วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สิทธิมนุษยชนของผู้สูงอายุ

บทนำ ตามที่องค์การสหประชาชาติ ได้ให้นิยามว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกินร้อยละ ๑๐ หรือมีประชากรอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปเกินร้อยละ ๗ ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ ๖๐ ปี เพิ่มเป็นร้อยละ ๒๐ และอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปเพิ่มเป็นร้อยละ ๑๐ ประเทศไทยนั้นได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ เพราะมีประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปร้อยละ ๑๐.๕ และจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์เมื่อมีสัดส่วนประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๒๐ หรืออายุ ๖๕ ปีขึ้นไป เพิ่มเป็นร้อยละ ๑๔ ในปี ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ตามสถิติพบว่าโลกมีประชากรจำนวน ๗,๐๕๘ ล้านคน มีผู้สูงอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปถึง ๕๖๕ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๘ ในขณะที่ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป สูงถึงร้อยละ ๑๒.๕๙ ซึ่งมากที่สุดในประเทศอาเซียน แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจึงเป็นบุคลากรที่สังคมไทยจะเพิกเฉยไม่ได้ หลักการสากลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ โดยได้กำหนดแผนปฏิบัติการระยะยาวระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้สูงอายุ พร้อมทั้งได้เชิญชวนให้ประเทศสมาชิกจัดกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั่วโลกตกลงว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ ๖๐ ปีขึ้นไป เรียกว่า ผู้สูงอายุ ในระดับสากลสมัชชาองค์การสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ได้รับรองหลักการขององค์การสหประชาชาติสำหรับผู้สูงอายุ (United Nations Principles for Older Persons) เอาไว้ ๑๘ ประการ ตามมติของที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ ๔๖/๙๑ เมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๔ นอกจากนี้ ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แห่งองค์การสหประชาชาติ (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) ได้จัดประชุมบรรดาตัวแทนประเทศต่างๆ จำนวน ๑๕ ประเทศ และองค์กรภาคเอกชนที่ดำเนินการระหว่างประเทศเกี่ยวกับผู้สูงอายุจำนวน ๑๐ องค์กร ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกที่เมืองมาเก๊า ประเทศจีน รวมทั้งสิ้น ๔๕ คน เพื่อรับรองปฏิญญามาเก๊าและแผนปฏิบัติการเรื่องผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Macau Plan of Action on Ageing for Asia and the Pacific) โดยที่สาระสำคัญจะเกี่ยวกับประเด็นหลักเรื่องผู้สูงอายุ คือ ให้ทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตระหนักถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุที่ เปลี่ยนแปลงไป คุณค่าความสำคัญของผู้สูงอายุในฐานะผู้มีส่วนสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคม การร่วมมือในระดับภูมิภาคทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนการจัดสรรทรัพยากร หรือบริการต่าง ๆ ให้เพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานของผู้สูงอายุ ทั้งในเมืองและชนบทโดยแผนปฏิบัติการเรื่องผู้สูงอายุในภาคพื้นเอเชียและ แปซิฟิกซึ่งทุกประเทศได้ร่วมกันจัดทำขึ้น พัฒนาการล่าสุดขององค์การสหประชาชาติ คือ แผนปฏิบัติการเซี่ยงไฮ้เป็นแผนขององค์การสหประชาชาติ โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งได้กำหนดกลยุทธ์การปฏิบัติระดับภูมิภาคสำหรับ แผนการปฏิบัติการระหว่างประเทศกรุงแมดริดว่าด้วยการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ (Madrid International Plan of Action on Ageing) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ได้กำหนดประเด็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาผู้สูงอายุใน ๓ ประการ คือ ผู้สูงอายุกับการพัฒนา (Older Persons and