได้มีคำสั่งจัดตั้งองค์กร คือ ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการ และการบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศอส.) ขึ้น ต่อมายังมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) และคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการและคณะที่ปรึกษาอีก ๑๐ คณะ/ศูนย์ เพื่อการบริหารจัดการกับสถานการณ์อุทกภัยที่รุนแรงขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ รวมถึงการดำเนินการให้การช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยที่มีเงินงบประมาณเพิ่มอีก ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาบริหารงาน อุทกภัย โดยสรุปดังนี้ ๑) รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญและไม่ได้ใช้องค์กรที่มีอยู่ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้แก่ “คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.)” ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคนที่ ๑ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน คนที่ ๒ มีปลัดกระทรวง ๗ กระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหาร-ตำรวจ ทั้งสี่เหล่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิ ๕ คน ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยมีอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการคณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ มีองค์ประกอบที่ครอบคลุมผู้บริหารส่วนราชการหลักของประเทศมีทั้งอำนาจและหน้าที่ที่มีกฎหมายรองรับ อำนาจที่จะขอยกเป็นตัวอย่าง คือ อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นรองประธานคนที่ ๑ และในกรณีของคณะรัฐบาลนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย จึงอาจได้รับมอบหมายให้เป็นประธานกรรมการด้วยก็ได้ อำนาจที่กล่าวถึงเป็นไปตามมาตรา ๑๓ ที่มีอำนาจในการควบคุมและกำกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั่วราชอาณาจักร นอกจากนั้น ยังมีอำนาจบังคับบัญชาและสั่งการผู้บริหาร เจ้าพนักงาน และอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ผู้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทั้งหลาย รัฐบาลควรให้ความสำคัญและใช้คณะกรรมการคณะนี้เป็นศูนย์กลางในการบริหาร เพราะเป็นคณะกรรมการที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติทั้งหลาย ๒) จำนวนคณะกรรมการและจำนวนศูนย์มีมาก รวมถึงการตั้งข้าราชการระดับสูงทั้งฝ่ายการเมือง เช่น รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการประจำ เช่น ปลัดกระทรวง ทำให้ข้าราชการระดับสูงส่วนใหญ่ต้องเข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการ หรือกรรมการในคณะกรรมการบริหารศูนย์ ซึ่งในทางปฏิบัติส่วนใหญ่จะมอบหมายข้าราชการระดับต่างๆ เข้าประชุมแทน ทำให้คณะกรรมการ และศูนย์ที่ตั้งขึ้น มีกรรมการที่ขาดความต่อเนื่องในการเข้าประชุม จึงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่มากนัก และในบางกรณียังอาจทำให้เกิดขั้นตอนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการเสนอและพิจารณา รัฐบาลควรทบทวนการปฏิบัติงานของ “คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.)” ให้สามารถดำเนินการได้อย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นกลไกตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่รับรอง พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ๓) ความรอบคอบในการออกคำสั่ง เช่น การตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) มีประเด็นข้อสังเกตดังนี้ (๑) การมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่ควรจำกัดหรือเน้นหนักไปในด้านการช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย แต่ควรให้มีอำนาจและหน้าที่ในการบริหารน้ำอย่างจริงจัง เพราะในขณะที่ตั้ง ศปภ. ยังคงมีปัญหาการบริหารจัดการน้ำอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความไม่มีเอกภาพในการบริหารจัดการ (๒) คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่จัดตั้ง ศปภ. ไม่มีอำนาจในการบังคับบัญชาและสั่งการ ให้หน่วยงานต่างๆ ปฎิบัติการตามคำสั่งของ ศปภ. เนื่องมาจาก ศปภ. ไม่ได้มีอำนาจรองรับตามกฎหมาย ในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องมีการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๗/๒๕๕๔ เรื่อง กำหนดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรง ตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ (โปรดดูคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๑๗/๒๕๕๔ ตามเอกสารแนบที่ ๙) เพื่อให้ ผู้บัญชาการ ผู้อำนวยการ หน่วยงานของรัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ มีหน้าที่ดำเนินการตามคำสั่งของ ศปภ. เพื่อให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องปฎิบัติตามคำสั่งของ ศปภ. (๓) การตั้งบุคคลเข้ารับหน้าที่ใน ศปภ. โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อำนวยการศูนย์ที่ตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมิได้มีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงกับเรื่องภัยพิบัติ ต่างไปจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่ในเรื่องภัยพิบัติโดยตรง นอกจากนั้น ดังได้กล่าวมาก่อนแล้วว่ายังควบตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ในส่วนของรองผู้อำนวยการศูนย์ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหมและรักษาราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ทั้งสองท่านเป็นข้าราชการประจำในขณะที่หัวหน้าฝ่าย หัวหน้ากลุ่มงานต่างๆ กลับเป็นระดับรัฐมนตรีเกือบทั้งหมด จึงเป็นเรื่องยากในการบริหารของรองประธานทั้งสอง โดยสรุป รัฐบาลควรนำบทเรียนในเรื่องการใช้และการจัดองค์กรบริหารสาธารณภัยมาพิจารณาให้รอบคอบเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงาน รัฐบาลใช้องค์กรที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อให้สามารถบริหารงาน สาธารภัยได้อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมาทุกครั้ง ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการดำเนินการที่แอบแฝงด้วยเหตุผลทางการเมืองที่ต้องการดึงเอาภารกิจการช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์มาไว้ที่สำนักนายกรัฐมนตรี และเป็นการดึงเอาอำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณมาสู่เงื้อมมือของ ฝ่ายการเมือง แทนที่ใช้โครงสร้างตามกฎหมายและระบบที่มีอยู่ตามปกติและสามารถตรวจสอบได้ ๒. การสื่อสารและการให้ข้อมูล ในการบริหารจัดการภัยพิบัติ เช่น อุทกภัยที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่ประชาชนควรได้รับแจ้งข้อมูลข่าวสาร ที่ชัดเจน เข้าใจง่าย แม่นยำและทันกับเวลา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาวะของน้ำฝน สถานการณ์น้ำ ภาวะน้ำท่วมและน้ำท่วมขัง ตลอดจนการดำเนินการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้น รวมถึงแนวและวิธีการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งนี้ เพื่อประชาชนจะได้ไม่ประมาทต่อสถานการณ์หรือไม่ตื่นตระหนกจนเกินกว่าเหตุ สามารถบริหารจัดการในส่วนของตนเองให้พ้นจากอุทกภัยหรือเกิดความเสียหายน้อยที่สุด ในช่วงที่เริ่มเกิดอุทกภัยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ การแจ้งข้อมูลข่าวสารที่จะเชื่อมโยงถึงการเกิดอุทกภัยยังคงเป็นไปตามกลไกปกติ มีการรายงานสภาวะดินฟ้าอากาศ การรายงานถึงปริมาณกักเก็บน้ำในเขื่อนสำคัญๆ ตลอดจนถึงปริมาณการไหลผ่านของมวลน้ำ ณ จุดสำคัญ เช่น เขื่อนชัยนาท ประเด็นที่น่าตรวจสอบเพิ่มเติม คือ ความเข้าใจของประชาชนที่ได้รับข้อมูลต่างๆ ที่ภาครัฐได้นำมาเผยแพร่ เช่น ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนชัยนาท ๓,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาทีนั้นหมายความว่าอย่างไร อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี จะมีปัญหาหรือไม่ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อจะได้ทบทวนเทคนิคการทำ ความเข้าใจกับประชาชน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากข่าวสารของทางภาครัฐได้อย่างแท้จริง เช่น การให้ข้อมูลแบบจำลองเชิงพื้นที่ การให้ข้อมูลในลักษณะที่ปรุงแต่งแล้วแทนการให้เป็นข้อมูลดิบ การใช้ภาพจำลองแทนการใช้ตัวเลข เป็นต้น ประชาชนเริ่มตระหนักถึงสถานการณ์อุทกภัยมากขึ้น ตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีและคณะไปตรวจเยี่ยม ณ ภาคเหนือตอนล่างในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๔ มีการเผยแพร่แนวทางและรูปแบบการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่มีชื่อว่า “บางระกำโมเดล” อย่างไรก็ตาม ประชาชนเริ่มตื่นกลัวมากขึ้น เมื่อภาวะอุทกภัยเริ่มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ที่เป็นจุดรวมและเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยาและขยายตัวต่อเนื่องมายังจังหวัดต่างๆ ทั้ง อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ที่เริ่มตระหนักมากขึ้น เมื่อประตูน้ำบางโฉมศรีไม่สามารถต้านทานกระแสน้ำได้ ทำให้น้ำเข้าท่วมลพบุรีอย่างรวดเร็วและรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ความตื่นตระหนกของประชาชนในภาคกลางและกรุงเทพมหานครเริ่มมีมากขึ้น เมื่อสถานการณ์น้ำในทุ่งเริ่มขยายวงกว้างขึ้นไปยังบางอำเภอของจังหวัดสระบุรี เช่น อำเภอวังน้อย อุทกภัยเข้าโจมตีนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง จนเชื่อว่าอุทกภัยคงจะแผ่ขยายลงมาจนถึงกรุงเทพมหานครอย่างแน่นอน ความสับสนและความไม่ชัดเจน ไม่แม่นยำในการแจ้งข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเกิดขึ้น อย่างต่อเนื่อง คำปลอบประโลมของนายกรัฐมนตรีที่แจ้งแก่ประชาชนว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้ ที่ถูกล้อเลียนในภายหลังว่า “เอาอยู่” เป็นเรื่องบั่นทอนความเชื่อมั่นในรัฐบาล แม้กระทั่งเมื่อมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย (ศปภ.) ซึ่งประชาชนได้ตั้งความหวังว่าจะช่วยบรรเทาภาวะอุทกภัยได้ แต่ความไม่ชัดเจนในการสื่อสารกับประชาชนก็ยังมิได้หายไป การออกมาชี้แจงหรือแจ้งข่าวสารมีเจ้าหน้าที่ของ ศปภ. ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกมาชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์อุทกภัยและการให้การช่วยเหลือ แต่ก็ยังคงสับสนอยู่ต่อไป จนกระทั่งในที่สุด ภายหลังจากมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการและศูนย์ต่างๆ รวม ๑๐ คณะ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสื่อสารสาธารณะออกมารับผิดชอบ หากจะเปรียบเทียบกับการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอุทกภัยครั้งนี้ของสื่อสารมวลชน ซึ่งถึงแม้อาจจะให้ข้อมูลที่แตกต่างกันบ้าง แต่เชื่อว่าประชาชนจะให้ความสนใจและเชื่อถือในข้อมูลของสื่อหลายสำนักมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายการของรองศาสตราจารย์เสรี ศุภราทิตย์ และคุณดาริน ข้องอักขระ ที่มีรายการออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง เข้าใจง่าย และเชื่อว่าประชาชนจำนวนไม่ใช่น้อยที่ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการต่อสู้หรือบรรเทาภัยจากอุทกภัยครั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงเห็นว่า ภาครัฐควรจะได้ศึกษา ตรวจสอบ และปรับปรุงระบบการสื่อการและการให้ข้อมูลแก่ประชาชนในการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ๓. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกร การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อประสบกับสาธารณะภัย เช่น น้ำท่วม ฝนแล้ง ศัตรูพืชระบาด จะอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ออกตามความแห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๖ โดยจะเน้นไปในการช่วยเหลือเงินเพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตเป็นสำคัญ เช่น นาข้าวจะได้รับการช่วยเหลือเป็นเงิน ๖๐๖ บาทต่อไร่ โดยมีแนวทางที่สำคัญคือ การสำรวจความเสียหายในพื้นที่แล้วรายงานให้ตรวจสอบในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด แล้วส่งให้กรมต่างๆ ในส่วนกลางได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ตรวจสอบและดำเนินการขออนุมัติเพื่อเบิกจ่ายเงินตามระเบียบกระทรวงการคลัง ในกรณีที่เป็นภัยขนาดใหญ่ต้องใช้เงินงบประมาณเป็นจำนวนมากก็จะต้องทำเรื่องเสนอขออนุมัติวงเงิน (งบกลาง) จากคณะรัฐมนตรี สำหรับอุทกภัยในปี ๒๕๕๔ นี้ ในเบื้องต้นที่เกิดอุทกภัยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่รับผิดชอบก็ดำเนินการช่วยเหลือไปตามแนวทางปกติ จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ ได้ให้ความเห็นชอบกับหลักเกณฑ์ อัตราและขั้นตอนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ อัตราและขั้นตอนในทำนองเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีเคยเห็นชอบเป็นกรณีพิเศษในคราวอุทกภัยปี ๒๕๕๓ มาก่อนเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ สาระสำคัญที่มีความแตกต่างไปจากแนวทางปกติได้แก่ ๑) การสำรวจและตรวจสอบความเสียหายในพื้นที่ที่กำหนดให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายด้านการเกษตรระดับหมู่บ้าน ๒) เพิ่มอัตราการช่วยเหลือโดยใช้ต้นทุนการผลิตเป็นฐานในการคำนวณด้านการช่วยเหลือเป็นเงินโดยกำหนดที่ร้อยละ ๕๕ ของต้นทุนการผลิต เช่น นาข้าวจะได้รับการช่วยเหลือ ๒,๒๒๒ บาทต่อไร่ และ ๓) การเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือไปยังเกษตรกรด้วยการอนุมัติและโอนเงินไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยไม่มีการเบิกจ่ายเป็นเงินสดผ่านบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ในส่วนของผลการให้ความช่วยเหลือ สำนักงบประมาณได้โอนเงิน ๒๙,๗๑๗.๑๘ ล้านบาทไปยัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรแล้ว ๒๙,๕๖๑.๓๗ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๔๘ ของเงินที่จะช่วยเกษตรกร อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่ทำการเกษตรซึ่งมีต้นทุนสูง เช่น กล้วยไม้ ไม้ดอกบางชนิด ไม้ผล(ส้มโอ ทุเรียน) ได้ร้องเรียนขอให้เพิ่มอัตราการช่วยเหลือจากที่คณะรัฐมนตรีได้เคยอนุมัติเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ (กล้วยไม้ ไม้ดอก ไม้ผล จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเงิน ๕,๐๙๘ บาทต่อไร่) เพื่อให้สามารถกลับไปฟื้นฟูอาชีพเดิมได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ได้อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยเพิ่มอัตราการช่วยเหลือการเกษตรรวม ๑๑ ประเภท เช่น กล้วยไม้ตัดดอกเพิ่มเป็นไร่ละ ๘๐,๐๑๓ บาท กล้วยไม้กระถาง ไร่ล่ะ ๑๘๒,๐๔๓ บาท เป็นต้น รวมเป็นวงเงินที่อนุมัติเพิ่ม ๑,๙๖๒.๔๒๗๖ ล้านบาท ส่วนส้มโอและทุเรียน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอเพิ่มเติมไปยังคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ซึ่งการพิจารณาเพิ่มอัตราการช่วยเหลือให้กับการเกษตร บางประเภทอาจจะก่อให้เกิดการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากเกษตรกรประเภทอื่นได้ นอกเหนือจากการให้การช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยใช้อัตราในกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีแทนอัตราที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวยังได้เสนอโครงการเพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะการฟื้นฟูและเยียวยาจำนวน ๑๔ และ ๒ โครงการตามลำดับ ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาตามระบบที่กำหนดขึ้นมาเป็นการเฉพาะ คือ เสนอคณะรัฐมนตรีโดยผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน (กศอ.) และคณะกรรมการเพื่อให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัย (กฟผ.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป จากผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีปรากฏว่ามีเพียง ๓ โครงการที่ได้รับความเห็นชอบ โดยสองโครงการแรกที่ได้รับอนุมัติเป็นการช่วยชาวนาโดยตรงได้แก่ โครงการช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าว วงเงิน ๑,๐๐๕.๖๓๐ ล้านบาท เพื่อช่วยให้ชาวนาที่นาข้าวเสียหายมากกว่าครึ่งหนึ่งของนาที่ทำมั่นใจว่าชาวนามีเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับปลูกในฤดูถัดไป ส่วนอีกโครงการหนึ่งเป็นการช่วยเยียวยาชาวนาที่ต้องรีบเก็บเกี่ยวข้าวและขายผลผลิตไปก่อนที่มาตรการจำนำข้าวจะเริ่มขึ้น โดยช่วยชดเชยให้ตันละ ๑,๔๓๗ บาท เป็นวงเงินรวม ๔,๕๘๑.๑๖๐ ล้านบาท ซึ่งอาจเทียบเคียงได้กับส่วนต่างในการประกันรายได้ของชาวนาตามมาตรการประกันรายได้ของรัฐบาลที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบแต่ให้ไปใช้เงินในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๖ โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อน เท่ากับว่าไม่ได้ใช้เงินจากงบกลาง ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ในส่วนของโครงการที่สามเป็นโครงการฟื้นฟูการผลิตพืชต้นทุนสูงที่มีทั้งการขอเพิ่มอัตราการช่วยเหลือและการฝึกอบรม คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเฉพาะการเพิ่มอัตรา การให้ความช่วยเหลือจากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ก่อนแล้ว เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ จะเห็นได้ว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติทั้งสามโครงการมิได้มีลักษณะการฟื้นฟู โครงการช่วยเมล็ดพันธุ์ข้าวและโครงการพืชต้นทุสูงก็ยังคงมีลักษณะการช่วยเหลือเพิ่มเติมในเรื่องปัจจัยการผลิตและอัตรา (เงิน) ในการช่วยเหลือในขณะที่โครงการเยียวยาชาวนาที่ไม่สามารถเข้าโครงการรับจำนำข้าวยิ่งไม่เกี่ยวกับการฟื้นฟูแต่เป็นการแก้ปัญหาที่รัฐบาลใช้มาตรการจำนำข้าวแทนการประกันรายได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้กำหนดให้ใช้เงินงบประมาณในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ แทนการใช้งบกลาง ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับโครงการที่เหลือไม่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้งบกลาง ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปพิจารณาใช้งบประมาณที่มีอยู่ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วก็เท่ากับไม่อนุมัติโครงการที่เสนอมานั่นเอง ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะลักษณะโครงการที่เสนอหลายโครงการมีลักษณะคล้ายกับเป็นงานประจำที่ดำเนินการอยู่แล้ว จึงให้ไปเจียดจ่ายงบประมาณจากส่วนอื่นมาดำเนินการซึ่งคงจะเป็นบทเรียนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องเตรียมพิจารณาแนวคิดและแนวทางในการฟื้นฟูที่จะดำเนินการเพิ่มเติมต่อจากการช่วยเหลือเป็นเงินชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกร จากการศึกษาข้างต้นคณะอนุกรรมาธิการมีความเห็นและข้อเสนอแนะดังนี้ ๑) แนวทางปฏิบัติที่กำหนดให้มีคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายระดับหมู่บ้านเป็นเรื่องที่ดีแต่ก็ยังเห็นความจำเป็นที่ควรจะมีการสุ่มตรวจสอบโดยหน่วยงานกลางเพื่อให้มั่นใจในกลไกนี้ การเบิกจ่ายตรงให้กับเกษตรกรผ่านระบบธนาคารก็เป็นเรื่องที่สมควรดำเนินการต่อไป ส่วนการกำหนดคุณสมบัติของเกษตรกรที่สมควรจะได้รับการช่วยเหลือนั้น เช่น การขึ้นทะเบียนเกษตรกรควรจะมีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไป ๒) เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก จึงเห็นว่ารัฐบาลร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนหลักการและแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออันเนื่องมาจากการประสบภัย เช่น - การพิจารณาอัตราการช่วยเหลือ ควรใช้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันโดยตลอด มิใช่เป็นอัตราตามนโยบายรัฐบาลแต่ละคณะ หากอัตราและวิธีคิดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดยังไม่เหมาะสมก็ควรพิจารณาปรับปรุงอัตราที่กำหนดไว้เดิม - การนำเอาระบบการประกันภัยเข้ามาลดความเสี่ยงของเกษตรกรโดยในระยะแรกรัฐบาลจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกษตรกรมีโอกาสและสามารถเข้าสู่ระบบการประกันภัยการผลิตทางการเกษตรให้ได้โดยด่วน - การให้การช่วยเหลือในรูปแบบอื่น เช่น การหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ๓) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำข้อคิดเห็นจากการสัมมนาไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงการบริหารสาธารณภัยต่อไป ๔. การช่วยเหลือประชาชนทั่วไป จากการศึกษาพบว่า นอกจากที่ได้มีการระดมสรรพกำลังเข้าช่วยเหลือประชาชนในระหว่างเกิดอุทกภัยทั้งในด้านการขนส่งและคมนาคม การอพยพของประชาชน และการตั้งศูนย์อพยพ การแก้ไขปัญหาสินค้าขาดตลาดและมีราคาแพง การให้บริการด้านสาธารณสุข การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น ภาครัฐยังมีการให้ความช่วยเหลือในรูปตัวเงินแก่ประชาชนอีกด้วย การช่วยค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพระหว่างการฟื้นฟูสภาพความเสียหายซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรี (๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔) โดยให้ความช่วยเหลือครัวเรือน ๕,๐๐๐ บาท จำนวน ๒,๐๘๓,๙๐๙ ครัวเรือน วงเงิน ๑๐,๔๑๙.๕๔๕๐ ล้านบาท โดยให้ไปเบิกจ่ายผ่านธนาคารออมสิน ในส่วนของการช่วยเหลืออีกประเภทหนึ่งที่คำนึงถึงสภาพความเสียหาย โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกลไกในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ซึ่งได้ให้การช่วยเหลือไปแล้ว เป็นจำนวนเงิน ๑๐,๑๑๖.๗๑๑๐ ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประชาชนเป็นจำนวนมากที่ยังคงเรียกร้องว่าการพิจารณาของภาครัฐไม่มีความเป็นธรรม ภาครัฐ จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนยื่นคำร้องขอให้ทบทวนผลการพิจารณาให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ ผู้ที่ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือสามารถยื่นคำร้องเพิ่มเติมได้ ซึ่งมีจำนวนถึง ๗๒๓,๐๐๙ ครัวเรือน วงเงิน ๑๐,๗๔๓.๖๔๔๖ ล้านบาท คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้วิเคราะห์แล้วพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากความสับสนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีต่อมาตรการนี้ทำให้การชี้แจงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการให้การช่วยเหลือไม่ชัดเจนและมีความแตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ เช่น - ขอบเขตการให้การช่วยเหลือ ประชาชนในหลายท้องที่เข้าใจว่าสามารถให้การช่วยเหลือเฉพาะการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายในวงเงินไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท จนในบางท้องที่เรียกขานว่าเป็นมาตรการช่วยไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ทั้งๆ ที่เกณฑ์การให้ความช่วยเหลือดังกล่าวนี้เป็นเพียงรายการเดียวของเกณฑ์การช่วยเหลือทั้งหมด ๑๙ รายการ - การชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงการยื่นคำร้องเพื่อขอรับการช่วยเหลือ เช่น วันเวลาและสถานที่ที่รับคำร้อง หลักฐานประกอบคำร้องที่ยื่น (ภาพถ่ายความเสียหายที่เกิดขึ้น ใบสำคัญรับเงินที่มีการใช้จ่ายไป จำนวนสมาชิกในครัวเรือน เป็นต้น) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนที่อยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น อยู่ในอาคารชุดเดียวกันแต่ได้รับผลการพิจารณาแตกต่างกัน บางรายได้เกินกว่า ๒๐,๐๐๐ บาท บางรายได้ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ บาท ทั้งที่มีความเสียหายรุนแรงคล้ายกัน ในส่วนของสาเหตุที่เกิดความสับสนนี้ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นว่าเป็นเพราะการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นเงินในด้านต่างๆ ทั้งด้านการเกษตรและการช่วยค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพฯ (มาตรการ ๕,๐๐๐ บาท) ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษหรือกรณีเฉพาะ จึงมีกระบวนการชี้แจงให้ดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เหล่านั้น ในขณะที่มาตรการตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นการดำเนินงานตามแนวทางปกติ อาจจะไม่ได้มีกระบวนการชี้แจงเหมือนกับมาตรการพิเศษต่างๆ อันน่าจะเป็นสาเหตุที่เกิดความเข้าใจที่สับสนได้ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อเสนอแนะว่า กระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นองค์กรกลางในการบริหารสาธารณภัยต่างๆ ควรตรวจสอบสาเหตุแห่งปัญหาและใช้เป็นบทเรียนในการบริหารจัดการสาธารณภัยต่อไป ๕. ความคิดเห็นเกี่ยวกับขอบเขตของสาธารณภัยที่ภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือ จากการศึกษาการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ประสบอุทกภัยปี ๒๕๕๔ พบว่ารัฐบาลต้องใช้จ่ายเงินเฉพาะเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรและการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นวงเงินไม่ต่ำกว่า ๕๓,๐๐๐ ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะต้องใช้จ่ายในปีต่อๆ ไป อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเงินจำนวนสูงมาก นอกเหนือจากข้อคิดเห็นในการบริหารจัดการอุทกภัยที่ได้เสนอไปแล้ว คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังมีความเห็นว่า ภาครัฐควรทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับขอบเขตหรือคำนิยามหรือเกณฑ์วัดของภาวะภัยธรรมชาติว่าลักษณะภัยที่จะประกาศว่าเป็นภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ภัยหนาว จะต้องเป็นอย่างไร ภาครัฐจึงจะเข้าไปช่วยเหลือ เช่น - บางพื้นที่มีสภาพตามธรรมชาติดั้งเดิมเป็นทางน้ำไหลผ่านเมื่อปรากฏว่ามีน้ำไหลผ่านและท่วมขังตามปกติ จะยังคงถือว่าเป็นอุทกภัยที่ภาครัฐต้องให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายหรือระเบียบที่มีอยู่หรือไม่ - ในกรณีที่มีพายุพัดแรงตามฤดูกาล จะพิจารณาว่าเป็นวาตภัยที่ภาครัฐต้องรับผิดชอบช่วยเหลืออย่างไร - ในหลายท้องที่ที่ไม่มีฝนตกในช่วงฤดูแล้ง ทำให้ขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร จะถือว่าเป็นภัยแล้งหรือไม่ - ในบางท้องที่ในภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สูงที่ในช่วงฤดูหนาวมักจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า ๑๐ องศาเซลเซียสอยู่เป็นประจำ ถ้าหากในช่วงฤดูหนาวท้องที่นั้นมีอุณหภูมิ ๑๔ องศาเซลเซียสต่อเนื่องใน ๓ วัน จะถือว่าประสบกับภัยหนาว ต้องมีการแจกผ้าห่มกันอย่างนั้นหรือคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ขออ้างอิงคำพิพากษาของศาลฎีกาบางคดีเพื่อนำมาประกอบความเห็นที่เสนอให้มีการทบทวนและทำความเข้าใจถึงขอบเขตหรือนิยามของภัยธรรมชาติ เช่น - คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๙๔/๒๕๓๑ การที่น้ำป่าพัดสะพานพัง ถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย แต่กรณีระดับน้ำในแม่น้ำเมยสูงขึ้นเป็นสิ่งที่เป็นไปโดยปกติตามฤดูกาล โดยระดับน้ำในหน้าฝนจะสูงขึ้นเช่นนี้ทุกปี ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย - คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๑๔๐/๒๕๒๐ พายุที่พัดมาแรงตามฤดูกาลมิใช่นอกฤดูกาล หรือแรงกว่าปกติตามฤดูกาล มิใช่เหตุสุดวิสัย ฯลฯ จากแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาจะเห็นได้ว่า ศาลได้วางหลักเอาไว้ว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนั้น ถ้าเกิดขึ้นเป็นปกติตามฤดูกาลไม่ได้ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ย่อมอนุมานได้ว่า ถ้าพื้นที่ใดเป็นพื้นที่ที่จะต้องประสบภัยธรรมชาติอย่างนั้นอยู่เป็นประจำย่อมไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยและกฏหมายไม่ได้ให้การคุ้มครอง คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงเสนอว่า ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนและทำความเข้าใจในเรื่องนิยามของภาวะภัยธรรมชาติให้สอดคล้องกับเหตุและผลที่สมควรต่อไป ๖. การใช้ประโยชน์จากบทเรียนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับบทเรียนในการบริหารภัยพิบัติมาหลายครั้ง ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะด้านอุทกภัย ที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๓ อันเป็นสถานการณ์ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ภายใต้การร้องขอของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบการฟื้นฟูวิกฤตอุทกภัย วุฒิสภา ได้จัดส่งเอกสารเกี่ยวกับนโยบายของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ (ตามหนังสือสำนักงานที่ นร. ๑๑๑๔/๐๐๓๘ ลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๕) ประกอบด้วย ๑) ยุทธศาสตร์การบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแบบบูรณาการและยั่งยืน -กรณีลุ่มน้ำเจ้าพระยา ๒) ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วน ๓) แผนบริหารราชการแผ่นดินและ ๔) กรณีศึกษาประเทศไทยและต่างประเทศเรื่องการจัดการบริหารภัยพิบัติและการฟื้นฟูบูรณะหลังเกิดภัย จากเอกสารกรณีศึกษาฯ ในบทที่ ๗ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทยระหว่างวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓ – ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๓ ที่เกิดความเสียหายอย่างมากใน ๓๙ จังหวัด ๔๒๕ อำเภอ ๓,๐๙๘ ตำบล ๒๖,๒๒๖ หมู่บ้าน ประชาชน ๒,๐๐๒,๙๑๖ ครัวเรือน ๗,๐๓๘,๒๔๘ คน เสียชีวิต ๑๐๘ ราย พื้นที่เกษตรเสียหาย ๗,๗๘๔,๓๖๘ ไร่ ปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่สรุปได้คือ การไม่มีนโยบายการเตือนภัยธรรมชาติที่ชัดเจนของภาครัฐ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ขาดการบูรณาการข้อมูลเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ขาดการเฝ้าระวังและการประเมินสถานการณ์ ทำให้ไม่มีการป้องกันการเตือนภัยและการเตรียมอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เมื่อเกิดอุทกภัยจึงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน นอกเหนือจากการให้การช่วยเหลือระยะเร่งด่วนด้วยการระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานทางทหารและพลเรือนเข้าช่วยเหลือประชาชน รัฐบาลได้ตั้งศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) และมีมติคณะรัฐมนตรีให้การช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น - ให้เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ไม่สามารถขนย้ายทรัพย์สินหรือที่พักอาศัยอยู่ในที่น้ำท่วมขังไม่น้อยกว่า ๗ วัน จำนวนครัวเรือนละ ๕,๐๐๐ บาท - ชดเชยเครื่องมือประกอบอาชีพครัวเรือนละ ๑๐,๐๐๐ บาท - ช่วยเหลือฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกร ในอัตราร้อยละ ๕๕ ของต้นทุนการผลิต - มีมาตรการด้านการเงินการคลัง เช่น สินเชื่อเพื่อประกอบอาชีพและที่อยู่อาศัย งดพักชำระหนี้ ยกเว้นภาษี - ฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล ถนน ไฟฟ้า ประปา และสถานที่ราชการ อนึ่ง รัฐบาลได้กำหนดมาตรการระยะยาวเพื่อป้องกันและฟื้นฟูสภาพพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัย โดยได้สั่งให้ดำเนินการ ๑) จัดทำระบบเตือนภัยที่มีเอกภาพ ๒) จัดทำระบบบริหารจัดการน้ำ ๓) ปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้ทันต่อสถานการณ์ และ ๔) การพัฒนากลไกประกันความเสี่ยง คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นด้วยกับการสั่งการหรือกำหนดมาตรการทั้งสี่ภายหลังจากเกิดอุทกภัยในปี ๒๕๕๓ แต่จากสถานการณ์อุทกภัยในปี ๒๕๕๔ ย่อมพิสูจน์ได้ว่า มาตรการที่กำหนดทั้ง ๔ ประการ ยังไม่มีการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในการป้องกันและการบรรเทาภัยแต่อย่างใด จากเอกสารที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำให้เห็นได้ว่า รัฐบาลคณะปัจจุบันยังคงพยายามดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันกับที่คณะรัฐบาลคณะก่อนได้กำหนดไว้ในบางเรื่อง เช่น การจัดทำระบบบริหารจัดการน้ำ การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัย เพียงแต่เกรงว่าจะไม่ทันกับการนำมาใช้หากเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงอีกในปี ๒๕๕๕ คณะอนุกรรมการวิสามัญฯ จึงมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มความจริงจังกับการเตรียมการในการบริหารการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกรอบเวลาที่จะต้องดำเนินการ ๗. สรุปข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ๗.๑ ในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ควรทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ออกตามความแห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๖ ให้สอดคล้องกับแนวคิดการให้ความช่วยเหลือและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องแทนการออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษหรือกรณีเฉพาะเป็นคราวๆ ไป ๗.๒ ในการจัดองค์กรบริหารงาน ทั้งด้านการเตรียมการ การป้องกันและการบรรเทาสาธารณภัย สมควรที่จะต้องใช้องค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแล ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองประธาน ตลอดจนเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับและมีอำนาจในการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้แทนการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมา ๗.