Development) สูงวัยอย่างสุขภาพดีและมีสุขภาวะ (Advancing Health and well – being into Old Age) และการสร้างความมั่นใจในเรื่องสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและเหมาะสม (Ensuring Enabling and Supportive Environments) หลักการของประเทศไทยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ สำหรับประเทศไทย นับแต่ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ ๑๓ เมษายน ของทุกปี เป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติ และได้มีการจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติตั้งแต่บัดนั้นจนถึงปัจจุบัน สิทธิของผู้สูงอายุได้รับการรับรองมาตั้งแต่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ และในฉบับปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ได้บัญญัติถึงเรื่อง สิทธิของผู้สูงอายุโดยเฉพาะนอกเหนือไปจากสิทธิในฐานะของสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยและหน้าที่ชนชาวไทยโดยปกติ ในมาตราต่างๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับความช่วยเหลือมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งตนเองได้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา หน่วยงานต่างๆ ได้พิจารณายกร่างพระราชบัญญัติสวัสดิการผู้สูงอายุ เพื่อให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ในเรื่องสิทธิของผู้สูงอายุตามที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ หลักการของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ ปฏิญญามาเก๊าของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก แผนการปฏิบัติการระหว่างประเทศกรุงแมดริดว่าด้วยการดำเนินงานด้านผู้สูงอายุ และมาตรการต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ไปสู่การปฏิบัติ โดยที่ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ ๗๒ พรรษา ประกอบกับองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็นปีสากลว่าด้วยผู้สูงอายุ รัฐบาล องค์กรเอกชน ประชาชน และสถาบันสังคมต่างๆ ได้ตระหนักถึงศักดิ์ศรีและคุณค่าของผู้สูงอายุ ซึ่งได้ทำประโยชน์ในฐานะผู้ให้แก่สังคมมาโดยตลอด จึงควรได้รับผลในฐานะผู้รับจากสังคมด้วย ดังนั้น ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรผู้สูงอายุ และผู้ทรงคุณวุฒิได้ร่วมกันจัดทำปฏิญญาผู้สูงอายุไทยขึ้น เป็นพันธกรณีเพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ จึงได้ถือปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้สูงอายุไทย ซึ่งปฏิญญาผู้สูงอายุไทยฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๔๒ การคุ้มครองสิทธิของผู้สูงอายุในปัจจุบัน จึงเป็นไปตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๔๕ - ๒๕๖๔)โดยที่ยุทธศาสตร์ของแผนแบ่งเป็น ๕ ยุทธศาสตร์ ดังนี้ ๑. ยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมความพร้อมของประชากรเพื่อวัยสูงอายุที่มีคุณภาพ ประกอบด้วย ๓ มาตรการหลัก ๑.๑ มาตรการหลักประกันด้านรายได้เพื่อวัยสูงอายุ ๑.๒ มาตรการการให้การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ๑.๓ มาตรการการปลุกจิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ ๒. ยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ๖ มาตรการหลัก ๒.๑ มาตรการส่งเสริมความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน ดูแลตนเองเบื้องต้น ๒.๒ มาตรการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันและสร้างความเข้มแข็งขององค์กรผู้สูงอายุ ๒.๓ มาตรการส่งเสริมด้านการทำงานและการหารายได้ของผู้สูงอายุ ๒.๔ มาตรการสนับสนุนผู้สูงอายุที่มีศักยภาพ ๒.๕ มาตรการ ส่งเสริม สนับสนุนสื่อทุกประเภทให้มีรายการเพื่อผู้สูงอายุ และสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้รับความรู้ และสามารถเข้าถึงข่าวสารและสื่อ ๒.๖ มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและปลอดภัย ๓. ยุทธศาสตร์ด้านระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ๔ มาตรการหลัก ๓.๑ มาตรการคุ้มครองด้านรายได้ ๓.๒ มาตรการหลักประกันด้านคุณภาพ ๓.