๓ ในการบริหารการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ควรมีมติสั่งการให้ส่วนราชการต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหล่าทัพต่างๆ ศึกษาถึงระบบการดำเนินงานที่ผ่านๆ มาเพื่อปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ตลอดจนนำไปเป็นข้อมูลเพื่อการปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฉบับต่อไป เช่น การเตือนภัย การประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลในเรื่องราวต่างๆ การดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ๗.๔ ควรมีการพิจารณาทบทวนคำนิยาม “ภัยพิบัติธรรมชาติ” ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกลักษณะของภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในท้องที่นั้นๆ กับภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เพื่อกำหนดถึงความรับผิดชอบที่ภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงการนำระบบประกันภัยเข้าไปลดความเสี่ยงด้วย ๗.๕ รัฐบาลและภาครัฐต้องมีความจริงจังและจริงใจในการปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ ที่ได้มีการนำเสนอ เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาทิ หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ให้ใช้ขั้นตอนและรูปแบบเอกสารเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ๗.๖ การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยต้องสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน และสอดคล้องตามหลักการสากลที่เป็นธรรมและเสมอภาค บทที่ ๖ บทสรุป ๑. สถานการณ์อุทกภัย การตั้งและดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ จากสถานการณ์อุทกภัยปี ๒๕๕๔ ที่สร้างความเสียหายต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ อย่างร้ายแรง มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติกว่า ๑๕๐ ล้านไร่ใน ๖๖ จังหวัด ๗๒๑ อำเภอ ประชาชน ๑๓.๕๙๕ ล้านคน ใน ๔.๐๘๖ ล้านครัวเรือนต้องประสบภัยอุทกภัยนี้ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและสูญหายถึง ๘๑๖ ราย ในขณะที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ปรากฏว่าพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า ๑๑ ล้านไร่ พื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำเสียหายกว่า ๒ แสนไร่ สัตว์ตายและสูญหายกว่า ๑๓ ล้านตัว สาธารณูปโภค เช่น ถนนสะพาน ท่อระบายน้ำ ฝาย ทำนบ เสียหายเป็นจำนวนมากประเมินมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้ถึง ๑.๔๔ ล้านล้านบาท ในวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ วุฒิสภาจึงได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบการฟื้นฟูวิกฤตอุทกภัยเพื่อศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ แนวทางการแก้ปัญหาวิกฤตอุทกภัยตลอดจนการฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยดังกล่าว ซึ่งต่อมาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบการฟื้นฟูด้านการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อศึกษาติดตามและตรวจสอบ การป้องกันและเข้าใจปัญหาและการฟื้นฟูด้านการเกษตรและความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ และที่ปรึกษารวม ๑๘ ราย คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เชิญส่วนราชการต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง จังหวัดนครปฐม และสภาเกษตรกรแห่งชาติ เข้าให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลร่วมกับข้อมูลจากการจัดสัมมนาเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย การไปศึกษาดูงานในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ปทุมธานี และนนทบุรี ตลอดจนการศึกษาติดตามข้อมูลข่าวสารจากแหล่งต่างๆ ของอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ และที่ปรึกษา ทั้งนี้เพื่อการศึกษา วิเคราะห์และสรุปเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อพิจารณานำเสนอวุฒิสภาต่อไป ๒. การช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนขณะเกิดอุทกภัย ในการศึกษาการดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไปในขณะเกิดอุทกภัย พบว่า ในระหว่างเกิดอุทกภัยหน่วยงานที่รับผิดชอบการช่วยเหลือเกษตรกรจะเร่งดำเนินการตรวจสอบสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ที่เห็นได้ว่ามีการช่วยเหลือระหว่างเกิดอุทกภัยจะเป็นการช่วยเหลือ ที่เห็นได้ว่ามีการช่วยเหลือระห่างเกิดอุทกภัยเป็นการช่วยสูบน้ำหรือระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวผลผลิต การช่วยเหลือในการจับสัตว์น้ำในกระชังหรือบ่อเลี้ยง การอพยพสัตว์ออกจากพื้นที่น้ำท่วม การสนับสนุนอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์สัตว์ รวมถึงการสนับสนุนน้ำหมัก พ.ด.๖ เพื่อลดมลภาวะทางน้ำในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชนโดยทั่วไปในขณะเกิดอุทกภัยเป็นการระดมสรรพกำลังทั้งจากฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน และภาคเอกชนเข้าช่วยในลักษณะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดของยังชีพไปแจกจ่ายให้กับประชาชนในชุมชนต่างๆ รวมถึงการขนส่งและการคมนาคม การอพยพและจัดตั้งศูนย์อพยพ การแก้ไขปัญหาสินค้าขาดแคลนและราคาแพง การให้บริการสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล การป้องกันและให้ความช่วยเหลือเรื่องไฟฟ้าลัดวงจร ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ๓. การช่วยเหลือเกษตรกรหลังจากเกิดอุทกภัย การดำเนินการช่วยเหลือเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเกษตรกร คณะรัฐมนตรีมีมติในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๔ เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับการทำการเกษตรโดยชดเชยเป็นเงินในอัตราร้อยละ ๕๕ ของต้นทุนการผลิต แทนการชดเชยเป็นเงินตามอัตราพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์น้ำ และปัจจัยการผลิตที่กำหนด โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ออกตามความในข้อ ๒๗ แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๖ นอกจากนั้นได้มีการเพิ่มเติมวิธีการในการให้ความช่วยเหลือเพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ เช่น การตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายในระดับหมู่บ้านที่มีผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันเป็นประธาน ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล ๒ คน ตัวแทนเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ๒ คน อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน (๑ คน) โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่รับผิดชอบในตำบลนั้น (เกษตรตำบล)เป็นเลขานุการ รวมถึงการกำหนดให้มีการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ผ่านทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นว่าเป็นวิธีการที่สามารถช่วยป้องกันการทุจริตได้ดีกว่าวิธีการที่เจ้าหน้าที่เป็นผู้รับผิดชอบ หลักการและวิธีการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ดำเนินการนี้ คณะรัฐมนตรีสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีได้เคยเห็นชอบในการให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ในปี ๒๕๕๓ ซึ่งมีผลทำให้อัตราการช่วยเหลือเพิ่มจากหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ประมาณ ๓ - ๕ เท่า เช่น การช่วยเหลือนาข้าวที่เสียหายตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ จะได้รับความช่วยเหลือเป็นเงิน ๖๐๖ บาทต่อไร่ ในขณะที่ถ้าใช้ฐานการคำนวณจากต้นทุนการผลิตตามมติคณะรัฐมนตรีจะต้องช่วยเป็นเงิน ๒,๒๒๒ บาทต่อไป หรือกรณีพืชสวนที่รวมถึงไม้ผล พืชผัก ไม้ดอก จะได้รับการช่วยเหลือจาก ๙๑๒ บาทต่อไร่ เป็น ๕,๐๘๙ บาทต่อไร่ สำหรับผลการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านพืช เกษตรกรได้รับความเสียหาย ๑,๑๖๔,๔๕๙ ราย พื้นที่ ๑๑.๑๖ ล้านไร่ วงเงินที่ช่วยเหลือ ๒๗,๗๗๐.๗๒ ล้านบาท ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับเงินจาก สำนักงบประมาณและโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรผู้ประสบภัยไปแล้ว ๒๗,๖๘๐.๙๙ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๖๘ ของจำนวนเงินที่จะช่วยเหลือทั้งหมด โดยข้อเท็จจริง เกษตรกรหลายประเภทได้เสนอความเห็นในที่สัมมนาที่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ จัดขึ้น โดยขอให้ภาครัฐทบทวนแนวคิดและอัตราการให้ความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความแตกต่างของพืชในกลุ่มพืชเดียวกันเช่น กลุ่มพืชไร่ ที่พืชไร่ประเภทถั่วต่างๆ มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอ้อย แต่ใช้อัตราการช่วยเหลือระดับเดียวกัน ซึ่งปรากฏว่า คณะรัฐมนตรีในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ได้อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยเพิ่มอัตราการช่วยเหลือพืชที่มีต้นทุนการผลิตสูง เช่น กล้วยไม้ ไม้ตัดดอก รวม ๑๑ ประเภท ในวงเงิน ๑,๙๖๒,๔๒๗๖ บาท และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาพืชส้มโอและทุเรียนที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอขอเพิ่มไปอีก ๔๕๘,๓๐๒,๘๗๐ บาท ในส่วนของการให้ความช่วยเหลือด้านประมง เกษตรกรประสบอุทกภัย ๑๕๙,๔๘๒ ราย ในพื้นที่ ๗๖,๓๘๒ ไร่ เป็นวงเงิน ๑,๖๔๕.๘๒ ล้านบาท ซึ่ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะได้รับเงินดังกล่าวและได้โอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรแล้ว ๑,๕๘๔.๘๐ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๖.๒๙ ของวงเงินทั้งหมด การให้ความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ เกษตรกรประสบภัย ๕๗,๙๒๑ ราย ควรได้รับเงินช่วยเหลือ ๓๑๔.๐๘ ล้านบาท ปรากฏว่าได้รับเงินช่วยเหลือไปแล้ว ๓๐๔.๗๕ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๗.๐๓ ของวงเงินทั้งหมด โดยสรุป การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในด้านพืช ประมงและปศุสัตว์ มีเกษตรกรมากกว่า ๑.๑๖ ล้านรายที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยปี ๒๕๕๔ มีพื้นที่ที่เสียหายมากกว่า ๑๑.๒ ล้านไร่ สมควรได้รับเงินช่วยเหลือตามมติคณะรัฐมนตรีในวงเงิน ๒๙,๗๓๐.๖๒ ล้านบาท ซึ่งได้มีการอนุมัติและโอนเงินไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ๒๙,๗๑๗.๑๘ ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๙๖) ในขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้โอนเงินที่ไดรับเข้าบัญชีของเกษตรกรแล้วเป็นจำนวน ๒๙,๕๖๑.๓๗ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๙๙.๔๘ ของวงเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับหรือคิดเป็นร้อยละ ๙๙.๔๓ ของวงเงินที่รัฐบาลจะต้องช่วยเหลือ ทั้งนี้ ยังไม่รวมวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเพิ่มเติมจากการปรับอัตราการช่วยเหลือการเกษตรที่มีการลงทุนสูงอีก ๑,๙๖๒.๔๒๗ ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการเบิกจ่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นอกเหนือจากการช่วยเหลือเกษตรกรในลักษณะการชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติยังได้เสนอโครงการเพื่อฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรจำนวน ๑๔ และ ๒ โครงการตามลำดับ วงเงินรวม ๑๘,๖๓๖.๘๑๘ ล้านบาท เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดยผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น ผลปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบรวม ๓ โครงการ คือ ๑) โครงการช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าว (สำหรับชาวนาที่มีนาเสียหายเกินกว่าร้อยละ ๕๐ ของพื้นที่เพาะปลูก) วงเงิน ๑,๐๐๕.๖๓ ล้านบาท ๒) โครงการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี (๒๕๕๔/๕๕) ที่ประสบอุทกภัยต้องเก็บเกี่ยวข้าวและนำไปขายก่อนที่เริ่มโครงการรับจำนำข้าววงเงิน ๔,๕๘๑.๑๖๐ ล้านบาท แต่ให้ไปใช้วงเงินงบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๖ แทนการใช้วงเงินงบกลาง ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อน และ ๓) โครงการเร่งรัดฟื้นฟูการผลิตพืชต้นทุนสูง (เป็นการเพิ่มอัตราการช่วยชดเชยความเสียหาย โดยเพิ่มอัตราการชดเชยพืช ๑๑ รายการ ซึ่งได้รายงานในส่วนของการช่วยเหลือด้านการชดเชย ความเสียหายด้านพืชมาก่อนแล้ว) วงเงิน ๑,๙๖๒.๔๒๗๖ ล้านบาท คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตว่า โครงการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบทั้งสามโครงการมิได้มีลักษณะในการฟื้นฟูอาชีพโดยตรง โครงการเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นการช่วยเหลือเรื่องปัจจัยการผลิตคือ เมล็ดพันธุ์ข้าว โครงการพืชต้นทุนสูงก็เป็นการเพิ่มอัตราการชดเชยให้เหมาะสมกับด้านทุนการผลิต ส่วนโครงการช่วยชาวนาที่ขายข้าวก่อนการเริ่มโครงการรับจำนำข้าวก็เป็นการแก้ไขปัญหา อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงมาตรการด้านตลาดและราคาข้าวของรัฐบาล จึงสรุปได้ว่ายังไม่มีโครงการฟื้นฟูอาชีพของเกษตรกรได้รับความเห็นชอบเลย ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะแนวคิดและวิธีการนำเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะต้องนำกลับไปเป็นบทเรียนไปโอกาสต่อไป คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเกษตรกร โดยเห็นว่า แนวทางปฏิบัติที่เพิ่มการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการตรวจสอบความเสียหายระดับหมู่บ้าน และการให้มีการจ่ายเงินให้เกษตรกรผ่านระบบของธนาคารจะช่วยป้องกันการทุจริตได้ดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยตลอดจนมีการเปลี่ยนแปลงอัตราการช่วยเหลือไปจากหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ จึงเห็นว่ารัฐบาลควรจัดให้มีการพิจารณาทบทวนหลักการและแนวทางการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยเพื่อให้มีบรรทัดฐานที่แน่นอนแทนการอนุมัติโดยมติคณะรัฐมนตรีเป็นคราวๆ ไป รวมถึงการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือในรูปแบบอื่นเพิ่มเติม เช่น การนำเอาระบบการประกันภัยเข้ามาลดความเสี่ยง การช่วยสนับสนุนแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ๔. การช่วยเหลือประชาชนหลังประสบอุทกภัย โดยข้อเท็จจริงแล้วภาครัฐมีแนวทางปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ที่มุ่งหมายที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้ามิได้เป็นการชดใช้ความเสียหายให้แก่ผู้ใด โดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นหลักในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีในวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ได้อนุมัติวงเงิน ๑๑,๔๔๗.๘๑๐ ล้านบาท ตามข้อเสนอของคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัยและดินโคลนถล่ม (คอส.) เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครัวเรือนละ ๕,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตระหว่างที่กำลังฟื้นฟูสภาพความเสียหาย ซึ่งปรากฏว่า คอส. ได้บริหารงานในการชี้แจงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจนสามารถให้การช่วยเหลือประชาชน ๒,๐๘๓,๙๐๙ ครัวเรือน ให้ไปเบิกเงินช่วยเหลือนี้จากธนาคารออมสินได้โดยไม่มีปัญหาเกิดขึ้น สำหรับดำเนินการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นการให้การช่วยเหลือในลักษณะต่างๆ ได้ถึง ๑๙ รายการ เช่น การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย ค่าเครื่องนุ่งห่ม ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ เป็นต้น ถึงแม้จะดำเนินให้การช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว เป็นเงิน ๑๐,๑๑๖.๗๑๑๐ ล้านบาท แต่ก็ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ๖ จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ลพบุรี และกรุงเทพมหานคร ที่ยังคงร้องเรียนอย่างต่อเนื่องว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณา ให้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยที่ภาครัฐได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมยื่นเสนอเรื่องเพื่อเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบพิจารณา ทั้งนี้ รวมถึงประชาชนที่ยังไม่ได้ยื่นเสนอขอความช่วยเหลือมาก่อนก็ให้ยื่นเสนอเข้ามาเพื่อพิจารณาได้เช่นกัน ปรากกฎว่ามีการยื่นเสนอ ๗๒๓,๐๐๙ ราย วงเงิน ๑๐,๗๔๓.๖๔๔๖ ล้านบาท จากการติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นว่า เกิดความสับสนในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือที่ลืมนึกถึงหรือไม่เข้าใจว่าจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่มีรายการที่จะต้องพิจารณาถึง ๑๙ รายการ ซึ่งส่งผลถึงการประชาสัมพันธ์และชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจถึงโอกาสที่จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ในหลายท้องที่พิจารณาให้การช่วยเหลือหลายรายการตามหลักเกณฑ์ฯ พ.