๓ มาตรการด้านครอบครัว ผู้ดูแล และการคุ้มครอง ๓.๔ มาตรการระบบบริการและเครือข่ายการเกื้อหนุน ๔. ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุระดับชาติและการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ ประกอบด้วย ๒ มาตรการหลัก ๔.๑ มาตรการการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนางานด้านผู้สูงอายุระดับชาติ ๔.๒ มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านผู้สูงอายุ ๕. ยุทธศาสตร์ด้านการประมวลและพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุและการติดตามประเมินผลการดำเนินการ ตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ประกอบด้วย ๔ มาตรการหลัก ๕.๑ มาตรการ สนับสนุนและส่งเสริมให้หน่วยงานวิจัยดำเนินการประมวล และพัฒนาองค์ความรู้ด้านผู้สูงอายุที่จำเป็นสำหรับการกำหนดนโยบาย และการพัฒนาการบริการหรือการดำเนินการที่เป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ ๕.๒ มาตรการ สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย การพัฒนาการบริการและการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ใน สังคมอย่างเหมาะสม ๕.๓ มาตรการดำ เนินการให้มีการติดตามประเมินผลการดำ เนินการตามแผนผู้สูงอายุแห่งชาติที่มีมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ๕.๔ มาตรการพัฒนาระบบข้อมูลทางด้านผู้สูงอายุให้เป็นระบบและทันสมัย หลักแนวคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุของไทย สังคมไทยยังนิยมอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ เพราะเมื่อลูกหลานแต่งงานมีเหย้ามีเรือนไปแล้ว ก็นิยมอยู่ในครอบครัวเดียวกันกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือในบริเวณใกล้เคียงกัน ทำให้ครอบครัวมีความอบอุ่น เมื่อมีสมาชิกใหม่ขึ้นเกิดมา นอกจากจะได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่แล้ว ยังได้รับการดูแลจากปู่ย่า ตายาย ทำให้เกิดความรักความอบอุ่น ภายในครอบครัว โอกาสที่เด็กจะออกนอกลู่นอกทางจึงมีน้อยมาก เพราะประสบการณ์ของผู้สูงอายุ จะสามารถช่วยส่งเสริม อบรมเลี้ยงดูกล่อมเกลาบุตรหลาน ให้เป็นพลเมืองดี เด็กจะได้เรียนรู้ทั้งจากโรงเรียน และที่บ้าน โดยเฉพาะในเรื่องความประพฤติ ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่ผู้สูงอายุจะคอยให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ รวมไปถึงการให้คำปรึกษาในบรรดาเรื่องต่างๆ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ของครอบครัวไทย แต่ดั้งเดิมได้หล่อหลอมความรักความเคารพแก่ผู้สูงอายุซึ่งเป็นจุดแตกต่างสำคัญจากสังคมตะวันตก ผู้สูงอายุทุกคนจึงมีสิทธิซึ่งประกอบด้วยสิทธิ ๔ ประการ อันเป็นแนวทางให้ผู้เกี่ยวข้องยึดถือ เพื่อดำเนินกระบวนการส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้สูงอายุทุกคนในชุมชน ได้รับการดูแล ช่วยเหลือ คุ้มครอง และพิทักษ์สิทธิในประเด็นต่างๆ อย่างครบถ้วน คือ ๑. การมีอายุยืน หมายถึง สิทธิในการมีชีวิตอยู่รอดอายุยืนยาว การมีโภชนาการที่ดี การมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคตลอดทั้งปี การมีสุขภาพอนามัยดี การป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพอนามัย การเข้าถึงและได้รับบริการด้านสุขภาพอนามัย สวัสดิการ ความมั่นคงในการดำรงชีวิต การดูแลเอาใจใส่ และความรักจากครอบครัว ชุมชน และสังคม การอยู่ถึงวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบและมีศักดิ์ศรี ๒. การคุ้มครอง หมายถึง สิทธิในการไม่ถูกละเมิด ไม่ถูกทำร้าย ไม่ถูกทอดทิ้ง ไม่ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง ไม่ถูกเอาเปรียบ ไม่ถูกละเลยเพิกเฉย ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง การไม่ถูกเลือกปฏิบัติ การไม่ถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ การมีความสามารถหรือรายได้เพียงพอต่อความจำเป็นในการดำรงชีวิต การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ความปลอดภัยในการดำรงชีวิต การมีสวัสดิการในการดำรงชีวิต การมีโอกาสและเข้าถึงบริการทางสังคม การรับรู้ข้อมูลและสาระที่เป็นประโยชน์ การได้อยู่กับครอบครัว และชุมชน