ศ. ๒๕๕๑ ในขณะที่บางท้องที่พิจารณาให้การช่วยเหลือเฉพาะรายการซ่อมบ้านที่เสียหายที่กำหนดให้ช่วยเหลือตามรายการนี้ได้ไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ทำให้ในบางแห่งเรียกว่าเป็นมาตรการช่วยไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงเห็นว่ากระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นองค์กรกลางในการบริหารนี้ ควรตรวจสอบสาเหตุแห่งปัญหาและใช้เป็นบทเรียนในการบริหารสาธารณภัยต่อไป ๕. ข้อสังเกตที่มีต่อการบริหารสาธารณภัย ๕.๑ การจัดองค์กรบริหารงาน จากเหตุการณ์อุทกภัยปี ๒๕๕๔ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ในระยะแรกยังไม่มีความรุนแรงมากนัก การบริหารจัดการกับภัยพิบัติดังกล่าวก็ดำเนินการไปตามแนวปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและระเบียบ และหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังที่ผู้รับผิดชอบคุ้นเคย อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงขึ้น นายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งองค์กร ในรูปคณะกรรมการ ศูนย์อำนวยการและปฏิบัติการขึ้นมาเป็นจำนวนมากแทนการใช้องค์กรตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่กว้างขวางและมีกฎหมายรองรับชัดเจน คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับองค์กรระดับชาติที่มีอยู่ ซึ่งเป็นองค์กรที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกฎหมายรองรับในหน้าที่ความรับผิดชอบที่กำหนด รวมถึงมีอำนาจในการแต่งตั้งอนุกรรมการที่จำเป็นได้ ซึ่งจะมีเอกภาพในการบริหารงานมากกว่าการตั้งคณะกรรมการที่เป็นอิสระจากกัน และจากการที่มีการตั้งคณะกรรมการและศูนย์ปฏิบัติการเป็นจำนวนมาก รวมถึงการตั้งข้าราชการระดับสูงเป็นจำนวนมากไปเป็นกรรมการดังกล่าว ทำให้เกิดข้อจำกัดในประสิทธิภาพขององค์กรนั้นๆ นอกจากนั้น ควรมีความรอบคอบในการแต่งตั้งตัวบุคคลเข้าเป็นกรรมการรวมถึงการอิงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ๕.๒ การสื่อสารและการให้ข้อมูล จากการศึกษาพบว่าการสื่อสารและการให้ข้อมูลจากภาครัฐยังขาดเอกภาพ มีความสับสนและความไม่ชัดเจนเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ลักษณะของข้อมูลที่นำเสนอเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนในระดับต่างๆ มีความเข้าใจกับข้อมูลที่นำเสนอได้ง่าย นอกจากนั้นความเชื่อมโยงและสัมพันธ์กับข้อมูลข่าวสารของภาครัฐกับข้อมูลข่าวสารที่สื่อมวลชนนำเสนอต่อประชาชน คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงเห็นว่า ภาครัฐควรศึกษา ตรวจสอบ และปรับปรุงระบบการสื่อสารและการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพื่อใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นอีก ๕.๓ การกำหนดคำนิยามของ “ภัยพิบัติธรรมชาติ” จากการที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายงบประมาณเป็นจำนวนมากในการบริหารและให้ความช่วยเหลือทั้งเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ในขณะที่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตว่า ในบางกรณีของภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น และภาครัฐเข้าไปให้การช่วยเหลือ โดยแท้จริงแล้วเป็นภาวะปกติของธรรมชาติ เช่น ทางน้ำไหลผ่านและท่วมขังเป็นประจำ จะยังคงถือเป็นภาวะของอุทกภัยอยู่ต่อไปหรือไม่ หรือกรณีไม่มีฝนในฤดูแล้วจะถือเป็นภัยแล้งหรือไม่ ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้นำเอาแนวคำพิพากษาฎีกามายกเป็นตัวอย่างประกอบ ซึ่งจะเห็นหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติถ้าเกิดขึ้นเป็นปกติตามฤดูกาล ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่สมควรจะได้รับประโยชน์จากกฎหมายนั้นๆ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงเสนอว่า ภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนและทำความเข้าใจในเรื่องนิยามของภาวะภัยธรรมชาติที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ๕.๔ การใช้ประโยชน์จากบทเรียนที่ผ่านมา จากกรณีศึกษาประเทศไทยและต่างประเทศเรื่องการจัดการภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังเกิดภัยที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอมายังคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีบทที่ศึกษาเกี่ยวกับเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทยปี ๒๕๕๓ ที่ถือว่ามีความรุนแรงและกว้างขวางมากครั้งหนึ่งปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่สรุปไว้ในกรณีศึกษานี้ คือ การไม่มีนโยบายเตือนภัยธรรมชาติที่ชัดเจนของภาครัฐ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ขาดการบูรณาการข้อมูลเพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ขาดการเฝ้าระวังและการประเมินสถานการณ์ ทำให้ไม่มีการป้องกัน การเตือนภัย และการเตรียมการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย เมื่อเกิดอุทกภัย จึงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน ในกรณีศึกษายังกล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดมาตรการระยะยาวเพื่อป้องกันและฟื้นฟูสภาพพื้นที่อันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัย ดังนี้ ๑) จัดทำระบบเตือนภัยที่มีเอกภาพ ๒) จัดทำระบบบริหารจัดการน้ำ ๓) ปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติได้ทันต่อสถานการณ์ และ ๔) การพัฒนากลไกประกันความเสี่ยง คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น และเห็นด้วยกับการกำหนดมาตรการทั้งสี่ประการ แต่จากสถานการณ์อุทกภัยในปี ๒๕๕๔ ย่อมพิสูจน์ได้ว่า มาตรการที่กำหนดทั้ง ๔ ประการ ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและนำมาใช้ประโยชน์แต่อย่างใด ถึงแม้จะมีข้อมูลว่ารัฐบาลปัจจุบันกำลังดำเนินการโดยเฉพาะในมาตรการที่สองและมาตรการที่สาม แต่ก็ยังคงมีข่าวความเห็นขัดแย้งกันออกมาอยู่เนืองๆ คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มความจริงจังกับการเตรียมการในการบริหารป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นอีก ๖. สรุปข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญฯ ๖.๑ ในการช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนทั่วไปควรทบทวนหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๑ ที่ออกตามความแห่งระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๖ ให้สอดคล้องกับแนวคิดการให้ความช่วยเหลือและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้เจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องถือปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องแทนการออกเป็นมติคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีพิเศษหรือกรณีเฉพาะเป็นคราวๆ ไป ๖.๒ ในการจัดองค์กรบริหารงาน ทั้งด้านการเตรียมการ การป้องกันและการบรรเทาสาธารณภัย สมควรที่จะต้องใช้องค์การที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทยที่กำกับดูแล ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองประธาน ตลอดจนเป็นคณะกรรมการที่มีอำนาจทางกฎหมายรองรับและมีอำนาจในการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้แทนการตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจขึ้นมา ๖.๓ ในการบริหารการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ควรมีมติสั่งการให้ส่วนราชการต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เหล่าทัพต่างๆ ศึกษาถึงระบบการดำเนินงานที่ผ่านๆ มาเพื่อปรับปรุงและแก้ไขข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น ตลอดจนนำไปเป็นข้อมูลเพื่อการปรับปรุงแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฉบับต่อไป เช่น การเตือนภัย การประชาสัมพันธ์ และให้ข้อมูลในเรื่องราวต่างๆ การดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น ๖.๔ ควรมีการพิจารณาทบทวนคำนิยาม “ภัยพิบัติธรรมชาติ” ให้ถูกต้องและสอดคล้องกับข้อเท็จจริง เพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแยกลักษณะของภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำในท้องที่นั้นๆ กับภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เพื่อกำหนดถึงความรับผิดชอบที่ภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือ รวมถึงการนำระบบประกันภัยเข้าไปลดความเสี่ยงด้วย ๖.