การเฝ้าระวัง การเตือนภัยและปัญหาการได้รับการพิทักษ์ ปกป้อง การคุ้มครองสวัสดิภาพ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ ทรัพย์สิน การได้รับการดูแลช่วยเหลือจากสังคม การมีสิทธิตามกฎหมาย ปฏิญญาและหลักการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ การได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมตามสถานภาพและภูมิหลัง ๓. การส่งเสริม หมายถึง สิทธิในการแสดงบทบาทในครอบครัว ชุมชน สังคม การได้รับโอกาสในการเรียนรู้ การมีความสามารถดูแลช่วยเหลือตนเอง การได้ทำงานที่เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้สังคม การได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม การพัฒนาตนเอง การมีความภาคภูมิใจ การมีความพอใจที่จะอยู่แบบพอเพียง การได้รับความเคารพนับถือ การมีชีวิตที่มีคุณค่า ๔. การมีส่วนร่วม หมายถึง สิทธิในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของครอบครัว ชุมชน และสังคม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้สูงอายุและบุคคลทุกวัย การร่วมเป็นสมาชิกและมีบทบาทในกลุ่ม ชมรมองค์กร สถาบัน การมีความสามัคคีในชุมชน การมีอำนาจตรวจสอบในเรื่องสิทธิผู้สูงอายุ การมีอำนาจตัดสินใจในเรื่องของตนเอง การมีส่วนร่วมในนโยบายที่ส่งผลดีต่อผู้สูงอายุ การสร้างหลักประกัน เพื่อการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้สูงอายุ การยึดถือประโยชน์สูงสุดที่ผู้สูงอายุพึงได้รับ เป็นเป้าหมายสำคัญลำดับแรก ทั้งการดำเนินการที่ให้ผู้สูงอายุทำเอง การทำร่วมกับผู้สูงอายุ และการทำแทนผู้สูงอายุ การยอมรับในสิทธิของผู้สูงอายุ คือ การดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุ ต้องตอบสนองต่อความจำเป็นและความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุ โดยจะต้องกระทำและสนับสนุนการกระทำเพื่อสิทธิของผู้สูงอายุ และไม่กระทำทั้งทางตรงและทางอ้อมที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุ ส่วนไม่เลือกปฏิบัติ คือ การยอมรับในสิทธิของผู้สูงอายุทุกคนในชุมชนในทุกกรณีต่อผู้สูงอายุทุกคนในชุมชน ทั้ง ๒ กลุ่มคือ ผู้สูงอายุที่ทุกข์ยากเดือดร้อน (ขาดผู้ดูแล/ถูกทอดทิ้ง/ถูกทิ้งให้อยู่ตามลำพัง/ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้/ถูกละเลยเพิกเฉย/ได้รับการดูแลไม่ถูกต้อง/ยากจน)และผู้สูงอายุอื่นทั่วไปในชุมชน ดังนั้น การรวมพลังทางสังคมได้แก่ ครอบครัว ชุมชน สังคม รัฐ และเอกชน รวมตลอดถึงผู้สูงอายุจะต้องช่วยกันสนับสนุนสิทธิทั้ง ๔ ประการ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุทุกคนในชุมชนอย่างจริงจัง พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ จากสภาพการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในระยะที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ทั้งในเมืองและชนบทมักจะถูกทอดทิ้ง ไม่มีลูกหลานดูแลในจำนวนมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยจึงได้มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิของผู้สูงอายุไว้เป็นการเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.๒๕๔๖ มีหลักการและเหตุผลมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๕๔ บัญญัติ เกี่ยวกับสิทธิผู้สูงอายุไว้ว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบ ปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากรัฐทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และเพื่อคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนต่อสิทธิ และประโยชน์ของผู้สูงอายุให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พระราชบัญญัตินี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับสิทธิประโยชน์และความช่วยเหลือจากรัฐ สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สาระสำคัญของพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ คือ ๑. ผู้สูงอายุ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย ๒. มีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน (มาตรา ๔) และกำหนดอำนาจหน้าที่เอาไว้ (มาตรา ๙ (๑) ถึง (๑๑)) ๓. มีสำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ สำนักงานส่งเสริม สวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และ ผู้สูงอายุ มีอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายนี้ และรับผิดชอบในงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการ กผส. (มาตรา ๑๐) ๔. แนวทางในการเพิ่มสวัสดิการด้านอื่นๆ แก่ผู้สูงอายุ (มาตรา ๑๑) ได้กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครองในด้านต่างๆ ๑๓ ด้าน ได้แก่ ๑). ความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ๒). การศึกษา ศาสนา และข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ๓). การประกอบอาชีพที่เหมาะสม ๔). การพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสังคมและการรวมกลุ่ม ๕). การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคารสถานที่ ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่นๆ ๖). การช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะ ตามความเหมาะสม ๗). การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ ๘). การช่วยเหลือผู้สูงอายุจากการทารุณหรือแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง ๙). การให้คำแนะนำปรึกษาดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี ๑๐). การจัดที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มให้ตามความจำเป็นทั่วถึง และเป็นธรรม ๑๒). การสงเคราะห์การจัดงานศพตามประเพณี และ๑๓). การลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับผู้บริจาคให้แก่ กองทุนผู้สูงอายุ (กองทุนนี้มีไว้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมสนับสนุนสถานภาพ บทบาท และกิจกรรมของผู้สูงอายุ) และผู้อุปการะเลี้ยงดูบุพการีที่เป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่พอแก่การยังชีพ ๕. กฎหมายนี้ไม่ตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับตามกฎหมายอื่น (มาตรา ๑๒) ๖. มีกองทุนสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินการเรียกว่า"กองทุนผู้สูงอายุ" ซึ่งประกอบด้วยเงินต่างๆ (มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔) และไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ๗. มีมาตรการลดหย่อนหรือได้รับการยกเว้นภาษี แก่ผู้บริจาคเงิน หรือทรัพย์สินแก่กองทุน (มาตรา ๑๖) ๘. มีมาตรการลดหย่อนภาษีแก่ผู้อุปการะเลี้ยงดูบุพการีเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ (มาตรา ๑๗) ๙. มีคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยมีปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นประธาน (มาตรา ๑๘) โดยที่มีอำนาจหน้าที่เอาไว้ให้ดำเนินการตามกรอบ(มาตรา ๒๐ ถึงมาตรา ๒๓) ในการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ พบว่าหน่วยงานส่วนใหญ่ได้มีการดำเนินการออกประกาศกระทรวงและระเบียบเพื่อรองรับสิทธิของผู้สูงอายุ ได้แก่ ๑. กระทรวงสาธารณสุข เรื่องการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ที่จัดไว้ให้โดยให้ความสะดวกรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ ตามมาตรา ๑๑ (๑) เช่น จัดให้มีช่องทางพิเศษในโรงพยาบาลของรัฐ มีคลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนบางแห่ง นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ ทำเว็บไซด์ข้อมูลสุขภาพ ผู้สูงอายุ เป็นต้น ๒. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เรื่องการพัฒนาตนเองและการมีส่วนร่วมของในกิจกรรมทางสังคม การรวมกลุ่มในลักษณะเครือข่ายหรือชุมชน ตามมาตรา ๑๑ (๔) การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในบริการสาธารณะอื่น ตามมาตรา ๑๑ (๕) การช่วยเหลือผู้สูงอายุซึ่งได้รับอันตรายจากการถูกทารุณกรรมหรือถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือถูกทอดทิ้ง และการให้คำแนะนำปรึกษาดำเนินการในการแก้ไขปัญหาครอบครัว ตามมาตรา ๑๑ (๘) (๙) การสนับสนุนจัดที่พักอาศัย อาหาร และเครื่องนุ่งห่มตามมาตรา ๑๑ (๑๐) และการสงเคราะห์การจัดการศพตามประเพณี ตามมาตรา ๑๑ (๑๒) ๓. กระทรวงวัฒนธรรม เรื่องการจัดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านพิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน หอจดหมายเหตุฯ และการจัดกิจกรรมด้านศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ตามาตรา ๑๑ (๑๓) ๔. การะทรวงคมนาคม เรื่องการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุในในอาคารสถานที่หรือยานพาหนะ และการช่วยเหลือค่าโดยสารตามความเหมาะสม ตามมาตรา ๑๑(๕)(๖) โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งให้ลดค่าโดยสารยานพาหนะ ตามช่วงเวลาที่กำหนด (มิถุนายน-กันยายน) การบินไทยลดหย่อนค่าโดยสารแก่ผู้สูงอายุ ๑๕% และรถไฟใต้ดินลดหย่อนค่าโดยสารครึ่งราคา ๕. กระทรวงยุติธรรม เรื่องการให้คำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดีสำหรับผู้สูงอายุ ตามมาตรา ๑๑ (๙) ๖. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ ตามมาตรา ๑๑ (๗) โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยกเว้นค่าเข้าชมอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง ๗. กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การส่งเสริมและสนับสนุนผู้สูงอายุในการศึกษาและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ตามมาตรา ๑๑ (๒) ๘. กระทรวงแรงงาน เรื่อง การสนับสนุนผู้สูงอายุในการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม ตามมาตรา ๑๑ (๓) ๙. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เรื่องการส่งเสริมและการสนับสนุนผู้สูงอายุในการจัดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกสถานที่ท่องเที่ยวและการจัดกิจกรรมกีฬาและนันทนาการ ตามมาตรา ๑๑ (๑๓) ๑๐. กระทรวงมหาดไทย ออกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่ยากจน และด้อยโอกาสทั่วประเทศผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีเนื้อหาโดยตรงเกี่ยวกับ เรื่องการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพตามความจำเป็นอย่างทั่วถึง และเป็นธรรม ตามมาตรา ๑๑ (๑๑) และออกกฎกระทรวง กำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชราที่มีเนื้อหา เรื่องการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยโดยตรงแก่ผู้สูงอายุในอาคาร สถานที่ ตามมาตรา ๑๑ (๕) ๑๑. กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศกระทรวงกำหนดให้กองทุนผู้สูงอายุเป็นองค์การตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งมีสาระในการกำหนดให้ผู้อุปการะเลี้ยงดูบุพการีซึ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับการหักลดหย่อนภาษี คนละ ๓๐,๐๐๐ บาท สำหรับบิดามารดา ที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไป ตามมาตรา ๑๗ บทสรุป ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้ และประสบการณ์ เป็นผู้ถึงพร้อมทั้งคุณวุฒิ และวัยวุฒิ เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ายิ่ง แม้ร่างกายจะอ่อนแอเสื่อมถอยแล้ว แต่ก็ยังมีความรู้ความสามารถที่จะช่วยเหลือดูแลครอบครัวได้ เช่น ช่วยดูแลบุตรหลาน ขณะที่พ่อแม่ออกไปทำงาน ช่วยดูแลบ้านเรือนตามกำลังของท่าน นอกจากนั้น ยังสามารถทำประโยชน์ให้คำแนะนำปรึกษาในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาชีพการงาน ด้านการดำเนินชีวิต ด้านครอบครัว ด้านสังคม และด้านอื่นๆ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุบางท่านยังมีทักษะในวิชาชีพบางด้านท่านก็จะถ่ายทอดให้แก่บุตรหลาน และผู้ที่สนใจทั่วไปเพื่อดำรงวิชาชีพนั้นสืบไป ผู้สูงอายุจึงมิต้องการเพียงแต่จะเป็นฝ่ายรับจากบุตรหลานหรือจากสังคมแต่เพียงฝ่ายเดียว หลายคนที่เกษียณอายุแล้ว แต่ก็ยังมีความพร้อมที่จะนำประสบการณ์ทำประโยชน์ให้สังคมได้ เพราะมีสุขภาพที่ดี ร่างกายแข็งแรงยังมีความสามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้อีกต่อไป ดังนั้น สิทธิของผู้สูงอายุย่อมต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง เติมเต็มตามบรรดาสิทธิต่างๆ ที่พึงได้รับตามการสิทธิมนุษยชนสากลภายใต้ตราสารต่างๆ และบทบัญญัติของไทยที่อนุวัตรการสอดคล้องตามพันธกรณีดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น