๕ รัฐบาลและภาครัฐต้องมีความจริงจังและจริงใจในการปรับปรุงข้อบกพร่องต่างๆ ที่ได้มีการนำเสนอ เพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการบริหารงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาทิ หลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ให้ใช้ขั้นตอนและรูปแบบเอกสารเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ๖.๖ การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยต้องสอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน และสอดคล้องตามหลักการสากลที่เป็นธรรมและเสมอภาค บรรณานุกรม กรมการค้าภายใน. "ราคาสินค้าเกษตร ในพื้นที่กรุงเทพฯ." Available [Online]. from: ้http://www.dit.go.th/pricelist/showannual_all.asp?pyear=2554&catalog=1&product= [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ข่าวทั่วไป, สำนักข่าวอินโฟเควสท์. "พาณิชย์เร่งนำเข้าไข่ไก่-ปลากระป๋อง-น้ำดื่มแก้ไขปัญหาขาดแคลน." Available [Online]. from: http://www.ryt9.com/s/iq01/1271401 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญศึกษา ติดตาม ตรวจสอบ การฟื้นฟูด้านเกษตร และความเป็นอยู่ของประชาชน วุฒิสภา. “กรณีข้อเรียกร้องเงินช่วยเหลือซ่อมแซมบ้านที่หมู่บ้านพฤกษา ๔ จากอุทกภัย.” สารวุฒิสภา ๒๐, ๗ (กรกฎาคม ๒๕๕๕): ๓๓-๓๔. ครอบครัวข่าว ๓. "รายงานสด..สถานการณ์น้ำ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร." Available [Online]. From: http://www.krobkruakao.com/ [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ชลิต แก้วจินดา และ ภัทระ ลิมป์ศิระ. “สิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ.” วารสารกฎหมาย ๒๙, ๑/ฉบับพิเศษ (๒๕๕๔): ๓๙๙-๔๓๕. ทีมข่าวอาชญากรรม. ผู้จัดการ Online, "ตร.สั่งจับพ่อค้าขายเนื้อหมูแพง-เฝ้าระวังร้านทอง." Available [Online]. from: http://www.manager.co.th/Crime/ViewNews.aspx?NewsID=954000 0099703 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ไทยพีบีเอส. "รพ.ศรีสะเกษขาดแคลน "ยา-เวชภัณฑ์" ทางการแพทย์." Available [Online]. from: http://news.thaipbs.or.th/content/รพศรีสะเกษขาดแคลน-ยา-เวชภัณฑ์-ทางการแพทย์ [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ไทยพีบีเอสนิวส์. "จราจรปิดถนนในกทม.เพิ่มอีก ๖ เส้นทาง." Available [Online]. From: http://news.thaipbs.or.th/content/%E0% [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ไทยพีบีเอสนิวส์. "น้ำท่วมไปรษณีย์จม ๓๘แห่ง จดหมายตกค้าง ๑.๕ ล้านชิ้น." Available [Online]. From: http://news.thaipbs.or.th [๒๕๕๕,๒ มิถุนายน]. ไทยรัฐออนไลน์. "ปิดการจราจร ทางหลวงที่ถูกน้ำท่วม." Available [Online]. From: http://www.thairath.co.th/content/ region/211938 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ไทยรัฐออนไลน์. "ยอดตายไฟดูดพุ่ง๔๕ราย คาดถึงร้อยทำสถิติโลก หากยังไม่ตัดไฟ." Available [Online]. from: http://m.thairath.co.th/content/edu/215206 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. "รถที่จอดบนทางด่วนถูกชนใครผิด?." Available [Online]. From: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1320218140&grpid=09&catid=&subcatid= [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ภัทระ ลิมป์ศิระ. “ข้อคิดทางกฎหมายบางประการในการนิยาม “ภัยพิบัติ”.” วารสารรามคำแหง ฉบับนิติศาสตร์ ๑, ๑ (๒๕๕๕): ๖๕-๙๑. มติชนออนไลน์. "ปิดถนนสายเอเชียหลังจราจรอัมพาตหนัก น้ำท่วมรถเล็กมิดหลังคา รถทัวร์สายเหนือหยุดเดินรถชั่วคราว." Available [Online]. from: http://www.matichon.co.th/news _detail.php?newsid=1317891407&grpid=03&catid=03 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. มติชนออนไลน์. "เปิดคอร์ส"ตำรวจขับเรือ" ปราบโจร"น้ำท่วม." Available [Online]. From: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1320812389&grpid=01&catid=&subcatid= [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ศูนย์สนับสนุนการอำนวยการและการบริหารสถานการณ์ อุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม (ศอส.). “รายงานสรุปสถานการณ์ อุทกภัยวาตภัยและดินโคลนถล่ม วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.).” Available [Online]. from: http://www.disaster.go.th/dpm/flood/news/news_thai/EOCReport10DEC. pdf [๒๕๕๕, ๑๗ สิงหาคม]. ศูนยปฏิบัติการรองรับเหตุฉุกเฉิน กรมปองกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย. “สรุปสถานการณสาธารณภัย ประจําวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๖.๓๐ น.” Available [Online]. from: http://61.19.100.58/public/Group3/datagroup3/2554/dailyreportdec%20 /evening31.pdf [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. สนุก! โมบาย. "ภ.๑เล็งตั้งศูนย์ปราบโจรช่วงน้ำท่วมเพิ่ม." Available [Online]. From: http://m.sanook.com/m/sport_detail/1066977/ [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์. "กระทรวงพาณิชย์จับกุมผู้ค้าทรายบรรจุถุงจำหน่ายสูงเกินราคา." Available [Online]. from: http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid =255410140331&tb=N255410 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. สำนักข่าวแห่งชาติ. "การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ประกาศห้ามนำรถจอดบนทางด่วน." Available [Online]. From: http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1319202 229&grpid=03&catid=&subcatid= [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. “Thailand cleans up, but some areas remain flooded.” Available [Online]. from: http://asiancorrespondent.com/71116/thailand-cleans-up-but-some-areas-remain-flooded/ [๒๐๑๒, ๒ June]. ASEAN. ASEAN Documents Series ๒๐๐๕. Jakata: The ASEAN Secretariat, ๒๐๐๕. ASTV ผู้จัดการออนไลน์. "“ปู” ขอการบินไทย ลดค่าตั๋วบินลงใต้ ลั่นเดินหน้านโยบายประชานิยม." Available [Online]. from: http://www. manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx? NewsID=9540000143198 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ASTV ผู้จัดการออนไลน์. "คนถูกไฟดูดพุ่ง ๑๐๒ ราย กว่า ๗๓% เหตุเกิดในบ้าน." Available [Online]. from: http://www.manager.co.th/ QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9540000149051 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ASTV ผู้จัดการออนไลน์. "บก.จร. แจ้ง ปิดถนน ๒๙ เส้นทาง ควรหลีกเลี่ยง ๙ เส้นทาง." Available [Online]. From: http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=95400 00139992 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ASTV ผู้จัดการออนไลน์. "ปรับปรุงล่าสุด ปิดถนนเพิ่มเป็น ๕๐ สาย หลีกเลี่ยง ๑๒ สาย." Available [Online]. From: http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9540 000140953 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ASTV ผู้จัดการออนไลน์. "ศปภ.แจ้งผู้จอดรถซ้อนคันบนทางด่วนรีบย้ายก่อน ๑๕ พ.ย." Available [Online]. From: http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=954 0000144613 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. ASTV ผู้จัดการออนไลน์. "สตช.แจ้งย้ายรถบนโทลล์เวย์ก่อน ๑๖ พ.ย.-ห้ามวิ่งวินบนทางด่วน." Available [Online]. from: http://www.manager.co.th/home/viewnews.aspx? NewsID=9540000144830 [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. Nuntarat. "สั่ง ปิดการจราจร ถ.เพชรเกษมหน้าวัดเทียนดัด อ.สามพราน จ.นครปฐม." Available [Online]. From: http://news.mthai.com/general-news/139715.html [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. Supatsorn. "กฟภ.แจ้งผ่อนผันค่าไฟฟ้าให้ปชช.น้ำท่วม." Available [Online]. From: http://news.voicetv.co.th/thailand/21576.html [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน]. Twitter #ThaiPBS, คอนเน็ค สู้! ฟลัด, "กองทัพบกร่วมกับ ขสมก. และบริษัท SCG จัดรถบรรทุก ๖๑๐ คัน วิ่งให้บริการปชช.ฟรีใน ๘ เส้นทางที่ถูกน้ำท่วม," Available [Online]. From: http://connectsflood.wordpress.com/2011/11/11/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0 %B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%81-%E0%B9%81%E0%B8%A5/ [๒๕๕๕, ๒ มิถุนายน].

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น